แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์เพียงตกลงให้สิทธิจำเลยที่ 1 เข้าดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ ภายใต้ชื่อทางการค้าคำว่า “บางจาก” ของโจทก์เท่านั้น น้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่จำเลยที่ 1 ต้องซื้อจากโจทก์มาจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันตามข้อสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสินค้าของโจทก์เอง แม้จะมีการใช้เครื่องหมายการค้า “บางจาก” กับสินค้าดังกล่าวก็เป็นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ นำมาจำหน่ายให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าต่อไปเท่านั้น มิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 จัดหาผลิตภัณฑ์หรือสินค้ามาเองแล้วนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 นั้นโดยโจทก์อนุญาต อันจะถือเป็นกรณีที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่อย่างใด สัญญาเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากรวมทั้งบันทึกต่อท้ายสัญญาดังกล่าวซึ่งเป็นการระบุรายละเอียดประกอบข้อสัญญาเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจาก อันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาดังกล่าว จึงไม่ใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าที่จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ค่าซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ค้างชำระ ค่าตอบแทนสิทธิเข้าดำเนินการสถานีน้ำมันที่ยังค้างชำระพร้อมเบี้ยปรับ ค่าเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินในสถานีบริการน้ำมัน ค่าบริหารหนี้ค้างชำระ และค่าปรับการชำระหนี้ล่าช้า ค่าปรับกรณีธนาคารคืนเช็คที่นำเข้าเรียกเก็บเงิน ค่าเสียหายจากการนำน้ำมันจากแหล่งอื่นเข้ามาจำหน่าย ค่าขาดประโยชน์จากการใช้สถานีบริการน้ำมันหลังจากที่เลิกสัญญาแล้วเนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบสถานีบริการน้ำมันแก่โจทก์ รวมทั้งดอกเบี้ยด้วย รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 10,592,925.43 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,586,144.42 บาท และเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของต้นเงิน 55,859.68 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 199 ถนนสันป่าตอง – บ้านกาด ตำบลทุ่งสะโตก อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และให้ส่งมอบสถานีบริการน้ำมันบางจากพร้อมอาคารและวัสดุอุปกรณ์ของสถานีบริการน้ำมันในสภาพที่เรียบร้อยพร้อมใช้งานได้โดยสมบูรณ์ หากไม่ดำเนินการให้ชำระค่าปรับวันละ 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากสถานีบริการน้ำมัน และส่งคืนทรัพย์สินของโจทก์จนเรียบร้อยครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 774,359.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 55,856.68 บาท (ที่ถูก 55,859.68 บาท) นับแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 199 ถนนสันป่าตอง – บ้านกาด ตำบลทุ่งสะโตก อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งส่งมอบสถานีบริการน้ำมันบางจาก อาคารและวัสดุอุปกรณ์ของสถานีบริการน้ำมันในสภาพที่เรียบร้อยให้โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ในอัตราวันละ 1,500 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 ธันวาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 และบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินและส่งมอบอาคารและที่ดินพิพาทให้โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 8,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ยุติเป็นเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปใบไม้ “บางจาก” ซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้ในประเทศไทย สำหรับใช้กับสินค้าน้ำมันปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมชนิดต่าง ๆ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด โจทก์ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เข้าดำเนินการกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปใบไม้และคำว่า “บางจาก” ของโจทก์ ณ สถานีบริการน้ำมันเลขที่ 199 ถนนสันป่าตอง – บ้านกาด ตำบลทุ่งสะโตก อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่บนที่ดินของจำเลยที่ 2 และโจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินจากจำเลยที่ 2
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า สัญญาเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากรวมทั้งบันทึกต่อท้ายสัญญาตามคำฟ้องเป็นโมฆะหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะเป็นการอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 68 วรรคสอง ก็ใช้บังคับกันได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ เห็นว่า ตามสัญญาเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากเอกสารหมาย จ. 7 ข้อ 1 ระบุถึงข้อตกลงการใช้สิทธิว่า โจทก์ตกลงให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 เข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันเพื่อการค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมชนิดต่าง ๆ แก่บุคคลทั่วไป ภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ ณ สำนักงานเลขที่ 199 หมู่ที่ 1 ถนนสันป่าตอง – บ้านกาด ตำบลทุ่งสะโตก อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยสิทธิความเป็นเจ้าของและสิทธิการครอบครองที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์จำหน่าย และป้ายของสถานีบริการน้ำมันดังกล่าวยังคงเป็นของโจทก์ และตามสัญญาข้อ 9 ระบุถึงค่าตอบแทนที่จำเลยทั้งสองตกลงชำระแก่โจทก์ จากข้อสัญญาดังกล่าวเห็นได้ว่า