คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8195/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ส่งเป็นลูกค้าประจำของจำเลยที่ทำธุรกรรมร่วมกันมาโดยตลอดแม้กระทั่งหลังเกิดเหตุคดีนี้จึงมีเหตุให้น่าเชื่อว่าผู้ส่งทราบถึงเงื่อนไขการรับขนสินค้าของจำเลย ทั้งเมื่อพิจารณาใบรับขนทางอากาศด้านหน้า มีผู้ลงลายมือชื่อใต้ตัวพิมพ์ที่มีข้อความชัดเจนว่า ผู้ส่งตกลงตามเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในใบรับขนทางอากาศด้านหลัง ช่องให้สำแดงสินค้าเพื่อการศุลกากร (TOTAL VALUE FOR CUSTOMS) ซึ่งใช้ในการคำนวณภาษีศุลกากรระบุว่า 7,168.17 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนช่องสำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง (TOTAL DECLARED VALUE FOR CARRIAGE) ไม่ระบุจำนวนเงิน ซึ่งหากระบุจำนวนในช่องนี้ก็จะต้องเสียค่าขนส่งเพิ่ม แสดงว่าผู้ส่งเจตนาที่จะไม่แจ้งมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งเพื่อจะไม่ต้องเสียค่าระวางเพิ่ม จึงฟังได้ว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยตามที่ระบุไว้ในใบรับขนทางอากาศตาม ป.พ.พ. มาตรา 625
สัญญารับขนระหว่างจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าให้บริการรับขนสินค้าทางอากาศกับผู้ส่งซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าขายสินค้าเครื่องประดับให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศเป็นสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจการค้าด้วยกัน แม้ข้อสัญญาในใบรับขนทางอากาศที่จำเลยทำในลักษณะแบบพิมพ์ข้อตกลงสำเร็จรูปโดยให้จำกัดความรับผิดกรณีสินค้าที่รับขนส่งสูญหายหรือเสียหายไว้เพียง 100 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อการขนส่ง หรือ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน ซึ่งต่ำกว่าราคาสินค้าของผู้ส่งมากอันทำให้ผู้ส่งต้องรับภาระมากหากสินค้าที่ขนส่งสูญหายหรือเสียหายก็ตาม แต่ตามข้อสัญญานี้ก็ให้โอกาสผู้ส่งตกลงให้จำเลยรับผิดสูงขึ้นได้โดยต้องระบุแจ้งราคาสินค้าเพื่อการขนส่งให้จำเลยทราบและเสียค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ไม่ได้บังคับให้ผู้ส่งต้องยอมรับจำนวนจำกัดความรับผิดตามที่ระบุไว้นั้นโดยเด็ดขาด ขณะที่ผู้ส่งสินค้าก็สามารถเอาประกันภัยได้ กรณีย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นการเอาเปรียบหรือทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายต้องรับภาระเกินกว่าที่คาดหมายตามปกติได้ ข้อสัญญาจำกัดความรับผิดของจำเลยจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ทำให้จำเลยได้เปรียบผู้ส่งซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรอันจะถือเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 185,085.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นจำนวน 177,359 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 88,679.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 กันยายน 2549) ต้องไม่เกิน 7,726.05 บาท ตามที่โจทก์ขอกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับรองว่าอุทธรณ์โจทก์มีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า บริษัทเอฟเวอร์ชายนี่ จิวเวลรี่ ครีเอชั่น จำกัด ขายสินค้าเครื่องประดับทำด้วยเงินให้แก่บริษัทซิดนีย์ อิมปอร์ต ซึ่งอยู่ที่เมืองลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา และบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บุลเลียน ซึ่งอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยบริษัทเอฟเวอร์ชายนี่ จิวเวลรี่ ครีเอชั่น จำกัด ซึ่งต้องเป็นผู้ส่งสินค้านั้นแก่ผู้ซื้อแต่ละราย ได้ว่าจ้างจำเลยเป็นผู้ขนส่งทางอากาศ ตามใบรับขนทางอากาศเอกสารหมาย จ. 10 และ จ. 11 และเอาประกันภัยสินค้าดังกล่าวในระหว่างการขนส่งไว้กับโจทก์เต็มมูลค่าสินค้า ระหว่างการขนส่งโดยจำเลยสินค้าตามใบรับขนทางอากาศเอกสารหมาย จ. 10 ซึ่งมีอยู่ 4,295 ชิ้น น้ำหนัก 22.20 กิโลกรัม สูญหายไป 1,530 ชิ้น และสินค้าตามใบรับขนทางอากาศเอกสารหมาย จ. 11 ซึ่งมีน้ำหนัก 1.20 กิโลกรัม สูญหายไปทั้งหมด โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทเอฟเวอร์ชายนี่ จิวเวลรี่ ครีเอชั่น จำกัด ผู้เอาประกันภัยสำหรับการสูญหายทั้งสองกรณี เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2549
