คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6475/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยใช้อาวุธปืนสั้นชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำราคา 7,000 บาท พระเครื่องเลี่ยมทองคำราคา 1,800 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ราคา 4,000 บาท กระเป๋าสตางค์ราคา 1,300 บาท ภายในบรรจุบัตรประจำตัวประชาชน ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ บัตรเอทีเอ็ม ธนบัตร 4,400 บาท รวมเป็นเงิน 18,100 บาท ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยจำเลยใช้อาวุธปืนจี้ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อาวุธปืนยิงให้ตายหากขัดขืน เพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์และให้พ้นจากการจับกุม อันเป็นการกล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุชื่อผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของทรัพย์ แต่ความผิดฐานลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์องค์ประกอบแห่งความผิดดังกล่าวอยู่ที่การเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ซึ่งเมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้ว ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตย่อมเข้าใจได้ว่าจำเลยลักเอาทรัพย์ของผู้อื่นซึ่งไม่ใช่ทรัพย์ของจำเลยหรือเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของไปโดยทุจริต เช่นนี้ฟ้องของโจทก์จึงระบุรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลและสิ่งของพอสมควรที่จำเลยจะต่อสู้คดีได้แล้ว โดยไม่จำต้องระบุชื่อผู้เสียหาย มิฉะนั้นหากไม่ทราบชื่อของผู้เสียหายก็จะทำให้ไม่มีทางที่จะฟ้องคดีในความผิดฐานลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์ได้ซึ่งไม่ใช่เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 339, 340 ตรี ริบหมวกไหมพรมของกลาง ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 16,800 บาท แก่ผู้เสียหาย และขอให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 33 จำคุก 18 ปี ให้นับโทษต่อจากคดีอาญา หมายเลขแดงที่ 77/2548, 78/2548, 85/2548 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1483/2547, 192/2548, 194/2548, 195/2548, 196/2548, 197/2548, 198/2548 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากขณะตัดสินคดีศาลชั้นต้นยังไม่มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว คำขอในส่วนนี้จึงให้ยก ริบหมวกไหมพรมของกลาง ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 16,800 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาประการแรกว่าคำฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องแล้วว่าจำเลยใช้อาวุธปืนสั้นชิงเอาทรัพย์สร้อยคอทองคำราคา 7,000 บาท พระเครื่องเลี่ยมทองคำราคา 1,800 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ราคา 4,000 บาท กระเป๋าสตางค์ราคา 1,300 บาท ภายในบรรจุบัตรประจำตัวประชาชน ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ บัตรเอทีเอ็ม ธนบัตรจำนวน 4,400 บาท รวมเป็นเงิน 18,100 บาท ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยจำเลยใช้อาวุธปืนจี้ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อาวุธปืนยิงให้ตายหากขัดขืน เพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์และให้พ้นจากการจับกุม อันเป็นการกล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุชื่อผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของทรัพย์ แต่ความผิดฐานลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์องค์ประกอบแห่งความผิดดังกล่าวอยู่ที่การเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ซึ่งเมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้ว ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตย่อมเข้าใจได้ว่าจำเลยลักเอาทรัพย์ของผู้อื่นซึ่งไม่ใช่ทรัพย์ของจำเลยหรือเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของไปโดยทุจริต เช่นนี้ฟ้องของโจทก์จึงระบุรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลและสิ่งของพอสมควรที่จำเลยจะต่อสู้คดีได้แล้ว โดยไม่จำต้องระบุชื่อผู้เสียหายดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัย มิฉะนั้นหากไม่ทราบชื่อของผู้เสียหายก็จะทำให้ไม่มีทางที่จะฟ้องคดีในความผิดฐานลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์ได้ซึ่งไม่ใช่เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังไม่ได้วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ และเพื่อให้การวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นไปตามลำดับชั้นศาล ศาลฎีกาเห็นควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงก่อน
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาปัญหาข้อเท็จจริงตามที่จำเลยอุทธรณ์แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share