คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 987/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต โดยจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 352 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริตอันเป็นการสมคบกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้กระทำในฐานเป็นผู้จัดการมรดกของผู้อื่นตามคำสั่งศาล คงลงโทษได้เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353,354 ประกอบด้วยมาตรา 86

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 354, 83, 91
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ประกอบมาตรา 352 (ที่ถูก มาตรา 352 วรรคแรก) จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำคุก 2 ปี และปรับ 6,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี 4 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามไว้มีกำหนด 2 ปี หากไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเฉพาะฎีกาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่รับฎีกาจำเลยที่ 1
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับกันฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นมารดาและเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลของนายทนงศักดิ์ ผู้ตาย โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายทนงศักดิ์ มีบุตรกับนายทนงศักดิ์ 2 คน ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด เดิมมีชื่อนายทนงศักดิ์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ หลังจากนายทนงศักดิ์ถึงแก่ความตายและศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายทนงศักดิ์แล้ว เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2539 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกของนายทนงศักดิ์แล้วโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 บุตรจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องสาวของนายทนงศักดิ์ไปในวันเดียวกัน สำหรับจำเลยที่ 1 ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่ามีความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกตามฟ้อง คดีเป็นอันถึงที่สุด อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อกฎหมายในเบื้องต้นเสียก่อนว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 354 หรือ มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 355 เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต ด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตนจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 352 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
มีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นน้องสาวของนายทนงศักดิ์ ทราบดีว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายทนงศักดิ์และมีบุตรกับนายทนงศักดิ์ 2 คน หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทมาเป็นของตน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมทราบว่าโจทก์และบุตรโจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยชอบธรรมของนายทนงศักดิ์ต้องไม่ได้รับมรดกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทดังกล่าว ดังนั้น แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เสียค่าตอบแทนในการโอนทรัพย์มรดกพิพาทตามที่อ้าง ก็ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทมาโดยสุจริต เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนจีนที่อายุมาก พูดและอ่านภาษาไทยไม่ได้ ดังเห็นได้จากการเบิกความต้องใช้ล่ามแปล ทั้งยังป่วยเป็นโรคพาร์คินสันซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเชื่อว่าการโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทน่าจะมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการมากกว่า ยิ่งกว่านั้นที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างว่าได้ชำระค่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นเงินสดถึง 1,800,000 บาท ก็เป็นเรื่องไม่สมเหตุผลและไม่มีพยานหลักฐานใดมายืนยัน ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ข้อพิรุธดังกล่าวประกอบพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 สมคบกับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของนายทนงศักดิ์พี่ชายมาเป็นของตนโดยทุจริตตามที่โจทก์นำสืบ เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้กระทำในฐานเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลเหมือนเช่นจำเลยที่ 1 กรณีก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ช่วยเหลือให้จำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลได้จดทะเบียนโอนมรดกเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกเอง และโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงคงลงโทษได้เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354 ประกอบมาตรา 86 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกจึงชอบแล้วและไม่ถือเป็นการพิพากษาเกินคำขอดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา เพราะการสนับสนุนการกระทำความผิดมีโทษเบากว่าการกระทำความผิดของตัวการตามที่โจทก์ฟ้อง…
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354 ประกอบด้วยมาตรา 86 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share