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งที่ระบุไว้ในใบรับขนทางอากาศว่า ผู้ขนส่งจะรับผิดไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อการขนส่งหรือ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่านั้น ผู้ส่งสินค้าได้แสดงเจตนายอมรับในสัญญาดังกล่าวโดยชัดแจ้งหรือไม่ เห็นว่า ผู้ส่งเป็นลูกค้าประจำของจำเลยที่ทำธุรกรรมร่วมกันมาโดยตลอดแม้กระทั่งหลังเกิดเหตุคดีนี้ จึงมีเหตุให้น่าเชื่อว่าผู้ส่งทราบถึงเงื่อนไขการรับขนสินค้าของจำเลย ทั้งเมื่อพิจารณาใบรับขนทางอากาศเอกสารหมาย จ. 10 ด้านหน้า ช่องที่ 9 มีผู้ลงลายมือชื่อใต้ข้อความตัวพิมพ์ที่มีข้อความชัดเจนว่า ผู้ส่งตกลงตามเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในใบรับขนทางอากาศด้านหลัง และช่องที่ 3 มีข้อความว่า สินค้า 1 กล่อง น้ำหนักรวม 22.20 กิโลกรัม ช่องให้สำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการศุลกากร (TOTAL VALUE FOR CUSTOMS) ซึ่งใช้ในการคำนวณภาษีศุลกากรระบุว่า 7,168.17 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนช่องสำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง (TOTAL DECLARED VALUE FOR CARRIAGE) ไม่ระบุจำนวนเงินแต่อย่างใด ซึ่งหากระบุจำนวนในช่องนี้ก็จะต้องเสียค่าขนส่งเพิ่ม ส่วนใบรับขนทางอากาศเอกสารหมาย จ. 11 ด้านหน้า ช่องที่ 9 มีผู้ลงลายมือชื่อใต้ข้อความตัวพิมพ์ที่มีข้อความชัดเจนว่า ผู้ส่งตกลงตามเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในใบรับขนทางอากาศด้านหลัง และช่องที่ 3 มีข้อความว่า สินค้า 1 กล่อง น้ำหนักรวม 1.20 กิโลกรัม ช่องให้สำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการศุลกากร (TOTAL VALUE FOR CUSTOMS) ซึ่งใช้ในการคำนวณภาษีศุลกากรระบุว่า 604.75 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนช่องสำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง(TOTAL DECLARED VALUE FOR CARRIAGE) เว้นว่างไว้ไม่ระบุจำนวนเงินแต่อย่างใด ซึ่งหากระบุจำนวนเงินในช่องนี้ก็จะต้องเสียค่าขนส่งเพิ่ม แสดงว่าผู้ส่งเจตนาที่จะไม่แจ้งมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งเพื่อที่จะได้เสียค่าระวางต่ำ โดยไม่ต้องเสียค่าระวางเพิ่มแต่อย่างใด จึงฟังได้ว่า ผู้ส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยตามที่ระบุไว้ในใบรับขนทางอากาศตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวไม่ถือเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 หรือไม่ เห็นว่า ข้อสัญญาอันจะถือเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง หมายถึง “ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูปหรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพหรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปหรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร” และตามมาตรา 4 วรรคสาม บัญญัติว่า “ข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่า ทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น (1) ข้อตกลงยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดที่เกิดจากการผิดสัญญา” ส่วนสัญญารับขนระหว่างจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าให้บริการรับขนส่งสินค้าทางอากาศกับบริษัทเอฟเวอร์ชายนี่ จิวเวลรี่ ครีเอชั่น จำกัด ผู้ส่งสินค้าซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าขายสินค้าเครื่องประดับซึ่งขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ จึงเป็นสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจการค้าด้วยกัน และแม้ข้อสัญญาในใบรับขนทางอากาศที่จำเลยทำไว้ในลักษณะแบบพิมพ์ข้อตกลงสำเร็จรูปโดยให้จำกัดความรับผิดของจำเลยในกรณีปฏิบัติผิดสัญญา