แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องในตอนต้น ได้ระบุชื่อจำเลยที่ 2 ไว้ว่า บริษัท ส. โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 2 การกระทำใดๆ ของจำเลยที่ 2 จึงต้องแสดงออกโดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ดังนั้น เมื่อคำฟ้องได้ระบุว่า เมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 คืนโฉนดที่ดิน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมคืนกลับอ้างว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 2 ในขณะที่จำเลยที่ 1 เองเป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 อยู่ด้วย เท่ากับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ผู้แทนปฏิเสธไม่ยอมคืนโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์นั่นเอง จึงถือว่าโจทก์ถูกจำเลยที่ 2 โต้แย้งสิทธิและมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 29696 ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ ถ้าจำเลยทั้งสองไม่คืนขอถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนเพื่อขอให้มีคำสั่งออกใบแทนโฉนดที่ดิน
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว เห็นว่า กรณีตามคำฟ้องในส่วนจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 โต้แย้งสิทธิโจทก์อย่างไร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณาค่าฤชาธรรมเนียม ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่ง (ที่ถูก คำพิพากษา) ศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องในตอนต้น ได้ระบุชื่อจำเลยที่ 2 ไว้ว่า บริษัทสระบุรีทรัคเซลส์ จำกัดโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 2 การกระทำใดๆ ของจำเลยที่ 2 จึงต้องแสดงออกโดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ดังนั้น เมื่อคำฟ้องได้ระบุว่า เมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 คืนโฉนดที่ดิน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมคืนกลับอ้างว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 2 ในขณะที่จำเลยที่ 1 เองเป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 อยู่ด้วย เท่ากับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ผู้แทนปฏิเสธไม่ยอมคืนโฉนดที่ดินดังกล่าวให้โจทก์นั่นเอง จึงถือว่าโจทก์ถูกจำเลยที่ 2 โต้แย้งสิทธิ และมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาโต้แย้งว่าคำฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์ไม่มีข้อความใดที่ทำให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า ฟ้องโจทก์ระบุชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 2 ไว้ด้วย แม้คำฟ้องจะไม่ได้ระบุว่าจำเลยที่ 1 กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 ไว้อย่างชัดแจ้ง แต่แสดงเจตนาได้ว่าที่โจทก์ระบุชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 2 ก็เพื่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีความเกี่ยวพันกับจำเลยที่ 2 ที่จะต้องรับผิดในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจแล้ว ส่วนฎีกาข้ออื่นล้วนไม่เป็นสาระอันควรที่จะวินิจฉัยให้เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