แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อต่อสู้ในคำให้การ จำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างซึ่งปฏิบัติหน้าที่ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงรับเงินจากจำเลยที่ 2 เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 แล้ว มูลคดีนี้จึงเป็นอันระงับ เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับหรือปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์จริงหรือไม่ เพราะหากจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่จำต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ หากโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 จริง ก็เท่ากับจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 และกระทำละเมิดในทางการที่จ้างดังฟ้อง จึงเป็นคำให้การที่ไม่อาจให้รวมกันมาได้เพราะขัดแย้งกันเอง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทกับจำเลยที่ 2 แล้วหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาททั้งสองดังกล่าวจึงไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,550,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,400,000 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 530,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 มีนาคม 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดเพียงเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 มีนาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลล่างส่วนที่ไม่มีผู้ใดโต้แย้งรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2547 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อ (ห้องเย็น) ของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับ ทำให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส สำหรับปัญหาที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 4 สิงหาคม 2547 กับโจทก์อันเป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างซึ่งปฏิบัติหน้าที่ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และในคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงยอมรับเงินจำนวน 116,882.80 บาท จากจำเลยที่ 2 เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 แล้ว มูลหนี้คดีนี้จึงเป็นอันระงับ เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับหรือปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์จริงหรือไม่ เพราะหากจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่จำต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ หากโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 จริง ก็เท่ากับจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 และกระทำละเมิดในทางการที่จ้างดังฟ้อง จึงเป็นคำให้การที่ไม่อาจให้การรวมกันมาได้เพราะขัดแย้งกันเอง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง ไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทกับจำเลยที่ 2 แล้วหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาททั้งสองดังกล่าวจึงไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท