คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6854/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินบริษัท ก. โดยตกลงผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยรายเดือนรวม 144 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 22 เมษายน 2538 และชำระงวดถัดไปทุกวันที่ 22 ของทุกเดือน หากผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดใด ยอมให้บริษัท ก. เรียกหนี้ตามสัญญาทั้งหมดคืนได้ทันที ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ในสัญญากู้ โดยจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 5 กรกฎาคม 2538 เป็นการฟ้องขอให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ซึ่งมีข้อตกลงชำระหนี้ผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้ดังกล่าวจึงมีกำหนดอายุความห้าปี นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้คือตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2538 เป็นต้นไป เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดห้าปี นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 13 มิถุนายน 2544 คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้จำนวน 2,141,437.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2538 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2538 และอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จ และหนี้ตามตั๋วเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2538 ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2539 และอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เงินกู้จำนวน 2,141,437.61 บาท กับหนี้ตามตั๋วเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2538 และวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ให้คิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องสำหรับหนี้เงินกู้ไม่เกิน 2,689,938.97 บาท และหนี้ตามตั๋วเงินไม่เกิน 347,334.23 บาท ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา โดยให้เสียค่าธรรมเนียมศาลเพียง 100,000 บาท ค่าธรรมเนียมศาลนอกจากนี้ได้รับยกเว้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ย ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นเฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสองใช้แทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนที่จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาให้โจทก์นำมาชำระต่อศาลในนามของจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประเด็นเดียวว่า คำฟ้องโจทก์ในส่วนหนี้เงินกู้ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนหนี้เงินกู้ระบุไว้แจ้งชัดว่า จำเลยที่ 1 ตกลงกู้เงินบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทย จำกัด (มหาชน) 2,148,647.44 บาท โดยจำเลยที่ 1 ตกลงผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยรายเดือนรวม 144 งวด เป็นเงินงวดละ 33,700 บาท โดยเริ่มชำระงวดแรกภายในวันที่ 22 เมษายน 2538 และงวดถัดไปทุกวันที่ 22 ของเดือน และตกลงจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 มีนาคม 2550 นับแต่จำเลยที่ 1 ได้กู้เงินจากบริษัทผู้ให้กู้แล้ว จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญากู้ โดยในวันที่ 5 กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้นำเงินมาชำระหนี้ครั้งสุดท้ายจำนวน 34,439.01 บาท ซึ่งเป็นการชำระดอกเบี้ยบางส่วน ทำให้วันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ค้างชำระต้นเงินจำนวน 2,141,437.61 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 48,578.36 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวจากบริษัทผู้ให้กู้ ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงมีลักษณะเป็นการฟ้องขอให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ซึ่งมีข้อตกลงชำระหนี้ผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้ดังกล่าวจึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้ที่ระบุในคำฟ้อง คือ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2538 เป็นต้นไป ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ให้การต่อสู้ไว้แล้วว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ ดังนี้การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2544 คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว ส่วนข้ออ้างในฎีกาของโจทก์ว่า ในทางปฏิบัติจำเลยที่ 1 มิได้ชำระหนี้ตรงตามกำหนดชำระหนี้ตามงวดที่ระบุไว้ในสัญญากู้ ซึ่งปรากฏตามการ์ดเงินกู้ จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าชำระในบัญชีเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2538 จำนวน 33,700 บาท และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2538 จำนวน 34,439.01 บาท จึงแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วในขณะทำสัญญากู้จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาชำระหนี้ตรงตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ ทั้งบริษัทผู้ให้กู้ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวไว้แล้ว จึงถือว่าบริษัทผู้ให้กู้และจำเลยที่ 1 มิได้ถือเอาข้อตกลงในเรื่องระยะเวลาและจำนวนเงินที่ต้องชำระตามงวดดังที่ระบุไว้ในสัญญาเป็นข้อสำคัญ ถือว่าคู่สัญญาเจตนาทำสัญญากู้ทั่วไป อันเป็นเรื่องเอกเทศสัญญาว่าด้วยการยืมใช้สิ้นเปลือง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 นั้น เห็นว่า พฤติการณ์ระหว่างบริษัทผู้ให้กู้และจำเลยที่ 1 ในเรื่องการชำระหนี้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาดังกล่าว อาจมีผลในปัญหาเรื่องการผิดนัดว่าถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือไม่เท่านั้น มิได้มีผลเปลี่ยนแปลงลักษณะของสัญญาดังที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ในส่วนของหนี้เงินกู้ขาดอายุความและพิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์ยื่นฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์จำนวน 4,350,638.52 บาท ต้องเสียค่าขึ้นศาล 108,765 บาท โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกา 136,967.50 บาท จึงเป็นการชำระค่าขึ้นศาลเกินมา 28,202.50 บาท จึงต้องคืนส่วนที่เกินให้แก่โจทก์”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาจำนวน 28,202.50 บาท แก่โจทก์

Share