คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2189/2555

แหล่งที่มา :

ย่อสั้น

หลังจากจับกุมจำเลยที่ 1 ได้แล้ว จำเลยที่ 1 ยอมรับว่ารับเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามี และจำเลยทั้งสองพักอาศัยอยู่ที่ห้องพักในอพาร์ตเมนต์ ทั้งได้ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ที่ห้องพักดังกล่าวพร้อมกับพาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 2 ที่อพาร์ตเมนต์และตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนมาเป็นของกลางอีก 4,000 เม็ด แต่ของกลางดังกล่าวถูกซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋ากางเกงที่แขวนอยู่และที่ตู้เสื้อผ้าภายในห้องนอนของจำเลยทั้งสองเอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจต้องติดตามไปจับกุมจำเลยที่ 2 กับตรวจค้นที่ห้องพักของจำเลยทั้งสองและตรวจพบของกลางได้โดยไม่ยาก ดังนี้ กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์ เคลื่อนที่ของกลาง และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ 4849/2547 ของศาลอาญาธนบุรี
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม) และ 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิตและปรับคนละ 1,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 500,000 บาท ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ 4849/2547 ของศาลอาญาธนบุรีนั้น ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว เนื่องจากจำเลยที่ 2 หลบหนีระหว่างพิจารณา และไม่ปรากฏว่าศาลในคดีดังกล่าวได้มีคำพิพากษาแล้ว กรณีจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า คำให้การชั้นจับกุมและสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน และปรับ 666,666.66 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่ทั้งนี้ให้กักขังแทนค่าปรับได้ไม่เกิน 1 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า มีเหตุที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 หรือไม่ เห็นว่า การที่ผู้กระทำความผิดจะได้รับประโยชน์ตามมาตราดังกล่าว จะต้องประกอบด้วยเหตุ 2 ประการ กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญ และข้อมูลนั้นจะต้องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ลำพังเพียงให้ข้อมูลแต่ไม่เป็นประโยชน์หรือเป็นประโยชน์ธรรมดาที่มิได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หรือเป็นประโยชน์แต่มิใช่ข้อมูลที่สำคัญ ผู้ให้ข้อมูลหาได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวไม่ คดีนี้แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากจับกุมจำเลยที่ 1 ได้แล้ว จำเลยที่ 1 ยอมรับว่ารับเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามี และจำเลยทั้งสองพักอาศัยอยู่ที่ห้องพักเลขที่ 307 เทพจักรวาลอพาร์ตเมนต์ ทั้งได้ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ที่ห้องพักดังกล่าวพร้อมกับพาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 2 ที่เทพจักรวาลอพาร์ตเมนต์และตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนมาเป็นของกลางอีก 4,000 เม็ดแต่ของกลางดังกล่าวถูกซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋ากางเกงที่แขวนอยู่และที่ตู้เสื้อผ้าภายในห้องนอนของจำเลยทั้งสองเอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจต้องติดตามไปจับกุมจำเลยที่ 2 กับตรวจค้นที่ห้องพักของจำเลยทั้งสองและตรวจพบของกลางได้โดยไม่ยาก ดังนี้ กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำเลยที่ 1 มานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share