คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7407/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อกระทำความผิด เพื่อพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุมเป็นการบรรยายฟ้องเพื่อให้ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ทำให้ผู้กระทำความผิดได้รับหนักขึ้นเท่านั้น ส่วนปัญหาว่ารถของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเป็นเรื่อง ๆ ไป คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 กับพวก ขับรถของกลางไปจอดรอด้านหน้า แล้วลงจากรถมาปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย เมื่อได้ทรัพย์แล้วก็พากันขึ้นรถของกลางหลบหนีไป เป็นเพียงใช้รถเพื่อสะดวกและรวดเร็วในการกระทำความผิดเท่านั้น ไม่ได้ใช้รถของกลางในการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยตรงแต่อย่างใดรถของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 295, 340, 340 ตรี, 357 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในข้อหารับของโจร
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก ประกอบมาตรา 340 ตรี และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ฐานชิงทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนและยานพาหนะ จำคุก 9 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 3 เดือน ฐานชิงทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนและยานพาหนะ จำคุก 4 ปี 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 15 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี ริบของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง และวรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง ให้คืนรถจักรยานยนต์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ในการปล้นทรัพย์ตามฟ้อง จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อกระทำความผิด พาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุมอันเป็นการบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษหนักขึ้นกว่าที่บัญญัติไว้อีกกึ่งหนึ่งในกรณีที่มียานพาหนะมาเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามที่ได้ระบุไว้ใน 3 กรณี คือ ผู้กระทำความผิดใช้ยานพาหนะในการกระทำความผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ดังนั้น บทบัญญัติมาตรา 340 ตรี จึงเป็นเพียงบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษหนักขึ้นเท่านั้น หาได้บัญญัติให้ถือว่ายานพาหนะนั้นเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดด้วยไม่ แม้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ได้พร้อมรถจักรยานยนต์ของกลางและจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพก็ยังฟังไม่ได้ว่ารถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง ปัญหาที่ว่ารถจักรยานยนต์ของกลางซึ่งผู้กระทำความผิดใช้เป็นยานพาหนะจะเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดซึ่งศาลพึงสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามพฤติการณ์ของการกระทำผิดเป็นเรื่อง ๆ ไป คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 กับพวกขับรถจักรยานยนต์ของกลางผ่านผู้เสียหายไปแล้วไปหยุดรอด้านหน้าผู้เสียหาย จากนั้นพวกของจำเลยที่ 1 ลงจากรถจักรยานยนต์ของกลางเดินไปหาผู้เสียหายแล้วใช้อาวุธปืนตีศรีษะผู้เสียหายและแย่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายไป หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มารับพวกของจำเลยที่ 1 หลบหนีไป พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 กับพวกคงฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกมีเจตนาใช้รถจักรยานยนต์ของกลางไปและกลับจากการกระทำความผิด เพื่อให้พ้นจากการจับกุมโดยสะดวกและรวดเร็วเท่านั้น ไม่ได้ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นพาหนะในการกระทำผิดชิงทรัพย์โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายโดยตรงแต่อย่างใด รถจักรยานยนต์ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินอันพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share