คำวินิจฉัยที่ 22/2554

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๒/๒๕๕๔

วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๔

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๒ นายสุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ โจทก์ ยื่นฟ้องนายธัชชัย สุมิตร ที่ ๑ กับพวกรวม ๓๔ คน จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๙/๒๕๕๒ ความว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ เป็นคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มีอำนาจและหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนจำเลยที่ ๒๕ ถึงที่ ๒๗ มีตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำเลยที่ ๒๘ ถึงที่ ๓๒ มีตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และจำเลยที่ ๓๓ ถึงที่ ๓๔ เป็นพนักงานสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๙ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ แต่งตั้งโจทก์เป็นผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีวาระ ๔ ปี ซึ่งโจทก์และสถาบันทำบันทึกข้อตกลงการปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าวกำหนดหน้าที่ วิธีปฏิบัติงาน และเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ไว้ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ แต่งตั้งจำเลยที่ ๑๙ ถึงที่ ๒๔ เป็นคณะกรรมการประเมินผลเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ แต่จำเลยที่ ๑๙ ถึงที่ ๒๔ ไม่ได้ใช้หลักเกณฑ์ประเมินผลที่โจทก์ทำกับสถาบัน อ้างว่าหลักเกณฑ์ประเมินผลดังกล่าวไม่เพียงพอ และจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ เห็นชอบให้จัดทำร่างเกณฑ์ประเมินผลใหม่โดยให้ปรึกษาหารือกับโจทก์อย่างใกล้ชิดและให้ยึดแนวทางที่ปรากฏในบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับสถาบัน แต่จำเลยที่ ๑๙ ถึงที่ ๒๔ ไม่ได้ปรึกษาหารือกับโจทก์และไม่ได้ยึดแนวทางที่ปรากฏในบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับสถาบันในการจัดทำร่างหลักเกณฑ์ประเมินผลขึ้นใหม่ โดยกำหนดเกณฑ์การประเมินว่าผู้รับการประเมินจะต้องได้รับคะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ และจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ ให้ความเห็นชอบ ทั้งให้โจทก์จัดทำแผนปรับปรุงการทำงานของตนเองซึ่งไม่อยู่ในบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับสถาบัน ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ ลงมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการ โดยให้เหตุผลว่าแผนปรับปรุงการทำงานของโจทก์ไม่เป็นแผนงานพัฒนาองค์กรแบบก้าวกระโดดและขาดภาวะผู้นำ ถือว่าการปฏิบัติงานของโจทก์บกพร่องต่อหน้าที่ การกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ เป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ที่ปราศจากความเป็นธรรม ไม่ยึดถือข้อตกลงตามสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับสถาบัน โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ จำเลยที่ ๑ ในฐานะประธานคณะกรรมการสถาบันได้ออกประกาศแจ้งมติคณะกรรมการครั้งที่ ๔๐๔/๒/๒๕๕๑ กรณีให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง และมีคำสั่งให้ออกหนังสือเวียนแจ้งข้อความในประกาศดังกล่าวส่งไปยังทุกหน่วยงานของสถาบัน เพื่อให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน ทั้งที่เป็นการประชุมลับ ส่วนจำเลยที่ ๒๕ ถึงที่ ๓๔ ร่วมกันทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นกล่าวหาโจทก์ว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความแตกแยกในองค์กร นอกจากนี้จำเลยที่ ๒๕ ที่ ๓๓ และที่ ๓๔ ได้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ภายในองค์กรสถาบัน ใส่ความโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งหมดดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามสิบสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ กับให้ลงข้อความขอโทษในหนังสือพิมพ์รายวัน ๓ ฉบับ เป็นระยะเวลาติดต่อกัน ๗ วัน
จำเลยทั้งสามสิบสี่ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ ประเมินโจทก์ด้วยความเป็นธรรมถูกต้องตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ และไม่ได้กลั่นแกล้งโจทก์ การแจ้งมติของคณะกรรมการเป็นการแจ้งข่าวการประชุมมิได้บิดเบือนไปจากมติของคณะกรรมการ และข้อความที่แจ้งก็ไม่ได้ทำให้โจทก์ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง และไม่เป็นการจงใจทำลายชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ ไม่เคยออกคำสั่งให้ออกหนังสือเวียน และไม่เคยแพร่ข่าวลงหนังสือพิมพ์ การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ ๒๕ ถึงที่ ๓๔ เป็นการสื่อสารกับพนักงานของสถาบันด้วยความชอบธรรม และไม่มีข้อความใดกล่าวใส่ร้ายโจทก์อันจะทำให้โจทก์ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง การเขียนบทความลงในจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ ๓๔ เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตอยู่ในวิสัยย่อมกระทำได้และไม่ทำให้โจทก์ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ค่าเสียหายสูงเกินส่วน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามสิบสี่ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบกรณีมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งอันเป็นคำสั่งทางปกครอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ทั้งโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ และคณะรัฐมนตรี ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๘๙๐/๒๕๕๑ อ้างว่าโจทก์ได้รับความเสียหายและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประเมินผลการปฏิบัติงาน และลงมติให้พ้นจากตำแหน่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับคดีนี้
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๔๑ มีวัตถุประสงค์ในการริเริ่ม ดำเนินการ ส่งเสริม ประสาน และจัดให้มีการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาหลักสูตร วิธีการเรียนรู้ วิธีสอน และการประเมินผลการเรียนการสอนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก ฯลฯ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามความหมายในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของสถาบัน ในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของสถาบันโจทก์ย่อมเป็นผู้แทนของสถาบันด้วย ดังนั้นสัญญาแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้อำนวยการสถาบัน จึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่าจ้างให้โจทก์เป็นผู้แทนของสถาบัน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง โดยมีจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ เป็นคณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสถาบัน และโดยเฉพาะมีอำนาจและหน้าที่ออกข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน ฯลฯ จึงเป็นคณะกรรมการหรือบุคคลซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ คำสั่ง หรือมติใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล ดังนั้น จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องโดยอ้างว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ ประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ที่ปราศจากความเป็นธรรมไม่ยึดถือข้อตกลงตามสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับสถาบัน โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันก่อนครบกำหนดวาระ จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีลักษณะเป็นคดีปกครอง อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยลงมติในการประชุมคณะกรรมการของสถาบันให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการของสถาบันโดยระบุว่า “โจทก์บกพร่องต่อหน้าที่” แล้วนำไปเผยแพร่ต่อบุคคลทั่วไป เพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียง และยังได้เผยแพร่ต่อสื่อมวลชน เหตุดังกล่าวก็สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ มีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันจึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒๕ ถึงที่ ๓๔ นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ ประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์โดยไม่ยึดถือข้อตกลงตามสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับสถาบันและมีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งทั้งยังมีคำสั่งให้ออกหนังสือเวียนเพื่อแจ้งเรื่องให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งส่งไปยังทุกหน่วยงานของสถาบันจึงเป็นการดำเนินการตามหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนี้ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒๕ ถึงที่ ๓๔ จึงมีมูลความแห่งคดีเกี่ยวเนื่องกับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ และเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวเนื่องกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเกี่ยวเนื่องกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันมีลักษณะเป็นคดีปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ชึ่งอยู่ในอำนาจของศาลปกครองเช่นกัน
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ เป็นคณะกรรมการสถาบัน จำเลยที่ ๒๕ ถึงที่ ๒๗ มีตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการสถาบัน จำเลยที่ ๒๘ ถึงที่ ๓๒ มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบัน และจำเลยที่ ๓๓ ถึงที่ ๓๔ เป็นพนักงานของสถาบัน ดังนั้น จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓๔ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ โดยจำเลยที่ ๑ ในฐานะประธานคณะกรรมการสถาบัน ออกประกาศ เรื่อง แจ้งมติคณะกรรมการสถาบัน ครั้งที่ ๔๐๔/๒/๒๕๕๑ ที่มีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบัน ต่อมามีคำสั่งคณะกรรมการสถาบัน ที่ ๒/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๑ ให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานบรรลุวัตถุประสงค์และให้ถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่ จากนั้นจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ มีคำสั่งให้ออกหนังสือเวียนเพื่อแจ้งข้อความในประกาศดังกล่าวส่งไปยังหน่วยงานภายในสถาบัน และแจ้งส่งข้อความเกี่ยวกับประกาศดังกล่าวทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ไปยังพนักงานสถาบันทุกคน ทั้งยังได้นำความดังกล่าวลงหนังสือพิมพ์อีกด้วย โดยที่มาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๔๑ บัญญัติให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ ในฐานะคณะกรรมการสถาบันมีอำนาจและหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสถาบัน และโดยเฉพาะมีอำนาจและหน้าที่ออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของสถาบัน และข้อบังคับว่าด้วยการออกจากตำแหน่งของผู้อำนวยการสถาบันหาได้บัญญัติให้มีอำนาจกระทำการดังที่โจทก์กล่าวหาแต่อย่างใดไม่ ประกอบกับการที่จำเลยที่ ๒๕ ถึงที่ ๓๔ ร่วมกันทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวหาโจทก์ว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความแตกแยก และขอให้พิจารณาให้ความเห็นชอบตามมติคณะกรรมการสถาบัน อีกทั้งจำเลยที่ ๒๕ ยังได้ทำจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ภายในสถาบัน โดยมีข้อความให้ร้ายโจทก์ส่งไปยังพนักงานของสถาบันด้วยนั้น พฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓๔ มิได้เป็นการกระทำโดยใช้อำนาจหน้าที่ แต่เป็นการกระทำในการปฏิบัติราชการหรือในฐานะส่วนตัวและเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น เข้าข่ายเป็นการกระทำละเมิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งนี้การจะพิจารณาว่าจำเลยทั้งสามสิบสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการดังกล่าวมากน้อยเพียงใดนั้นเป็นอำนาจพิจารณาตรวจสอบของศาลแพ่ง คำฟ้องนี้จึงไม่ใช่คดีปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คดีนี้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ เป็นคณะกรรมการสถาบัน จำเลยที่ ๒๕ ถึงที่ ๒๗ เป็นรองผู้อำนวยการสถาบัน จำเลยที่ ๒๘ ถึงที่ ๓๒ เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบัน และจำเลยที่ ๓๓ ถึงที่ ๓๔ เป็นพนักงานของสถาบัน จำเลยทั้งหมดจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสถาบัน และโดยเฉพาะมีอำนาจและหน้าที่ออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของสถาบัน และข้อบังคับว่าด้วยการออกจากตำแหน่งของผู้อำนวยการสถาบันตามพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๕ ได้กระทำการออกประกาศ เรื่อง แจ้งมติคณะกรรมการสถาบันให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบัน และมีคำสั่งคณะกรรมการสถาบันให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งโดยให้เหตุผลว่า โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานบรรลุวัตถุประสงค์และให้ถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่ ซึ่งโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ ประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ปราศจากความเป็นธรรม ไม่ยึดถือข้อตกลงตามสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับสถาบัน โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันก่อนครบกำหนดวาระ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และการที่โจทก์กล่าวหาว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ ได้ทำการประกาศให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งแล้ว จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมีคำสั่งให้ออกหนังสือเวียนเพื่อแจ้งข้อความในประกาศส่งไปยังหน่วยงานภายในสถาบัน และแจ้งส่งข้อความเกี่ยวกับประกาศทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ไปยังพนักงานสถาบันทุกคน และเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน เพื่อให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ทั้งที่เป็นการประชุมลับ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย พร้อมทั้งขอให้ชดใช้ค่าเสียหายด้วยนั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ ตามที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนการที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ ๒๕ ถึงที่ ๓๔ ร่วมกันทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นกล่าวหาโจทก์ว่า เป็นผู้ก่อให้เกิดความแตกแยกในองค์กร และจำเลยที่ ๒๕ ที่ ๓๓ และที่ ๓๔ ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ภายในองค์กรสถาบันใส่ความโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น ก็ล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ จึงเป็นมูลคดีที่เกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายสุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ โจทก์ นายธัชชัย สุมิตร ที่ ๑ กับพวกรวม ๓๔ คน จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share