คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10215/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามสัญญารับจ้างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสี่ว่า สัญญาบริการทางวิชาชีพและสัญญาบริการออกแบบทางวิชาชีพ แปลได้ความว่า “ในกรณีที่มีข้อเรียกร้องข้อพิพาท หรือเรื่องอื่นใดที่เป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาซึ่งไม่สามารถยุติโดยการเจรจานั้นให้ได้รับการชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการ…” ดังนี้ ข้อสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสี่จึงมีลักษณะเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 11 ที่บัญญัติว่า สัญญาอนุญาโตตุลาการ หมายถึง สัญญาที่คู่สัญญาตกลงให้ระงับข้อพิพาทไม่ว่าจะเกิดจากนิติสัมพันธ์ทางสัญญาหรือไม่ โดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิทำซ้ำ ดัดแปลง หรอืเผขแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ตามฟ้องหรือไม่ และจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าว เมื่อข้อตกลงตามสัญญาจ้างกำหนดเรื่องระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการไว้ และไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนี้เป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ โจทก์ทั้งสี่ต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีต่อศาลโดยมิได้เสนอข้อพิพาทซึ่งเป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาต่ออนุญาโตตุลาการก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยเรียบบริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด โจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกบริษัทเซเวนอะโซซึเอทซ จำกัด โจทก์ในสำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ 2 เรียกบริษัทองศาสถาปนิก จำกัด โจทก์ในสำนวนที่สามว่าโจทก์ที่ 3 เรียกบริษัทแอ๊กซิส แลนด์สเคป จำกัด โจทก์ในสำนวนที่สี่ว่า โจทก์ที่ 4 ส่วนจำเลยทั้งสี่ในสี่สำนวนต่างเป็นจำเลยชุดเดียวกัน
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยทั้งสี่สำนวนเป็นใจความว่า จำเลยที่ 1 เป็นมูลนิธิที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจออกแบบและก่อสร้างไทยให้ไปดำเนินการออกแบบและก่อสร้างในต่างประเทศ มีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นกรรมการและเลขานุการ เมื่อปลายปี 2545 จำเลยที่ 1 โดยการจัดการของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญารับจ้างออกแบบและควบคุมการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ (Hamad Medical City/Asian Games Village, Village, DOHA 2006) ณ ประเทศกาตาร์ ให้แก่กระทรวงการเทศบาลและเกษตรกรรมแห่งประเทสกาตาร์ผู้ว่าจ้าง โดยผู้ว่าจ้างประสงค์จะใช้อาคารศูนย์การแพทย์ดังกล่าวเป็นหมู่บ้านนักกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ หลังจากนั้นจะมีการตกแต่ง ดัดแปลง และก่อสร้างเพิ่มเติมให้เป็นศูนย์การแพทย์ตามแบบแปลน ต่อมาเมื่อต้นปี 2546 ถึงเดือนเมษายน 2547 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตกลงว่าจ้างโจทก์ทั้งสี่และทีมงานสถาปนิกอื่นให้ออกแบบอาคาร สิ่งปลูกสร้าง งานตกแต่งภายในและภายนอก ตลอดจนบริเวณอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นงานศาลปกรรมประเภทงานสถาปัตยกรรม โดยโจทก์ทั้งสี่ตกลงจะโอนลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 หลังจากจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งสี่จนครบถ้วนแล้ว โจทก์ทั้งสี่และทีมงานทำงานตามที่ว่าจ้างจนเสร็จและได้ส่งมอบงานให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผิดนัด ค้างชำระหนี้ค่าจ้าง จำนวน 64,828,530 บาท โจทก์ทั้งสี่ทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้โดยแจ้งว่ามิฉะนั้นจะไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสี่ใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉยและกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์งานของโจทก์ทั้งสี่ โดยเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ด้วยการก่อสร้างในโครงการดังกล่าวที่ยังไม่แล้วเสร็จต่อไป และนำภาพถ่ายและแผนผังงานอันมีสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ไปจัดทำเป็นภาพสามมิติ ภาพถ่ายและสิ่งพิมพ์ (โบชัวร์) และเผยแพร่ในเว็บไซต์ของจำเลยที่ 1 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ (www.fedconthai.com) นอกจากนี้ จำเลยทั้งสี่ทำซึ้งงานออกแบบอาคารและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ และส่งมอบให้แก่รัฐบาลแห่งประเทสกาตาร์ เพื่อให้ดำเนินการประกวดราคาและให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรายอื่นนำแบบแปลนอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ไปก่อสร้างต่อ เพื่อแสวงหากำไรและเพื่อประโยชน์ทางการค้าของจำเลยทั้งสี่ ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ 1 ขอคิดค่าเสียหายเดือนละ 16,500,000 บาท โจทก์ที่ 2 ขอคิดค่าเสียหายเดือนละ 5,200,000 บาท โจทก์ที่ 3 ขอคิดค่าเสียหายเดือนละ 3,400,000 บาท โจทก์ที่ 4 ขอคิดค่าเสียหายเดือนละ 4,600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะหยุดการทำละเมิดดังกล่าวทั้งหมดขอให้บังคับโดยห้ามจำเลยทั้งสี่นำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ไปทำซ้ำ ดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนไม่ว่าทางใด ให้จำเลยทั้งสี่ระงับการก่อสร้างที่กระทำอยู่และจะทำต่อไปในอนาคต ห้ามจำเลยทั้งสี่บิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ทั้งสี่ และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ในอัตราเดือนละ 16,500,000 บาท โจทก์ที่ 2 ในอัตราเดือนละ 5,200,000 บาท โจทก์ที่ 3 ในอัตราเดือนละ 3,400,000 บาท และโจทก์ที่ 4 ในอัตราเดือนละ 4,600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะยุติการกระทำอันเป็นละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การเป็นใจความว่า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ทั้งสี่ให้ออกแบบอาคารและสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจ้างลงวันที่ 