โจทก์เพียงตกลงให้สิทธิจำเลยที่ 1 เข้าดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ภายใต้ชื่อทางการค้าคำว่า “บางจาก” ของโจทก์เท่านั้น น้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่จำเลยที่ 1 ต้องซื้อจากโจทก์มาจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันตามข้อสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสินค้าของโจทก์เอง แม้จะมีการใช้เครื่องหมายการค้า “บางจาก” กับสินค้าดังกล่าวก็เป็นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้นี้เอง และนำมาจำหน่ายให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าต่อไปเท่านั้น มิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 จัดหาผลิตภัณฑ์หรือสินค้ามาเองแล้วนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้กับสินค้าของจำเลยที่ 1 นั้นโดยโจทก์อนุญาต อันจะถือเป็นกรณีที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่อย่างใด สัญญาเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากเอกสารหมาย จ. 7 รวมทั้งบันทึกต่อท้ายสัญญาดังกล่าวซึ่งเป็นการระบุรายละเอียดประกอบข้อสัญญาเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจาก อันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาดังกล่าว จึงมิใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าที่จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น แม้จะไม่จดทะเบียนต่อนายทะเบียนก็หาตกเป็นโมฆะไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้รายการต่างๆ ตามคำฟ้องได้เพียงใดหรือไม่ ปัญหานี้สำหรับหนี้ค่าตอบแทนการให้สิทธิเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญานั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า สัญญาเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันและบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาตกเป็นโมฆะ จึงไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทที่คู่ความโต้แย้งกันเกี่ยวกับการทำผลผูกพันตามบันทึกต่อท้ายสัญญาเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากกับหนังสือขอผ่อนผันการชำระหนี้ แต่เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้วินิจฉัยว่าสัญญาดังกล่าวใช้บังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะดังกล่าวข้างต้นแล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ต่อไปโดยไม่ต้องย้อนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ ซึ่งในปัญหานี้ เห็นว่า โจทก์มีนายบรรพต เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า ในการทำสัญญาเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกต่อท้ายสัญญาดังกล่าวด้วย ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำหนังสือขอผ่อนผันการชำระหนี้ให้ไว้ต่อโจทก์ด้วย และจำเลยที่ 2 ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับว่า มีการลงลายมือชื่อทำบันทึกต่อท้ายสัญญาเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากเอกสารหมาย จ. 8 และ จ. 10 จริง ส่วนหนังสือขอผ่อนผันการชำระหนี้เอกสารหมาย จ. 11 ก็มีลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และตราประทับของจำเลยที่ 1 ตรงกับบันทึกต่อท้ายสัญญาเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากเอกสารหมาย จ. 8 และ จ. 10 ด้วย จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทำเอกสารดังกล่าวทั้งหมดไว้ต่อโจทก์จริง และเมื่อพิจารณาจากสัญญาเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากตามเอกสารหมาย จ. 7 ข้อ 9 ที่มีข้อความกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าตอบแทนสิทธิเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันแก่โจทก์ โดยมีรายละเอียดอัตราค่าตอบแทนระบุในบันทึกต่อท้ายสัญญาด้วย ข้อตกลงดังกล่าวนี้ย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ในอันที่จะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ และในเรื่องการค้างชำระหนี้ส่วนนี้โจทก์มีนายบรรพตเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นได้ความว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 4 ฉบับ รวมเป็นเงินจำนวน 21,400 บาท เพื่อชำระค่าตอบแทนสิทธิเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันประจำเดือนเมษายน 2543 ถึงเดือนกรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่โจทก์จะแจ้งบอกเลิกสัญญาดังกล่าวต่อจำเลยที่ 1 แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวตามเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ. 15 ขณะที่จำเลยทั้งสองซึ่งให้การโต้แย้งว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 แต่ไม่นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นตามข้ออ้าง พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ค่าตอบแทนสิทธิเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันสำหรับเดือนเมษายน 2543 ถึงเดือนกรกฎาคม 2543 ไว้แก่โจทก์จริง และเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินก็ถือว่าโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ สำหรับหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินในสถานีบริการน้ำมันจำนวน 35,092.95 บาท นั้น โจทก์มีนายบรรพต เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและความเห็นอ้างว่า จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องชำระค่าเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินสถานีบริการน้ำมันที่โจทก์ได้ทดรองจ่ายไปก่อนคืนแก่โจทก์ตามสัญญาเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันเอกสารหมาย จ. 7 ข้อ 10 ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การโต้แย้งหนี้รายการนี้ว่า ไม่ได้ทำข้อตกลงดังกล่าวด้วย และเมื่อพิจารณาสัญญาเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันเอกสารหมาย จ. 7 ข้อ 10 ก็ปรากฏว่า เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับส่วนลดค่าตอบแทนสิทธิเข้าดำเนินการในสถานีบริการน้ำมัน หาได้มีข้อตกลงให้โจทก์เอาประกันภัยทรัพย์สินในสถานีบริการน้ำมันโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันภัยดังที่โจทก์อ้างและนำสืบแต่อย่างใด พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาดังกล่าวจึงเลื่อนลอยและขัดแย้งกับเอกสารดังกล่าว จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงชำระหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินในสถานีบริการน้ำมันจำนวน 35,092.95 บาท แก่โจทก์ สำหรับหนี้ค่าเสียหายจากการบริหารหนี้เพิ่มขึ้นเป็นเงิน 28,803.77 บาท โดยแบ่งเป็นค่าปรับการชำระหนี้ไม่ตรงตามเงื่อนไข 6,803.77 บาท และค่าปรับเช็คคืน 22,000 บาท นั้น เมื่อจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่า โจทก์คิดคำนวณค่าเสียหายในส่วนนี้ไม่ถูกต้อง โจทก์มีภาระการพิสูจน์ที่ต้องนำสืบพยานหลักฐานแสดงข้อเท็จจริงให้เห็นว่า โจทก์ได้รับความเสียหายดังที่อ้าง แต่โจทก์คงมีเพียงนายบรรพตเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและความเห็นกับใบแจ้งหนี้ที่เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายดังกล่าว โดยไม่มีหลักฐานการที่โจทก์ต้องชำระค่าปรับเช็คคืนให้แก่ทางธนาคารที่ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค หรือรายละเอียดการคำนวณค่าปรับกรณีชำระหนี้ไม่ตรงตามเงื่อนไขมาแสดงให้เห็น พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวยังเลื่อนลอย จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายในส่วนนี้เป็นจำนวนตามที่โจทก์อ้าง อย่างไรก็ดีเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระหนี้ค่าตอบแทนเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันแก่โจทก์ดังวินิจฉัยมาข้างต้น โจทก์จึงมีความเสียหายอันเกิดจากการชำระหนี้ล่าช้าของจำเลยที่ 1 อยู่บ้าง เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้รวมกันเป็นเงิน 3,000 บาท สำหรับค่าเสียหายกรณีจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมันจากโจทก์ไปจำหน่าย แต่กลับซื้อจากบริษัทอื่นมาจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันนี้แทน ซึ่งโจทก์เรียกร้องตามคำฟ้องไว้เป็นเงิน 123,434.18 บาทนั้น ในส่วนนี้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำผลิตภัณฑ์น้ำมันของบริษัทอื่นมาจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์อ้างในฟ้องส่วนนี้แล้ว ข้อเท็จจริงจึงเป็นที่ยุติว่า จำเลยที่ 1 นำผลิตภัณฑ์น้ำมันจากบริษัทอื่นมาจำหน่ายจริง อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาต่อโจทก์ แต่ในการพิจารณาค่าเสียหายกรณีปฏิบัติผิดสัญญานี้ ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่า ผลิตภัณฑ์น้ำมันที่จำเลยที่ 1 นำมาจำหน่ายดังกล่าวนั้นไม่มีคุณภาพหรือมีคุณภาพต่ำกว่าที่โจทก์ผลิต อันจะกระทบกระเทือนต่อความน่าเชื่อถือในการขายน้ำมันของโจทก์ และโจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานที่นำสืบแสดงมูลค่าความเสียหายส่วนนี้ว่ามีจำนวนสูงถึง 123,434.18 บาท ตามคำฟ้อง จึงเห็นว่า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาดังกล่าวนี้สูงเกินไป และเมื่อคำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์ตามสมควรแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้ 50,000 บาท สำหรับหนี้ค่าเบี้ยปรับจากการที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าน้ำมันแก่โจทก์ซึ่งโจทก์คิดอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของยอดเงินค้างชำระเป็นเงินรวม 27,147.80 บาท นั้น เห็นได้ว่าค่าเสียหายดังกล่าวนี้มีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่ได้กำหนดกันไว้ล่วงหน้าตามหนังสือขอผ่อนผันการชำระหนี้เอกสารหมาย จ. 11 อันเป็นเบี้ยปรับ แต่จำนวนเบี้ยปรับที่โจทก์ขอมานั้น โจทก์ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความเสียหายส่วนนี้ว่ามีเท่าใด จึงเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน สมควรกำหนดลดลงเป็นจำนวนตามสมควรโดยเมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียทุกทางของโจทก์แล้ว เห็นสมควรกำหนดให้ 2,000 บาท สำหรับค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีบริการน้ำมันวันละ 20,000 บาท นั้น เมื่อพิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจตั้งแต่ในขณะเกิดเหตุจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระเงินลงทุนสร้างสถานีบริการน้ำมันบางส่วน และจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินที่นำออกให้โจทก์เช่าทำประโยชน์โดยชำระค่าเช่าตอบแทนแก่จำเลยที่ 2 ในอัตราที่ต่ำมากไม่สมกับสภาพของที่ดิน แสดงว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากการได้เช่าที่ดินและการสร้างสถานีบริการน้ำมันนี้มากอยู่แล้ว จึงฟังไม่ได้ว่าค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินและสถานีบริการน้ำมันของโจทก์สูงถึงวันละ 20,000 บาท ตามฟ้อง และที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าขาดประโยชน์นี้แก่โจทก์วันละ 1,500 บาท นั้น เมื่อคำนึงถึงสภาพที่ดินและสถานีบริการน้ำมันที่สามารถทำกิจการค้าหากำไรได้ ประกอบกับความเสียหายและทางได้เสียของโจทก์ในส่วนนี้แล้ว เห็นว่า ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินและสถานีบริการน้ำมันตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดมาเหมาะสมแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 850,759.68 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