คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2539/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งคนงาน ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่จัดทำใบสำคัญคุมใบยืม คุมเบิกจ่ายวัสดุสำนักงาน โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำใบเสร็จรับเงิน (บิลเงินสด) ปลอมไปใช้อ้างแสดงต่อเจ้าพนักงานของผู้เสียหายจนหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และตั้งฎีกาเบิกเงินจากเงินงบประมาณของผู้เสียหายให้แก่จำเลยและจำเลยรับเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นของตนโดยทุจริต ซึ่งแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาว่า จำเลยนำใบเสร็จรับเงิน (บิลเงินสด) ปลอม ไปใช้ประกอบการจัดทำงบเดือนสำหรับการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ข้อแตกต่างนี้มิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 264, 265, 268
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 (ที่ถูก มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265) จำคุก 1 ปี ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยเป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งคนงานของกรมวิชาการเกษตร ผู้เสียหาย โดยปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่สถานีทดลองพืชไร่ศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย มีหน้าที่จัดทำใบสำคัญการจัดซื้อวัสดุสำนักงาน เมื่อเดือนมกราคม 2536 ผู้อำนวยการสถานีทดลองพืชไร่ศรีสำโรงสงสัยว่าจะมีการทุจริตในการจัดซื้อวัสดุสำนักงานจึงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ จากการตรวจสอบใบสำคัญเบิกจ่ายเงินงบประมาณจัดซื้อวัสดุสำนักงานพบว่ามีการจัดทำใบเสร็จรับเงิน (บิลเงินสด) ปลอมและใช้ใบเสร็จรับเงิน (บิลเงินสด) ปลอมนั้นตั้งฎีกาเบิกจ่ายเงินงบประมาณ จึงแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลย สำหรับข้อหาปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมตามข้อ 1.1 ถึง 1.5 และข้อ 1.7 ถึง 1.13 ตามฟ้องโจทก์นั้น ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้อง โจทก์มิได้ฎีกา จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามข้อ 1.6 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ พยานโจทก์เบิกความทำนองเดียวกันว่า ในการจัดซื้อวัสดุสำนักงานมีระเบียบภายในว่า เจ้าหน้าที่ต้องเขียนใบเสนอขออนุมัติซื้อวัสดุสำนักงาน แล้วจำเลยจะเขียนใบเสนอจัดซื้อเสนอให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติ หลังจากร้านค้านำวัสดุสำนักงานที่สั่งซื้อพร้อมใบส่งของมามอบให้แล้ว ผู้เสนอขอซื้อจะนำใบส่งของไปมอบให้จำเลยเพื่อทำเรื่องขออนุมัติเบิกเงิน จำเลยมีหน้าที่รวบรวมเอกสารแล้วมอบให้หัวหน้าการเงินตั้งฎีกาเบิกเงินจากคลังจังหวัด จากนั้นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คจะสั่งจ่ายเช็ค แล้วให้เจ้าหน้าที่คนหนึ่งคนใดนำไปมอบให้แก่ร้านค้า เมื่อร้านค้าได้รับเช็คแล้วร้านค้าจะออกใบเสร็จรับเงิน (บิลเงินสด) ให้ เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวจะต้องมอบใบเสร็จรับเงิน (บิลเงินสด) ให้จำเลยเพื่อประกอบการทำงบเดือนสำหรับการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เห็นว่า การจัดซื้อวัสดุตามใบสำคัญเบิกจ่ายเอกสารมีพิรุธ ตั้งแต่มีรอยขูดลบแก้ไขจำนวนวัสดุที่จัดซื้อและจำนวนเงินโดยไม่มีการลงลายมือชื่อกำกับ ทั้งไม่มีวัสดุให้ตรวจสอบ ประกอบกับนางสาวลัญจนีเจ้าของร้านพงษ์เต้งพยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า ร้านพงษ์เต้งไม่ได้ขายสินค้าตามใบเสร็จรับเงิน (บิลเงินสด) และไม่ได้รับเช็คค่าสินค้าดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าใบเสร็จรับเงิน (บิลเงินสด) เป็นเอกสารปลอม พฤติการณ์ของจำเลยที่ลงลายมือชื่อรับเช็คที่สั่งจ่ายให้แก่ร้านพงษ์เต้งเพื่อชำระค่าวัสดุแต่ไม่ได้นำไปมอบให้แก่ร้านพงษ์เต้ง โดยนำเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเองที่มีอยู่กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสุโขทัย และมีใบเสร็จรับเงิน (บิลเงินสด) ซึ่งระบุว่าเป็นของร้านพงษ์เต้งมาใช้ประกอบการจัดทำงบเดือน เช่นนี้บ่งชี้ว่าจำเลยต้องรู้ว่าใบเสร็จรับเงิน (บิลเงินสด) เป็นเอกสารปลอม เมื่อจำเลยนำใบเสร็จรับเงิน (บิลเงินสด) ดังกล่าวไปใช้ประกอบการจัดทำงบเดือนสำหรับการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จึงเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายและผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยนำใบเสร็จรับเงิน (บิลเงินสด) ปลอมไปใช้อ้างแสดงต่อเจ้าพนักงานของผู้เสียหายจนหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและตั้งฎีกาเบิกเงินจากเงินงบประมาณของผู้เสียหายให้แก่จำเลยและจำเลยรับเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นของตนเองโดยทุจริต อันเป็นการแตกต่างกับข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาซึ่งได้ความว่าจำเลยนำใบเสร็จรับเงิน (บิลเงินสด) ปลอมไปใช้ประกอบการจัดทำงบเดือนสำหรับการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน แต่ข้อแตกต่างนี้มิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share