แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิงนั้นยินยอม ส่วนความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานพรากเด็ก ฯ ด้วย ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ต่อมาจำเลยขอถอนอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตแล้ว ย่อมมีผลทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นฐานกระทำชำเราเด็กหญิง ฯ เด็ดขาดเฉพาะจำเลย ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานพรากเด็ก ฯ ตามอุทธรณ์ของโจทก์ด้วย จำเลยมีสิทธิฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะในความผิดฐานพรากเด็ก ฯ ได้เท่านั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยยื่นฎีกาโดยขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยสถานเบาหรือลดโทษแก่จำเลย ซึ่งหมายถึงขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจกำหนดโทษให้จำเลยเสียใหม่ทั้งสองฐานความผิด การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อหากระทำชำเราเด็กหญิง ฯ ซึ่งเด็ดขาดไปแล้ว จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนในความผิดฐานพรากเด็ก ฯ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกา มีผลทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในความผิดฐานนี้เป็นอันถึงที่สุดไปด้วย ศาลฎีกาย่อมไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้เช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 4 ปี รวมจำคุก 12 ปี ความผิดฐานอื่นให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาตและให้จำหน่ายอุทธรณ์ของจำเลยออกจากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 15 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกของความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปีเป็นจำคุก 27 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ก่อนว่า ศาลฎีกาจะรับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาหรือฐานความผิดพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารและฐานความผิดกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอมรวมข้อหาละ 3 กระทง จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิงนั้นยินยอมโดยให้จำคุกในอัตราขั้นต่ำสุดของความผิดนี้กระทงละ 4 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 12 ปี ส่วนความผิดฐานอื่นให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารด้วย ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง แต่ต่อมาจำเลยขอถอนอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตแล้ว ซึ่งย่อมมีผลทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิงนั้นยินยอมเป็นอันเด็ดขาดเฉพาะจำเลย ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารตามอุทธรณ์ของโจทก์ด้วย โดยให้ลงโทษจำคุกในอัตราขั้นต่ำสุดของความผิดนี้กระทงละ 5 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 15 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกของศาลชั้นต้นในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเป็นจำคุก 27 ปี จำเลยย่อมมีสิทธิฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารได้เท่านั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยยื่นฎีกาโดยขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยสถานเบาหรือลดโทษจำเลย ซึ่งย่อมมีความหมายถึงขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจกำหนดโทษให้จำเลยเสียใหม่ทั้งสองฐานความผิด การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิงนั้นยินยอม ซึ่งเด็ดขาดเฉพาะจำเลยไปแล้วจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาโดยให้เหตุผลว่าจำเลยไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในข้อหาดังกล่าวจึงถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้น เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาในฐานความผิดดังกล่าวย่อมมีผลทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารเป็นอันถึงที่สุดไปแล้วด้วย ศาลฎีกาย่อมไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้เช่นกัน
พิพากษายกฎีกาจำเลย.