แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีกับฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารเป็นกรรมเดียวกัน ลงโทษจำคุกจำเลย กระทงละ 4 ปี 8 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 8 ปี 16 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร กับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นเพียงการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 276, 277, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม, 277 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำคุกกระทงละ 7 ปี สองกระทงรวมจำคุก 14 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 ปี 16 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร กับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย มีกำหนดกระทงละ 4 ปี 8 เดือน รวม 2 กระทง รวมจำคุก 8 ปี 16 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร กับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นเพียงการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้พรากเด็กหญิง ส. ไปเสียจากนางลักษณา ซึ่งเป็นมารดาเพื่อการอนาจาร และมิได้กระทำชำเราเด็กหญิง ส. นั้น เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ พิพากษายกฎีกาของจำเลย