ทำให้สินค้าที่รับขนส่งสูญหายหรือเสียหายไว้เพียง 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อการขนส่ง หรือ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน ซึ่งต่ำกว่าราคาสินค้าของผู้ส่งมากอันอาจทำให้ผู้ส่งต้องรับภาระมากหากสินค้าที่ขนส่งสูญหายหรือเสียหายก็ตาม แต่ตามข้อสัญญารับขนในใบรับขนทางอากาศนี้ก็ยังให้โอกาสผู้ส่งที่จะตกลงให้จำเลยรับผิดเป็นจำนวนสูงขึ้นได้โดยต้องระบุแจ้งราคาสินค้าเพื่อการขนส่งให้จำเลยทราบและเสียค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ไม่ได้บังคับให้ผู้ส่งต้องยอมรับจำนวนจำกัดความรับผิดตามที่ระบุไว้นั้นโดยเด็ดขาด และเมื่อคำนึงถึงวิถีทางแห่งการประกอบกิจการรับขนสินค้าระหว่างประเทศทางเครื่องบิน ซึ่งย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าในระดับหนึ่ง เมื่อผู้ขนส่งคิดค่าระวางต่ำกว่าราคาสินค้ามากแล้วเกิดความเสียหายหรือสูญหายขึ้น และต้องรับผิดเต็มมูลค่าสินค้าก็ทำให้ผู้ขนส่งต้องรับผิดเป็นจำนวนเงินสูงกว่าค่าระวางมาก จนไม่คุ้มกับการประกอบธุรกิจและจะทำให้คุ้มได้ก็โดยการคิดค่าระวางสูงเผื่อไว้สำหรับความเสี่ยงดังกล่าวซึ่งก็จะเป็นผลเสียต่อผู้ประกอบการค้าขายสินค้าที่ต้องรับภาระต้นทุนจากการขนส่งสูงและในที่สุดก็เป็นผลเสียต่อผู้บริโภค จึงมีเหตุผลที่ผู้ขนส่งจะกำหนดจำนวนจำกัดความรับผิดไว้เพื่อให้สามารถประเมินความเสี่ยงและกำหนดเป็นค่าระวางให้ต่ำลงได้เป็นจำนวนที่เหมาะสมต่อระบบการค้าขาย ขณะที่ผู้ส่งสินค้าหากเห็นว่าตนต้องเสี่ยงต่อความเสียหายก็สามารถเอาประกันภัยต่อผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยซึ่งจะเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยหลายรายไว้หากเกิดความเสียหายก็นำเบี้ยประกันภัยเหล่านั้นมาใช้เป็นค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายให้ผู้เอาประกันภัยและผู้เอาประกันภัยก็ได้ประโยชน์จากการยอมเสียเบี้ยประกันภัยบ้างเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อความเสียหาย โดยผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยทำหน้าที่บริหารการป้องกันความเสี่ยงให้แก่ลูกค้า และได้รับค่าตอบแทนเป็นเบี้ยประกันภัยจากลูกค้าเพื่อเป็นรายได้และกำไร โดยไม่ต้องคืนแก่ลูกค้าแม้ไม่เกิดความเสียหายแก่ลูกค้าผู้เอาประกันภัยก็ตาม ก็ไม่ถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใด ฉันใดก็ฉันนั้น กรณีที่ผู้ขนส่งตกลงจำกัดความรับผิดเพื่อให้คิดค่าระวางได้พอเหมาะพอสมและป้องกันความเสี่ยงก็ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นการเอาเปรียบหรือทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายต้องรับภาระเกินกว่าที่คาดหมายตามปกติได้ และหลักการในเรื่องการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งนี้ นอกจากจะตกลงกันได้ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 แล้ว ในกฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศที่ออกมาภายหลังก็ยังมีบทบัญญัติให้มีการจำกัดความรับผิดไว้ตามบทกฎหมายโดยตรงโดยคู่สัญญาไม่ต้องตกลงกันอีก ดังเช่นพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 เป็นต้น ด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยมานี้ย่อมเห็นได้ว่า ข้อสัญญาจำกัดความรับผิดของจำเลยผู้ขนส่งนี้มิใช่ข้อสัญญาที่ทำให้จำเลยได้เปรียบผู้ส่งซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรอันจะถือเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ดังกล่าวไว้ข้างต้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 แก่กรณีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 258 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยในกรณีที่จะชำระเป็นเงินบาทให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้แก่ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ใช้เงินจริงให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าว ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถือว่าอัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share