คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15791/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ภายในอายุความและพนักงานสอบสวนได้สอบสวนแล้ว ย่อมสันนิษฐานได้ว่ามีการร้องทุกข์และมีการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อชั้นพิจารณาจำเลยไม่ได้คัดค้านโดยเสนอหรือนำสืบเป็นข้อต่อสู้ไว้ ถือว่า ไม่มีข้อคัดค้าน
ตามหนังสือขอแจ้งความเพิ่มเติม กรณีการปลอมแปลงลายมือชื่อของโจทก์ร่วมที่มีต่อพนักงานสอบสวน ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญการกระทำความผิดของจำเลยไว้ โดยสรุปใจความว่า เมื่อวันเกิดเหตุจำเลยได้ปลอมแปลงลายมือชื่อของ ย. แล้วเบิกถอนเงินฝากจำนวน 14,000 บาท จากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของ ย. ไป ขอให้ดำเนินคดีกับจำเลยตามกฎหมาย อันมีความแจ้งชัดอยู่ในตัวว่า เป็นการขอให้ดำเนินคดีกับจำเลยที่เบียดบังเงินจำนวนดังกล่าว โดยวิธีการปลอมแปลงลายมือชื่อเบิกถอนเงินของโจทก์ร่วมจากบัญชีเงินฝากของ ย. อันเป็นความผิดฐานยักยอกแล้วด้วย โจทก์ร่วมไม่จำต้องระบุอ้างฐานความผิดมาด้วยแต่อย่างใด รูปคดีจะเป็นความผิดฐานใดย่อมเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งแล้วแต่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจที่จะวินิจฉัย
แม้การปลอมใบถอนเงินฝากออมทรัพย์ และใช้เอกสารดังกล่าวถอนเงินไปจากโจทก์ร่วม แล้วยักยอกเงินนั้นเป็นของตนจะเป็นการกระทำที่มีลักษณะแตกต่างกัน ต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัวก็ตาม แต่การที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารปลอมดังกล่าวก็เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินของโจทก์ร่วมที่จำเลยมุ่งประสงค์จะยักยอกเป็นของตนเป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 264, 268, 352 ให้จำเลยใช้เงิน 14,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1976/2544, 1977/2544, 3120/2544 และ 3121/2544 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ระหว่างพิจารณา สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก (ที่ถูก ต้องระบุประกอบด้วยมาตรา 264 วรรคแรก) ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมแต่เพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง และมาตรา 352 วรรคแรก เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม (ที่ถูกฐานใช้เอกสารปลอม) จำคุก 1 ปี ฐานยักยอก จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปีให้จำเลยใช้เงิน 14,000 บาท แก่ผู้เสียหาย (ที่ถูก โจทก์ร่วม) ส่วนคำขอให้นับโทษต่อให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก แต่บทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า คดีนี้โจทก์ได้บรรยายคำฟ้องว่า ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ภายในอายุความและพนักงานสอบสวนได้สอบสวนแล้ว ย่อมสันนิษฐานได้ว่า มีการร้องทุกข์และมีการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อชั้นพิจารณาจำเลยไม่ได้คัดค้านโดยเสนอหรือนำสืบเป็นข้อต่อสู้ไว้ ถือว่าไม่มีข้อคัดค้าน ทั้งตามสำนวนความก็ไม่มีข้อเท็จจริงที่แสดงให้ปรากฏว่า การร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมไม่ชอบหรือกระทำเมื่อคดีขาดอายุความลงแล้ว เพราะตามหนังสือขอแจ้งความเพิ่มเติม กรณีการปลอมแปลงลายมือชื่อ ของโจทก์ร่วมที่มีต่อพนักงานสอบสวน ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญการกระทำความผิดของจำเลยไว้ โดยสรุปใจความว่า เมื่อวันเกิดเหตุจำเลยได้ปลอมแปลงลายมือชื่อของนายยานแล้วเบิกถอนเงินฝากจำนวน 14,000 บาท จากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของนายยานไป ขอให้ดำเนินคดีกับจำเลยตามกฎหมาย อันมีความแจ้งชัดอยู่ในตัวว่าเป็นการขอให้ดำเนินคดีกับจำเลยที่เบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวโดยวิธีการปลอมแปลงลายมือชื่อเบิกถอนเงินของโจทก์ร่วมจากบัญชีเงินฝากของนายยานอันเป็นความผิดฐานยักยอกแล้วด้วย โจทก์ไม่จำต้องระบุอ้างฐานความผิดมาด้วยแต่อย่างใด รูปคดีจะเป็นความผิดฐานใดย่อมเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งแล้วแต่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่จะวินิจฉัย
ส่วนปัญหาการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีเมื่อขาดอายุความแล้ว ปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมชัดเจนว่า โจทก์ร่วมได้รับทราบจากผู้ตรวจสอบบัญชีว่า เงินของโจทก์ร่วมดังกล่าวถูกจำเลยยักยอกไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2544 หาใช่วันที่ซึ่งผู้จัดการซึ่งไม่ได้เป็นผู้แทนโจทก์ร่วมทราบเรื่องดังที่จำเลยอ้าง การที่โจทก์ร่วมไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2544 จึงยังอยู่ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีไม่ขาดอายุความ รวมทั้งข้อที่จำเลยฎีกาว่า หนังสือขอแจ้งความเพิ่มเติม กรณีการปลอมแปลงลายมือชื่อ กระทำขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของโจทก์ร่วมหรือโดยประการอื่นนั้น จำเลยก็มิได้คัดค้านหรือนำสืบเป็นข้อต่อสู้ไว้ ย่อมต้องถือว่าไม่มีข้อคัดค้านและฟังได้ว่า เอกสารดังกล่าวกระทำขึ้นโดยถูกต้องแล้ว ข้อฎีกาของจำเลยดังกล่าวมาทั้งหมดนั้น จำเลยเพียงคัดค้านขึ้นในชั้นอุทธรณ์ ย่อมไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 และศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้ กรณีถือได้ว่า โจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานยักยอกภายในกำหนดอายุความและหนังสือขอแจ้งความเพิ่มเติม กรณีปลอมแปลงลายมือชื่อ ได้กระทำขึ้นโดยถูกต้องแล้ว โจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีอำนาจฟ้อง
ส่วนปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า การกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงต้องเรียงกระทงลงโทษหรือไม่ เห็นว่า แม้การปลอมใบถอนเงินฝากออมทรัพย์ตาม และใช้เอกสารดังกล่าวถอนเงินไปจากโจทก์ร่วมแล้วยักยอกเงินนั้นเป็นของตนจะเป็นการกระทำที่มีลักษณะแตกต่างกันต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัวก็ตาม แต่การที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารปลอมดังกล่าวก็เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินของโจทก์ร่วมที่จำเลยมุ่งประสงค์จะยักยอกเป็นของตนเป็นสำคัญการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และเมื่อกฎหมายแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก แต่บทเดียวอันเป็นบทที่จำเลยมุ่งประสงค์กระทำความผิดเป็นสำคัญ จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น

Share