25 มิถุนายน 2546 โดยตกลงให้ส่งมอบงานและแบ่งชำระเงินค่าจ้างเป็นงวดๆ ซึ่งโดยลักษณะของงานรับจ้างออกแบบงานก่อสร้างดังกล่าว คู่สัญญามีเจตนาให้จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างโดยใช้งานออกแบบของโจทก์ทั้งสี่ควบคู่ไปกับการส่งมอบงานออกแบบแต่ละงวดตามสัญญา อันเป็นการตกลงให้โจทก์ทั้งสี่โอนและอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้ลิขสิทธิ์ในงานออกแบบของโจทก์ทั้งสี่ในการก่อสร้างได้ทันที่ โดยไม่จำต้องรอให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าจ้างตามกำหนดในสัญญาเสียก่อน ส่วนที่โจทก์ทั้งสี่กล่าวอ้างว่า มีข้อตกลงให้โจทก์ทั้งสี่โอนลิขสิทธิ์งานออกแบบให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าจ้างครบถ้วนแล้วนั้น ตามสัญญาจ้างข้อ 7 เป็นการกำหนดเงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์ในเอกสารต่าง ๆ ให้แก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่ใช่เงื่อนไขการโอนหรืออนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในงานออกแบบดังที่โจทก์ทั้งสี่อ้าง จำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานที่โจทก์ทั้งสี่ทำขึ้นตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา จำเลยทั้งสี่แถลงขอให้ศาลจำหน่ายคดีเนื่องจากข้อพิพาทตามฟ้องมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีโดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาตโตตุลาการก่อนตามสัญญา จึงฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 โจทก์ทั้งสี่แถลงคัดค้านว่ามูลเหตุของคดีเป็นเรื่องละเมิด มิใช่ผิดสัญญา โจทก์ทั้งสี่สามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าประเด็นข้อพิพาทหลักแห่งคดี คือ โจทก์ทั้งสี่หรือจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมประเภทงานสถาปัตยกรรมตามฟ้อง และจำเลยทั้งสี่กระทำการอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ ซึ่งต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากข้อความในสัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 1 และเจตนาของคู่ความในการทำสัญญาเป็นสำคัญข้อพิพาทดังกล่าวจึงเป็นข้อพิพาทอันเกิดจากสัญญา เมื่อสัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงซึ่งกำหนดให้เสนอข้อพิพาทที่เป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาต่ออนุญาโตตุลาการ ดังที่คู่ความได้เสนอข้อพิพาทเรื่องค้างชำระค่าจ้างต่ออนุญาโตตุลาการแล้ว โจทก์ทั้งสี่จึงต้องเสนอข้อพิพาทในคดีนี้ต่ออนุญาโตตุลาการตามข้อสัญญาดังกล่าวตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 ก่อน จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสาระบบความเพื่อให้โจทก์ทั้งสี่ไปเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ
โจทก์ทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ให้จำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์ทั้งสี่ไปดำเนินการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนั้น ชอบด้วยพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 หรือไม่โดยโจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ว่า มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เกิดจากจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นนิติเหตุ มิใช่การฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ตามสัญญาที่พิพาทโดยตรง จึงไม่จำต้องเสนอข้อพิพาทดังกล่าวต่ออนุญาโตตุลาการก่อน เห็นว่า ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสี่ตามเอกสารท้ายคำร้องของจำเลยทั้งสี่ลงวันที่ 19 มีนาคม 2551 ซึ่งเรียกว่า สัญญาบริการทางวิชาชีพและสัญญาบริการออกแบบทางวิชาชีพลงวันที่ 25 มิถุนายน 2546 ข้อ 11.1 แปลได้ความว่า “ในกรณีที่มีข้อเรียกร้อง ข้อพิพาท หรือเรื่องอื่นใดที่เป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาซึ่งไม่สามารถยุติโดยการเจรจานั้นให้ได้รับการชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการ…” ดังนี้ข้อสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 ที่บัญญัติว่า สัญญาอนุญาโตตุลาการ หมายถึง สัญญาที่คู่สัญญาตกลงให้ระงับข้อพิพาทไม่ว่าจะเกิดจากนิติสัมพันธ์ทางสัญญาหรือไม่ โดยวิธีอนุญาโตตุลาการ แม้สภาพแห่งข้อหาตามที่โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องจะอ้างเหตุมูลละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานสถาปัตยกรรมของโจทก์ทั้งสี่โดยจำเลยทั้งสี่นำงานออกแบบอาคารและสิ่งปลูกสร้างไปทำซื้อ ดัดแปลงและเผยแพร่ต่อสาธารณชนและมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ แต่ก็ปรากฏจากคำให้การของจำเลยทั้งสี่ต่อสู้คดีอ้างว่าไม่ได้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่เนื่องจากสัญญาระบุว่าโจทก์ทั้งสี่โอนและอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้ลิขสิทธิ์ในงานออกแบบอาคารและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสี่ในการก่อสร้างแล้ว ดังนั้น ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ตามฟ้องหรือไม่ และจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าวเมื่อข้อตกลงตามที่ระบุไว้ในข้อ 11.1 ของสัญญาจ้างกำหนดเรื่องการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการไว้ และไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนี้เป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ โจทก์ทั้งสี่ต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีต่อศาลโดยมิได้เสนอข้อพิพาทซึ่งเป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาต่ออนุญาโตตุลาการก่อน จึงเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้องที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ทั้งสี่นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีโดยไม่ได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share