คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2613/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/60 วรรคสอง มีความหมายว่า ผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนมีผลเฉพาะตัวลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการเท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน แล้วมาผูกพันตามหนี้ที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนบุคคลอื่นซึ่งต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้จะต้องรับผิดเช่นไรต้องเป็นไปตามกฎหมายต่างๆ ซึ่งว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ดังนี้ในส่วนตัวลูกหนี้ย่อมได้รับการปลดเปลื้องความรับผิดในส่วนที่ขาดโดยผลของกฎหมายฟื้นฟูกิจการ แต่ในส่วนผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดก็เมื่อหนี้นั้นได้ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 การที่แผนฟื้นฟูกิจการในคดีนี้กำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดไปเสียทีเดียวย่อมเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/60 วรรคสองดังกล่าว อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนข้อกำหนดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ส่วนที่ยังขาด โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์ได้รับโอนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งรับซื้อสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยซัมมิท จำกัด บริษัทเงินทุนเฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทกระดาษศรีสยาม จำกัด ได้ทำสัญญาเงินกู้หมุนเวียนและเป็นลูกหนี้ค้างชำระแก่บริษัทดังกล่าว โดยมีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากโจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องแล้ว บริษัทกระดาษศรีสยาม จำกัดได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้หลายรายรวมทั้งโจทก์ สำหรับหนี้ในส่วนของโจทก์นั้นบริษัทกระดาษศรีสยาม จำกัด ยอมรับว่า ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2542 บริษัทกระดาษศรีสยาม จำกัด มีหนี้ค้างชำระแก่โจทก์รวมเป็นเงินจำนวน 298,196,569.22 บาท แต่บริษัทกระดาษศรีสยาม จำกัด ผิดเงื่อนไขตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2543 บริษัทกระดาษศรีสยาม จำกัด ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 869/2543 คดีหมายเลขแดงที่ 893/2543 ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทกระดาษศรีสยาม จำกัด ชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไม่ครบถ้วนตามสัญญาสินเชื่อเดิม จำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์โดยหนี้ที่รับโอนมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยซัมมิท จำกัด จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์จำนวน 91,828,128.07 บาท หนี้ที่รับโอนมาจากบริษัทเงินทุนเฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเม้นท์ จำกัด (มหาชน) จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดต่อโจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 419,297,211.74 บาท หนี้ที่รับโอนมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดรวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 19,425,667.39 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 530,551,007.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้นจำนวน 235,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 6213 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้โจทก์จนครบถ้วน ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 419,297,211.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 170,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ได้รับชำระหนี้จากบริษัทกระดาษศรีสยาม จำกัด ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่โจทก์เห็นชอบกับแผนแล้ว หนี้ประธานและหนี้อุปกรณ์จึงระงับ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ในขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้โจทก์ไม่ได้สงวนสิทธิจะเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แผนฟื้นฟูกิจการมีข้อตกลงว่าเจ้าหนี้จะไม่เรียกร้องเอาจากผู้ค้ำประกันอีก จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ การโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ตามฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นการแปลงหนี้ใหม่ หนี้เดิมจึงระงับทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เคยลงนามในแบบพิมพ์สัญญาค้ำประกันที่ยังไม่ได้กรอกข้อความสัญญาค้ำประกันจึงเป็นเอกสารปลอม ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ ดอกเบี้ยส่วนที่เกิน 5 ปี ตามฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า บริษัทกระดาษศรีสยาม จำกัดทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์ ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์เป็นเงินต้นจำนวน 235,000,000 บาท เป็นดอกเบี้ยจำนวน 63,196,569.22 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 298,196,569.22 บาท ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทกระดาษศรีสยาม จำกัด ฟื้นฟูกิจการ โดยศาลล้มละลายกลางเห็นชอบด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการตามแผนฟื้นฟูกิจการเอกสารหมาย ล. 18 และตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง โดยแผนฟื้นฟูกิจการเอกสารหมาย ล.18 บริษัทกระดาษศรีสยาม จำกัด ต้องชำระในมูลหนี้เดียวกับที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้เป็นจำนวนเงิน 52,845,247 บาท ซึ่งบริษัทกระดาษศรีสยาม จำกัด ได้ชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการให้แก่เจ้าหนี้ครบถ้วนรวมทั้งโจทก์ด้วย หลังจากนั้นศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของบริษัทกระดาษศรีสยาม จำกัด ต่อมาโจทก์นำหนี้ในมูลหนี้เดียวกันกับที่บริษัทกระดาษศรีสยาม จำกัด ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางมาฟ้องให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดในหนี้ที่ยังเหลืออยู่ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยอ้างเหตุผลว่าโจทก์ย่อมไม่สามารถนำหนี้ตามฟ้องซึ่งเป็นมูลหนี้เดียวกันมาฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันให้รับผิดและฟ้องบังคับจำนองได้อีกเนื่องจากหนี้ดังกล่าวระงับสิ้นแล้วตามแผนฟื้นฟูกิจการเอกสารหมาย ล.18 ข้อ 6.3.1.3 (3) ข้อ 6.3.1.4 (2) (3) ข้อ 6.3.3 ที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง บัญญัติว่า คำสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน…นั้น ซึ่งมีความหมายว่าผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนมีผลเฉพาะตัวลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการเท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน แล้วมาผูกพันตามหนี้ที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนบุคคลอื่นซึ่งต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้จะต้องรับผิดเช่นไรต้องเป็นไปตามกฎหมายต่างๆ ซึ่งว่าต้องความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ดังนี้ ในส่วนตัวลูกหนี้ย่อมได้รับการปลดเปลื้องความรับผิดในส่วนที่ขาดโดยผลของกฎหมายฟื้นฟูกิจการแต่ในส่วนผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดก็เมื่อหนี้นั้นได้ระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 การที่แผนฟื้นฟูกิจการในคดีนี้กำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดไปเสียทีเดียวย่อมเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสองดังกล่าว อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อกำหนดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ส่วนที่ยังขาด โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง โจทก์อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่หรือไม่ เมื่อศาลฎีกวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องแล้ว จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์เช่นนี้ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียง 200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1 ข้อ 2 (ก) แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามา 600,000 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินมาแก่โจทก์”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ ให้คืนค่าขึ้นศาลฎีกาส่วนที่เกินมาแก่โจทก์

Share