คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11584/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้จะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดระบุว่า เมื่อได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 แล้ว ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ที่ได้รับอยู่ก่อนหน้านั้นเป็นอันสิ้นสุดลงก็ตาม แต่เมื่อโรงงานที่จำเลยทั้งสองใช้ประกอบกิจการนั้นเป็นโรงงานแห่งเดียวกันและมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการอย่างเดียวกันแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงการประกอบกิจการโรงงานจากจำพวกที่ 2 เป็นจำพวกที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์เพิ่มกำลังแรงม้าเครื่องจักรในการประกอบกิจการมากขึ้นก็เพื่อให้สามารถผลิดผลงานได้มากขึ้นเป็นการเพิ่มผลประโยชน์ให้แก่จำเลยทั้งสองย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์ใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ที่อนุญาตให้ใช้เครื่องจักรแรงม้าต่ำในการประกอบกิจการอีกต่อไปแล้ว ทั้งยังเป็นการประกอบกิจการในโรงงานแห่งเดียวกันและในกิจการประเภทเดียวกันด้วย จึงเป็นไปไม่ได้ว่าโรงงานแห่งเดียวกันจะมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานหลายจำพวกหลายฉบับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 12, 50 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 50 วรรคหนึ่ง ปรับคนละ 100,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับสำหรับจำเลยที่ 1 ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบโต้แย้งกันฟังยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการโรงงานพิมพ์สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เดิมจำเลยที่ 1 ได้แจ้งขอประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ใช้กำลังเครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า แต่ต่อมาปี 2538 จำเลยที่ 1 ได้ขอเปลี่ยนแปลงการประกอบกิจการโรงงานเป็นจำพวกที่ 3 ที่ใช้กำลังเครื่องจักรเกิน 50 แรงม้า และได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ถูกร้องเรียนว่า โรงงานของจำเลยที่ 1 ปล่อยน้ำเสียและส่งกลิ่นเหม็น ก่อความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน อันเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต จำเลยทั้งสองจึงถูกกรมโรงงานอุตสาหกรรมเปรียบเทียบปรับและสั่งการให้ปรับปรุงแก้ไขหลายครั้ง แต่จำเลยทั้งสองยังคงประกอบกิจการต่อไปเช่นเดิม กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงมีคำสั่งปิดโรงงานจำเลยที่ 1 ตามหนังสือลงวันที่ 19 มิถุนายน 2543 ต่อมาวันที่ 9 ตุลาคม 2543 และวันที่ 11 มกราคม 2544 เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมตรวจพบว่าจำเลยทั้งสองยังคงประกอบกิจการโรงงานอยู่ จึงมีหนังสือแจ้งจำเลยทั้งสองว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ให้จำเลยทั้งสองมาพบนิติกรของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเปรียบเทียบปรับ จำเลยทั้งสองไปพบและให้การรับสารภาพกับยินยอมให้เปรียบเทียบปรับ แต่ต่อมาเมื่อกองนิติการส่งเรื่องให้คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีเปรียบเทียบปรับพิจารณาแล้ว มีมติไม่พิจารณาเปรียบเทียบปรับจำเลยทั้งสอง โดยเห็นว่าจำเลยทั้งสองมีประวัติถูกดำเนินคดีมาแล้วหลายครั้ง เป็นการกระทำความผิดซ้ำซากจึงไม่ควรเปรียบเทียบปรับ แต่ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้งเป็นทำนองว่า แม้ภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้ขอเปลี่ยนแปลงการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 เป็นจำพวกที่ 3 และได้รับอนุญาตแล้วก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังคงชำระค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ต่อเนื่องกันมาทุกปี และขณะเกิดเหตุโรงงานจำเลยที่ 1 ก็ใช้กำลังเครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า ซึ่งเป็นการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 เมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดระบุว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 แล้ว ให้ถือว่าใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ของจำเลยที่ 1 เป็นอันสิ้นสุดลงแต่อย่างใด ประกอบกับจำเลยทั้งสองได้ชำระค่าธรรมเนียมรายปีมาตลอด จึงถือได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสองประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ไม่ใช่ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ที่ถูกสั่งปิด ฉะนั้นจำเลยทั้งสองจึงไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า แม้จะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดระบุว่า เมื่อได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 แล้ว ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ที่ได้รับอยู่ก่อนหน้านั้นเป็นอันสิ้นสุดลงก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โรงงานที่จำเลยทั้งสองใช้ประกอบกิจการนั้นเป็นโรงงานแห่งเดียวกันและมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการอย่างเดียวกันแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงการประกอบกิจการโรงงานจากจำพวกที่ 2 เป็นจำพวกที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์เพิ่มกำลังแรงม้าเครื่องจักรในการประกอบกิจการมากขึ้นก็เพื่อให้สามารถผลิตผลงานได้มากขึ้น เป็นการเพิ่มผลประโยชน์ให้แก่จำเลยทั้งสอง ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์ใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ที่อนุญาตให้ใช้เครื่องจักรแรงม้าต่ำในการประกอบกิจการอีกต่อไปแล้ว ทั้งยังเป็นการประกอบกิจการในโรงงานแห่งเดียวกันและในกิจการประเภทเดียวกันด้วย จึงเป็นไปไม่ได้ว่าโรงงานแห่งเดียวกันจะมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานหลายจำพวกหลายฉบับ ดังนั้นแม้จะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดระบุว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 แล้ว ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ที่จำเลยที่ 1 ได้รับอยู่แล้วเป็นอันสิ้นสุดลง ตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างก็ตาม แต่โดยข้อเท็จจริงและเหตุผลดังกล่าวแล้วถือได้ว่าใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ของจำเลยที่ 1 ได้สิ้นสุดลงเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 แสดงเจตนาเลิกใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 แล้ว ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ชำระค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ต่อเนื่องกันมานั้นก็เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 ส่วนที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองยอมทำบันทึกคำให้การรับสารภาพและยินยอมให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเปรียบเทียบปรับนั้น จำเลยทั้งสองเพียงแต่ต้องการให้ข้อพิพาทจบลงโดยเร็วนั้น ก็ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ว่าจำเลยทั้งสองจะไม่ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องแต่อย่างใด ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องและพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share