คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3714/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1905/2550 ของศาลชั้นต้น โจทก์กล่าวอ้างว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน เท่ากับอ้างว่าไม่มีการซื้อขายที่ดินพิพาทกันจริง โจทก์ยังเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ดังนั้นโจทก์จึงไม่อาจครอบครองปรปักษ์ที่ดินของตนเองได้ เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทมีผลสมบูรณ์บังคับได้ กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตกเป็นของ ส. แล้ว และอ้างว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ คำฟ้องคดีนี้จึงขัดกับคำฟ้องเดิม ทั้งเป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่เพื่อประโยชน์ในเชิงคดีของโจทก์เท่านั้น อันแสดงให้เห็นได้โดยชัดแจ้งว่าการฟ้องคดีของโจทก์ในคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15654 ตำบล (เมืองยาง) โนนอุดม อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาโจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับนางสาวสมนึกหรือกรวรรณ และได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่นางสาวสมนึกแล้ว ต่อมาศาลมีคำสั่งแสดงว่าที่ดินดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 1 โดยการครอบครองปรปักษ์ ตามคำสั่งศาลในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 607/2549 ของศาลชั้นต้น และคำสั่งศาลดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ซึ่งภายหลังจากโจทก์ขายที่ดินและส่งมอบที่ดินให้แก่นางสาวสมนึกแล้ว นางสาวสมนึกไม่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินตามสัญญาซื้อขาย จนถึงประมาณกลางปี 2534 โจทก์เริ่มครอบครองที่ดินเพื่อตนโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกิน 10 ปี ตั้งแต่ประมาณกลางปี 2534 จนถึงปี 2550 โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยที่ 1 ไม่เคยเข้าทำประโยชน์และไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินเพราะโจทก์เป็นผู้ครอบครองทำนาทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา หลังจากจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นของตนแล้ว จำเลยที่ 1 นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองเพื่อค้ำประกันหนี้เงินกู้ของนายสุบิน สามีจำเลยที่ 1 ที่มีต่อจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของที่ดินที่แท้จริง จึงไม่มีสิทธินำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 สัญญาจำนองไม่มีผลผูกพันและไม่สามารถบังคับตามสัญญาจำนองได้ จำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและผิดระเบียบของจำเลยที่ 2 ขอให้มีคำสั่งว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 15654 ตำบล (เมืองยาง) โนนอุดม อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา โดยการครอบครองปรปักษ์ ให้เพิกถอนคำสั่งคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 607/2549 เพิกถอนคำขอออกใบแทนฉบับที่ 4882/2549 เพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 15654 ตำบล (เมืองยาง) โนนอุดม อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา เพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 15654 ตำบล (เมืองยาง) โนนอุดม อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา เป็นชื่อของโจทก์ และเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หากไม่สามารถเพิกถอนได้ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายตามราคารับจดทะเบียนจำนองจำนวน 840,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนองเป็นต้นไป
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์เป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินแทนนางสาวสมนึกหรือกรวรรณ โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยที่ 1 จำนองที่ดินโดยสุจริต ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1905/2550 อ้างว่าโจทก์ขายที่ดินให้แก่นางสาวสมนึกหรือกรวรรณ เพื่ออำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน โดยโจทก์ยังคงครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมาโดยตลอด ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกา กลับอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และมาตรา 145 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 จดทะเบียนรับจำนองไว้โดยสุจริต ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ คำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1905/2550 ผูกพันโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1905/2550 ของศาลชั้นต้น และโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เดิมโจทก์เคยฟ้องนางสาวสมนึกหรือกรวรรณ และจำเลยทั้งสองคดีนี้ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1905/2550 ของศาลชั้นต้น โดยบรรยายฟ้องว่า เมื่อกลางปี 2533 โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับนางสาวสมนึกเพื่อเป็นการอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน ไม่มีเจตนาซื้อขายกันจริง และไม่มีการส่งมอบที่ดิน โจทก์ยังเป็นเจ้าของที่ดินตลอดมา ต่อมาจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวได้จดทะเบียนการได้ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ แล้วจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 คดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีดังกล่าว โดยในคดีดังกล่าวโจทก์มีคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนทั้งหมดตั้งแต่การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับนางสาวสมนึกและการจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และถอนชื่อจำเลยที่ 2 ออกจากโฉนดที่ดินพิพาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีดังกล่าวนั้นให้การต่อสู้คดี ส่วนนางสาวสมนึกขาดนัดยื่นคำให้การ คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า คดียังฟังไม่ได้ว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับนางสาวสมนึกเป็นนิติกรรมอำพราง คดีถึงที่สุดโดยโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกา โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยทั้งสองใหม่เป็นคดีนี้ โดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับนางสาวสมนึก และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่นางสาวสมนึก กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของนางสาวสมนึก ต่อมากลางปี 2534 โจทก์กลับเข้าครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนถึงปี 2550 เป็นเวลาเกินกว่าสิบปี จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองแล้ว
ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ก่อนว่า การฟ้องคดีของโจทก์ในคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1905/2550 ของศาลชั้นต้น โจทก์กล่าวอ้างว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน เท่ากับอ้างว่าไม่มีการซื้อขายที่ดินพิพาทกันจริง โจทก์ยังเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ดังนี้โจทก์จึงไม่อาจครอบครองปรปักษ์ที่ดินของตนเองได้ เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น แต่คดีนี้โจทก์กลับอ้างว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทมีผลสมบูรณ์บังคับได้ กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตกเป็นของนางสาวสมนึกแล้ว และอ้างว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ คำฟ้องคดีนี้จึงขัดกับคำฟ้องเดิม ทั้งเป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่เพื่อประโยชน์ในเชิงคดีของโจทก์เท่านั้น อันแสดงให้เห็นได้โดยชัดแจ้งว่าการฟ้องคดีของโจทก์ในคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ดังนั้น ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1905/2550 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share