แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้พยานโจทก์ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ในคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยอมให้ ม. เอาอาวุธปืนซึ่งเป็นของบิดาจำเลยที่ 1 ไปเหน็บไว้ที่เอวก่อนพากันออกจากบ้านจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมพร้อมใจให้ ม. ใช้อาวุธดังกล่าวกระทำความผิดขณะเดินทางไปด้วยกัน ถือว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะมีส่วนร่วมกระทำความผิดตั้งแต่ต้น และในขณะ ม. ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายกับพวกนั้น รถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 อยู่ห่างจากรถจักรยานยนต์ของ ม. ประมาณ 1 ถึง 2 เมตร ซึ่งเป็นระยะใกล้กันพอที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ และก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 กับพวกได้พากันขับรถจักรยานยนต์ผ่านผู้เสียหายกับพวกไปแล้ว จึงได้พากันขับรถจักรยานยนต์ย้อนกลับมาและหลังจาก ม. ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายกับพวก จำเลยที่ 1 กับพวกได้ยกมือขึ้นแสดงความดีใจ แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันรู้เห็นและพร้อมใจกันมากระทำความผิด มิใช่เป็นเหตุการณ์ที่ ม. ตัดสินใจกระทำความผิดเฉพาะหน้าเพียงผู้เดียว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, 376 ประกอบมาตรา 80, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง แม้ในขณะกระทำความผิดจำเลยทั้งสองมีอายุไม่ถึงยี่สิบปี แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองรู้ผิดชอบชั่วดีแล้ว จึงไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ จำเลยทั้งสองกระทำความผิดหลายกรรม ลงโทษทุกกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและยิงปืนโดยใช่เหตุเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 12 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 13 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามคงจำคุกคนละ 8 ปี 8 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2547 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ได้นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของนายอานนท์โดยมีนายมงคล มีอาวุธปืนรีวอลเวอร์ขนาด .38 หมายเลขทะเบียน กท. 2317429 ของนายสนิท บิดาจำเลยที่ 1 พร้อมกระสุนปืนไม่ปรากฏขนาดและจำนวนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และพาอาวุธปืนดังกล่าวไปในบริเวณถนนศรีสุริยวงศ์ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว และไม่เป็นกรณีที่ต้องมีอาวุธปืนติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นหรือเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์และไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของนายกุ้ง และจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่นายปฏิคมแผ้วสมบูรณ์เป็นคนขับพากันไปบริเวณที่เกิดเหตุ แล้วนายมงคลที่ไปด้วยกันกับจำเลยที่ 1 และพวก ได้ใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวยิงพยายามฆ่าผู้เสียหายกระสุนปืนถูกบริเวณขาข้างขวาของผู้เสียหาย แล้วนายมงคลและจำเลยที่ 1 กับพวก พากันหลบหนีไป มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืนหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจโทจุฬาชัย พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ชั้นสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยที่ 1 ว่าร่วมพยายามฆ่ามีและพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะเช่นเดียวกับในชั้นจับกุม จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและรับว่าอาวุธปืนของกลางนั้นเป็นของบิดาจำเลยที่ 1 นำมาเพื่อใช้ป้องกันตัวโดยพวกของจำเลยที่ 1 ซึ่งหลบหนีไปได้ชื่อนายแย้ม (ที่ถูก ควรเป็นนายมงคล แย้มอยู่วงศ์) เป็นคนเอาอาวุธปืนดังกล่าวไปพกและเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มผู้เสียหาย เห็นว่า บันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนนั้น กระทำขึ้นในวันรุ่งขึ้นจากวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ยังไม่มีเวลาที่จะปรุงแต่งเรื่องบิดเบือนข้อเท็จจริง จึงเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและรายละเอียดด้วยความจริงโดยสมัครใจ คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง การที่จำเลยที่ 1 มอบอาวุธปืนของบิดา จำเลยที่ 1 ให้นายมงคลเอาไปพก แล้วจำเลยที่ 1 ได้ออกไปยังที่เกิดเหตุด้วยกันกับนายมงคล จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับนายมงคลมีและพกพาอาวุธปืนดังกล่าวไปยังที่เกิดเหตุ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 นำสืบว่า ก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 สัปดาห์ นายมงคล ไปหาจำเลยที่ 1 ที่บ้านและเอาอาวุธปืนที่ใช้ยิงผู้เสียหายซึ่งเป็นของบิดาจำเลยที่ 1 ติดตัวไป คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่รู้ว่านายมงคลพาอาวุธปืนดังกล่าวไปด้วยนั้นก็เป็นการกล่าวอ้างขึ้นภายหลัง แตกต่างจากคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ โจทก์ผู้เสียหาย นายสุพจน์ นายอนุรักษ์ นายทศพร และนายสุทธิพงษ์ เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า วันเกิดเหตุ พยานทั้งห้านำรถยนต์กระบะไปจอดเพื่อซื้อของที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นบริเวณที่เกิดเหตุ พยานทั้งห้านำรถยนต์กระบะไปจอดเพื่อซื้อของที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 6 คน ขับรถจักรยานยนต์มาคันละ 2 คน ผ่านบริเวณที่พยานทั้งห้ายืนอยู่ กลุ่มจำเลยทั้งสองกับพวกตะโกนด่าพยานทั้งห้า จากนั้นวัยรุ่นในกลุ่มจำเลยทั้งสองใช้อาวุธปืนยิงมาทางผู้เสียหายกับพวก 5 ถึง 6 นัด ก่อนพากันหลบหนีไป กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ต้นขาขวา หลังจากพวกของจำเลยที่ 1 ยิงปืนแล้ว จำเลยทั้งสองกับพวกต่างยกมือแสดงความดีใจ บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากไฟสาธารณะที่เกาะกลางถนนและหน้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น สามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจน และร้อยตำรวจโทจุฬาชัย พนักงานสอบสวนเบิกความว่า พยานไปตรวจที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 3 นาฬิกา ของวันที่ 9 กันยายน 2547 บริเวณที่เกิดเหตุเป็นถนนสี่ช่องเดินรถ มีเสาไฟฟ้าตลอดสองข้างทางสามารถมองเห็นชัดเจนในระยะ 50 เมตร พบรอยโลหิตบริเวณทางเท้าหน้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมคนร้ายได้ 3 คน คือจำเลยทั้งสองและนายปฏิคม จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพว่าพวกของจำเลยทั้งสองคนหนึ่งได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย เห็นว่า ผู้เสียหาย นายสุพจน์ นายอนุรักษ์ นายทศพร นายสุทธิพงษ์ และร้อยตำรวจโทจุฬาชัย พยานโจทก์ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิดความปรักปรำจำเลยที่ 1 พยานโจทก์เบิกความได้สอดคล้องต้องกันสมเหตุผล จึงเชื่อได้ว่าพยานโจทก์เบิกความตามความจริง คดีนี้แม้ว่าพยานโจทก์ต่างยืนยันว่าจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ในคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยอมให้นายมงคลเอาอาวุธปืนซึ่งเป็นของบิดาจำเลยที่ 1 ไปเหน็บไว้ที่เอวก่อนพากันออกจากบ้านจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมพร้อมใจให้นายมงคลใช้อาวุธดังกล่าวกระทำความผิดขณะเดินทางไปด้วยกัน ถือว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะมีส่วนร่วมกระทำความผิดตั้งแต่ต้นและในขณะนายมงคลใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายกับพวกนั้น รถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 อยู่ห่างจากรถจักรยานยนต์ของนายมงคลประมาณ 1 ถึง 2 เมตร ซึ่งเป็นระยะใกล้กันพอที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ และก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 กับพวกได้พากันขับรถจักรยานยนต์ผ่านผู้เสียหายกับพวกไปแล้วจึงได้พากันขับรถจักรยานยนต์ย้อนกลับมาและหลังจากนายมงคลใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายกับพวก จำเลยที่ 1 กับพวกได้ยกมือขึ้นแสดงความดีใจ จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันรู้เห็นและพร้อมใจกันมากระทำความผิด มิใช่เป็นเหตุการณ์ที่นายมงคลตัดสินใจกระทำความผิดเฉพาะหน้าเพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 ถูกจับกุมแทบจะทันทีหลังเกิดเหตุหากจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนร่วมกระทำความผิดจริงก็น่าจะให้การปฏิเสธ แต่ได้ความจากร้อยตำรวจโทจุฬาชัยซึ่งสอบสวนจำเลยที่ 1 ในวันเดียวกันกับที่จับกุมจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่าร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยมีอาวุธปืนตามบันทึกคำให้การ ดังนั้น บันทึกคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 จึงรับฟังได้เมื่อนำพยานหลักฐานประกอบอื่นของโจทก์มาสนับสนุนทำให้พยานโจทก์มีน้ำหนักแน่นแฟ้นรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกพยายามฆ่าผู้เสียหายตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน