คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12820/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 เปิดบริษัทนำเข้าและส่งออกเสื้อผ้ากีฬาและใช้อุปกรณ์ เครื่องมือและพนักงานของจำเลยที่ 3 บางส่วนทำงานส่วนตัวของโจทก์ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยที่ 3 จึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 119 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระค่าคอมมิชชั่น 12,561,455.41 บาท ค่าจ้างค้างชำระ 103,247 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 33,876 บาท ค่าชดเชย 309,740 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 304,870 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดใด ๆ ต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์คืนเงินค่าคอมมิชชั่นที่เบิกไปเกินให้แก่จำเลยที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องแย้งไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณาโจทก์แถลงขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าชดเชย 309,740 บาท ค่าคอมมิชชั่นค้างชำระ 37,706.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 กันยายน ถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2546 คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 และยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 เปิดบริษัทนำเข้าและส่งออกเสื้อผ้ากีฬา และโจทก์ได้ใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ และพนักงานของจำเลยที่ 3 บางส่วนทำงานส่วนตัวของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 ตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 3 อีกตำแหน่งหนึ่ง มีหน้าที่ในการระดมหารายได้ให้แก่จำเลยที่ 3 จึงต้องปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างในระหว่างทำงานให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตเพื่อหวังจะให้เกิดผลคุ้มค่าจ้างที่นายจ้างให้เป็นการตอบแทน การที่โจทก์ไปเปิดบริษัทนำเข้าและส่งออกเสื้อผ้ากีฬาแม้ลักษณะกิจการของโจทก์จะไม่เหมือนกับกิจการของจำเลยที่ 3 และไม่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับงานของจำเลยที่ 3 ที่โจทก์ทำอยู่เป็นประจำก็ตาม แต่การที่โจทก์เปิดบริษัทประกอบกิจการดังกล่าวก็ย่อมทำให้โจทก์ไม่สามารถทำงานให้แก่จำเลยที่ 3ได้เต็มที่ดังเดิม นอกจากนี้การที่โจทก์ใช้อุปกรณ์ เครื่องมือและพนักงานของจำเลยที่ 3 บางส่วนทำงานส่วนตัวของโจทก์โดยปราศจากสิทธิอันชอบ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการเบียดบังเวลาและทรัพย์สินของนายจ้างโดยมิชอบด้วยหน้าที่ เพื่อมุ่งแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างย่อมได้รับความเสียหาย การกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ เมื่อจำเลยที่ 3 เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย 309,740 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share