คำวินิจฉัยที่ 33/2554

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๓/๒๕๕๔

วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)

ศาลแพ่งธนบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งธนบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ บริษัทวรจักร์ยนต์ จำกัด โจทก์ บริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) โจทก์ร่วม ยื่นฟ้องบริษัทจัตุรถาภรณ์ จำกัด ที่ ๑ นายณัตธพงษ์ ศิริวัฒนกุล ที่ ๒ นางสิริพร พลสยม ที่ ๓ นายนิพนธ์ อินทรทัต ที่ ๔ นายสามารถ ละอองจันทร์ ที่ ๕ จำเลย กรมการขนส่งทางบก ที่ ๑ นางสุชาดา อัมพผลิน ที่ ๒ จำเลยร่วม ต่อศาลแพ่งธนบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐๘/๒๕๕๑ ความว่า เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน ๒๕๔๙ จำเลยที่ ๑ ซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ สีขาว หมายเลขเครื่องยนต์ ๑ เคดี ๙๖๙๙๗๓๘ จากโจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในฐานะกรรมการบริษัทจำเลยที่ ๑ และในฐานะส่วนตัวได้นำรถยนต์คันพิพาทไปขอสินเชื่อและทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ในราคา ๑,๐๙๘,๖๗๒.๘๔ บาท บริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ได้มอบหมายให้โจทก์เป็นผู้จดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทในนามบริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๙ จำเลยที่ ๒ ได้ขอหลักฐานเอกสารชุดจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทจากโจทก์ อ้างว่าจะนำไปจองหมายเลขทะเบียนรถยนต์ต่อกรมการขนส่งทางบกแล้วจะนำมาคืนให้ แต่หลังจากที่ได้รับหลักฐานเอกสารชุดจดทะเบียนฯ ไปแล้ว จำเลยที่ ๒ ไม่นำมาคืนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงทวงถาม จำเลยที่ ๒ อ้างว่า ได้จดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทให้เป็นชื่อของบริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) และมอบทะเบียนรถยนต์ให้แก่บริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) แล้ว แต่เมื่อโจทก์ขอให้จำเลยที่ ๒ ส่งสำเนาทะเบียนรถยนต์ที่อ้างว่าได้จดทะเบียนเสร็จแล้วแก่โจทก์ จำเลยที่ ๒ ก็ไม่ได้นำมาให้โจทก์แต่อย่างใด ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑ บริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งให้โจทก์จดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทให้แก่บริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) โจทก์จึงตรวจสอบและพบว่า จำเลยที่ ๕ ปลอมหนังสือมอบอำนาจของบริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ว่า บริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๕ จดทะเบียนรถยนต์คันพิพาท จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ในฐานะกรรมการและในฐานะส่วนตัวกับจำเลยที่ ๓ ได้มอบอำนาจให้แก่จำเลยที่ ๕ เป็นผู้ดำเนินการแทนและจำเลยที่ ๕ นำเอกสารต่างๆ ของโจทก์และบริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) และหนังสือมอบอำนาจไปดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทแล้วโอนกรรมสิทธิ์เป็นของจำเลยที่ ๓ ส่วนจำเลยที่ ๔ ได้ออกหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ ๓ ใช้ภูมิลำเนาของจำเลยที่ ๔ เป็นสถานที่จอดรถยนต์ เพื่อที่จำเลยที่ ๕ จะสามารถจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทได้ที่กรมการขนส่งทางบก กรุงเทพมหานคร การกระทำของจำเลยทั้งห้าที่ร่วมกันทำนิติกรรมฉ้อฉล ทำเอกสารเท็จ ปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนางสุชาดา อัมพผลิน ทำให้นางสุชาดาจดทะเบียนและโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าวไปเป็นของจำเลยที่ ๓ ทำให้โจทก์ในฐานะผู้ขายและมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทให้เป็นชื่อบริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าว โดยให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์จากชื่อของจำเลยที่ ๓ เป็นของบริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) และให้ส่งมอบสมุดทะเบียนรถยนต์ที่แก้ไขแล้วให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ยอมร่วมกันไปเพิกถอนการจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทตามคำพิพากษาของศาลและไม่ยอมคืนสมุดทะเบียนให้แก่โจทก์ ขอถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกบริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาตจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๕ ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีนี้เนื่องจากโจทก์มิได้ถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกกรมการขนส่งทางบกและนางสุชาดา อัมพผลิน เข้ามาเป็นจำเลยร่วมที่ ๑ และที่ ๒ ตามลำดับ โดยอ้างว่าหากภายหลังศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทย่อมแสดงว่าจำเลยร่วมทั้งสองมีส่วนในการทำละเมิดเพราะจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับของจำเลยร่วมที่ ๑ จะต้องถูกไล่เบี้ยให้เป็นผู้เพิกถอนและแก้ไขการจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทให้ถูกต้อง ศาลอนุญาตจำเลยร่วมทั้งสองให้การว่า การดำเนินการรับคำขอจดทะเบียนรถยนต์และการจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยร่วมทั้งสองได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบความถูกต้องตามขั้นตอนและจดทะเบียนให้ตามระเบียบ คำสั่งและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมิได้บกพร่องหรือฝ่าฝืนระเบียบกฎหมายแต่อย่างใด จำเลยร่วมทั้งสองมิได้กระทำละเมิดต่อบุคคลใดที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาททั้งสิ้น โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกคำร้องขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมของจำเลยที่ ๓ และขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งธนบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าเป็นกรณีพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกันซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนกรณีของจำเลยร่วมทั้งสองที่ถูกกล่าวอ้างว่ากระทำละเมิดโดยฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งในการวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยร่วมทั้งสองว่าได้กระทำละเมิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาถึงการกระทำของจำเลยทั้งห้าเสียก่อนแล้วจึงจะพิจารณาถึงการกระทำของจำเลยร่วมทั้งสองและเมื่อมีการกล่าวอ้างว่าจำเลยร่วมทั้งสองกระทำละเมิดโดยฝ่าฝืนต่อระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมายโดยจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทเป็นชื่อจำเลยที่ ๓ เป็นการกระทำที่สืบเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยทั้งห้า มูลความแห่งคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมทั้งสอง จึงเป็นกรณีที่มีมูลความแห่งคดีเดียวกัน ชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียวกันเพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การจะพิจารณาว่าคดีใดอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองนั้น จำต้องพิจารณาจากเหตุแห่งการฟ้องคดีประกอบคำขอให้มีการแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับ และในการพิจารณากรณีที่คดีเรื่องใดมีการฟ้องเอกชนและฟ้องหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำเลยหรือผู้ถูกฟ้องคดีในคดีเดียวกันว่าจะเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองหรือศาลยุติธรรมนั้น ก็จำต้องพิจารณาว่า ส่วนที่เป็นสาระสำคัญของการกระทำหรือเหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากฝ่ายเอกชนหรือเกิดจากฝ่ายปกครอง หากส่วนที่เป็นสาระสำคัญของการกระทำหรือเหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแล้ว กรณีก็จะถือว่าอยู่ในเขตอำนาจของศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการกระทำของฝ่ายนั้นทั้งคดี ทั้งนี้ โดยไม่จำต้องคำนึงถึงจำนวนของจำเลยหรือผู้ถูกฟ้องคดีว่าเป็นฝ่ายเอกชนมากกว่าหรือน้อยกว่าที่เป็นฝ่ายปกครอง และโดยไม่อาจพิจารณาว่ามีปัญหาหรือประเด็นใดที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยก่อนหรือหลังปัญหาหรือประเด็นอื่น เพราะไม่มีผลเกี่ยวข้องกับอำนาจของศาลในการพิพากษาหรือกำหนดคำบังคับเพื่อแก้ไขเยียวยาความเสียหายตามความประสงค์ของโจทก์หรือผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด แม้การบรรยายฟ้องในคดีนี้เป็นเรื่องที่กล่าวหาการกระทำของจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นเอกชนที่ร่วมกันทำนิติกรรมฉ้อฉล ทำเอกสารเท็จ ปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ทำให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวจดทะเบียนและโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทเป็นของจำเลยที่ ๓ ก็ตาม แต่การที่โจทก์มีคำขอโดยมุ่งให้มีการเพิกถอนการจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาท ซึ่งเป็นการแก้ไขเยียวยาความเสียหายของโจทก์นั้น เป็นกรณีที่จะต้องมีการพิพากษาหรือสั่งต่อฝ่ายปกครองซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนดังกล่าว ฉะนั้น เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จึงได้แก่ การโต้แย้งว่าการจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งการที่ต่อมาจำเลยที่ ๓ ได้ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและจำเลยร่วมที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเป็นจำเลยร่วมนั้น ก็เห็นได้ว่า จำเลยที่ ๓ เห็นว่า การแก้ไขเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามคำฟ้องเป็นกรณีที่มุ่งต่อการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ของฝ่ายปกครองเช่นกัน ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเมื่อการกระทำที่เป็นส่วนสำคัญอันเป็นเหตุแห่งการฟ้อง คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง คดีนี้ทั้งคดีจึงชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลซึ่งมีเขตอำนาจในคดีที่กล่าวหาการกระทำที่เป็นส่วนสำคัญอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีเพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันต่อศาลแพ่งธนบุรี ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในฐานะกรรมการบริษัทจำเลยที่ ๑ และในฐานะส่วนตัวได้นำรถยนต์คันพิพาทซึ่งซื้อมาจากโจทก์ ไปขอสินเชื่อและทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ร่วม ซึ่งโจทก์อ้างว่าโจทก์ร่วมมอบหมายให้โจทก์เป็นผู้จดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทในนามโจทก์ร่วม ต่อมาจำเลยที่ ๒ ได้ขอหลักฐานเอกสารชุดจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทจากโจทก์โดยอ้างว่าจะนำไปจองหมายเลขทะเบียนรถยนต์ แต่หลังจากที่ได้รับหลักฐานเอกสารชุดจดทะเบียนฯ ไปแล้ว จำเลยที่ ๒ ไม่นำมาคืนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงทวงถาม จำเลยที่ ๒ อ้างว่า ได้จดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทให้เป็นชื่อของโจทก์ร่วมและมอบทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ร่วมแล้ว ต่อมาโจทก์ร่วมได้แจ้งให้โจทก์จดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม โจทก์จึงตรวจสอบและพบว่า จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันทำนิติกรรมฉ้อฉล ทำเอกสารเท็จ ปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อจำเลยร่วมที่ ๒ ทำให้จำเลยร่วมที่ ๒ จดทะเบียนและโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทไปเป็นของจำเลยที่ ๓ ทำให้โจทก์ในฐานะผู้ขายและมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทให้เป็นชื่อโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาท โดยให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์จากชื่อของจำเลยที่ ๓ เป็นของโจทก์ร่วม และให้ส่งมอบสมุดทะเบียนรถยนต์ที่แก้ไขแล้วให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ยอมร่วมกันไปเพิกถอนการจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทตามคำพิพากษาของศาลและไม่ยอมคืนสมุดทะเบียนให้แก่โจทก์ ขอถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๕ ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีนี้เนื่องจากโจทก์มิได้ถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การ เห็นว่า มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ เกิดจากการที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันทำนิติกรรมฉ้อฉล ทำเอกสารเท็จ ปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อจำเลยร่วมที่ ๒ ทำให้จำเลยร่วมที่ ๒ จดทะเบียนและโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทไปเป็นของจำเลยที่ ๓ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คดีนี้จึงเป็นเพียงคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนการที่ศาลมีหมายเรียกให้จำเลยร่วมที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยร่วมที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เข้ามาในคดีตามคำร้องของจำเลยที่ ๓ นั้น เนื่องจากจำเลยร่วมทั้งสองอาจถูกฟ้องร้องให้เป็นผู้เพิกถอนและแก้ไขการจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทให้ถูกต้อง การเรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาในคดีมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้การบังคับตามคำขอของโจทก์กรณีมีการเพิกถอนการจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทเป็นไปด้วยความสะดวก ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๓) อนุญาตให้คู่ความสามารถใช้สิทธิร้องให้บุคคลภายนอกสอดเข้ามาในคดีได้ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการพิจารณาพิพากษาคดี โจทก์มิได้ประสงค์จะฟ้องร้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยร่วมทั้งสองเพื่อให้ร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งห้าแต่อย่างใด
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทวรจักร์ยนต์ จำกัด โจทก์ บริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) โจทก์ร่วม บริษัทจัตุรถาภรณ์ จำกัด ที่ ๑ นายณัตธพงษ์ ศิริวัฒนกุล ที่ ๒ นางสิริพร พลสยม ที่ ๓ นายนิพนธ์ อินทรทัต ที่ ๔ นายสามารถ ละอองจันทร์ ที่ ๕ จำเลย กรมการขนส่งทางบก ที่ ๑ นางสุชาดา อัมพผลิน ที่ ๒ จำเลยร่วม อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share