คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 159/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีบาดแผล คือ 1) บาดแผลฉีกขาดที่บริเวณด้านบนศีรษะข้างซ้ายค่อนมาทางกึ่งกลางศีรษะยาว 7 เซนติเมตร ลึกถึงกะโหลกศีรษะ 2) บาดแผลที่ศีรษะด้านขวาเหนือใบหูยาว 7 เซนติเมตร ลึกถึงกะโหลดศีรษะ 3) บาดแผลที่ต้นคอด้านหลังขวายาว 5 เซนติเมตร 4) บาดแผลที่มือซ้ายตรงฐานนิ้วก้อยยาว 2 เซนติเมตร และบริเวณปลายนิ้วนางยาว 4 เซนติเมตร และได้ความจากนายแพทย์ผู้ตรวจรักษาผู้เสียหายว่าบาดแผลหลักหรือบาดแผลสำคัญคือบาดแผลดังกล่าว ซึ่งแสดงว่าถูกฟันหลายครั้งแต่ไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ทันที แต่ถ้าไม่รักษาอาจจะเกิดการติดเชื้อทำให้ถึงแก่ความตายได้ แม้ทางการแพทย์จะถือว่าไม่ร้ายแรง แต่การที่จำเลยกับพวกร่วมกันใช้มีดเฉพาะที่ยึดได้จากจำเลยยาว 15 นิ้ว กว้าง 2.5 นิ้ว เป็นอาวุธฟันที่ศีรษะผู้เสียหายอันเป็นอวัยวะสำคัญโดยแรงถึงกับกะโหลกศีรษะแตกร้าว ทั้งเป็นมีดที่มีขนาดใหญ่อาจใช้ทำร้ายคนให้ถึงแก่ชีวิตได้ เมื่อพิเคราะห์ถึงตำแหน่งและสภาพของบาดแผลดังกล่าวที่ต้องใช้เวลาในการรักษาบาดแผลนานประมาณ 6 สัปดาห์ ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาก็อาจติดเชื้อเป็นอันตรายถึงแก่ความตายได้ ย่อมแสดงว่าจำเลยกับพวกฟันผู้เสียหายโดยแรงบริเวณศีรษะอันเป็นอวัยวะสำคัญ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการทำร้ายผู้เสียหายโดยใช้มีดขนาดใหญ่เป็นอาวุธฟันลงไปที่ศีรษะโดยแรงเช่นนี้ผู้เสียหายได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2543 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกับพวกที่หลบหนีอีก 3 คน ร่วมกันใช้มีดเป็นอาวุธฟันศีรษะนายชาญชัย ผู้เสียหายหลายครั้งโดยเจตนาฆ่า เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บหลายแห่งกะโหลกแตกร้าว แผลลึกถึงศีรษะ ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ แต่แพทย์ได้รักษาผู้เสียหายได้ทันท่วงที ผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตาย เหตุเกิดที่ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบ 297 (8) จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 ให้จำคุก 10 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังที่กล่าวในฟ้อง ผู้เสียหายถูกคนร้ายรวม 3 คน ใช้มีดเป็นอาวุธฟังที่ศีรษะ คอ และมือซ้าย มีบาดแผลหลายแห่งตามรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ หลังจากเกิดเหตุจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวที่หน้าร้านเกิดเหตุพร้อมมีด 1 เล่มและรถจักรยานยนต์ 1 คัน ตามบัญชีของกลางคดีอาญา ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่งใน 3 คน ที่ร่วมกันใช้มีดเป็นอาวุธทำร้ายผู้เสียหาย โจทก์ฝ่ายเดียวเป็นผู้อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย ส่วนจำเลยมิได้ยื่นอุทธรณ์แต่ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ขอให้ยกฟ้องโจทก์หรือพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนข้ออ้างต่าง ๆ ในคำแก้อุทธรณ์เป็นเพียงเหตุผลประกอบคำแก้อุทธรณ์เท่านั้น ไม่ถือว่าจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ด้วย ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่งที่ร่วมกับผู้อื่นกระทำความผิดคดีนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ใช่คนร้ายคนหนึ่งที่ร่วมกับผู้อื่นกระทำความผิดคดีนี้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดเพียงฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลตามรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ คือ (1) บาดแผลฉีกขาดที่บริเวณด้านบนศีรษะข้างซ้ายค่อนมาทางกึ่งกลางศีรษะยาว 7 เซนติเมตร ลึกถึงกะโหลกศีรษะจากภาพถ่ายเอกซเรย์ พบกะโหลกศีรษะแตกร้าวเป็นทางยาวตามแนวบาดแผล (2) บาดแผลที่ศีรษะด้านขวาเหนือใบหูยาว 7 เซนติเมตร ลึกถึงกะโหลกศีรษะ (3) บาดแผลที่ต้นคอด้านหลังขวาขาว 5 เซนติเมตร (4) บาดแผลที่มือซ้ายตรงฐานนิ้วก้อยยาว 2 เซนติเมตร และบริเวณปลายนิ้วนางยาว 4 เซนติเมตร (5) บาดแผลฉีกขาดตื้น ๆ เป็นรอยกรีดที่บริเวณข้อศอกซ้ายยาว 6 เซนติเมตร ใต้ข้อศอกซ้ายยาว 5 เซนติเมตร ปลายนิ้วกลางซ้ายยาว 1 เซนติเมตร และแผ่นหลังจากสะบักซ้ายลงมาทางก้นขวายาว 35 เซนติเมตร กว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร (6) บาดแผลครูถลอกบริเวณด้านหลังหัวไหล่ขวาเป็นทางยาว 11 เซนติเมตร ด้านหลังแขนซ้ายเหนือข้อมือและก้นขวาขนาดกว้าง 2 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร (7) บาดแผลฟกช้ำและด้านหน้าหัวไหล่ซ้ายและได้ความจากนายแพทย์สุวิทย์ ผู้ตรวจรักษาผู้เสียหายว่าบาดแผลหลักหรือบาดแผลสำคัญคือ บาดแผลตามรายการที่ (1) ถึง (4) ซึ่งแสดงว่าถูกฟันหลายครั้งแต่ไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความได้ทันที แต่ถ้าไม่รักษาอาจจะเกิดการติดเชื้อทำให้ถึงแก่ความตายได้ แม้ทางการแพทย์จะถือว่าไม่ร้ายแรง แต่การที่จำเลยกับพวกร่วมกันใช้มีดเฉพาะที่ยึดได้จากจำเลยตามบัญชีของกลางคดีอาญา ยาว 15 นิ้ว กว้าง 2.5 นิ้ว เป็นอาวุธฟันที่ศีรษะผู้เสียหายอันเป็นอวัยวะสำคัญโดยแรงถึงกับกะโหลกศีรษะแตกร้าว ทั้งเป็นมีดที่มีขนาดใหญ่อาจใช้ทำร้ายคนให้ถึงแก่ชีวิตได้ เมื่อพิเคราะห์ถึงตำแหน่งและสภาพของบาดแผลดังกล่าวที่ต้องใช้เวลาในการรักษาบาดแผลนานประมาณ 6 สัปดาห์ ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาก็อาจติดเชื้อเป็นอันตรายถึงแก่ความตายได้ ย่อมแสดงว่าจำเลยกับพวกฟันผู้เสียหายโดยแรงบริเวณศีรษะอันเป็นอวัยวะสำคัญ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการทำร้ายผู้เสียหายโดยใช้มีดขนาดใหญ่เป็นอาวุธฟันลงไปที่ศีรษะโดยแรงเช่นนี้ ผู้เสียหายได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สมควรลงโทษจำเลยให้หนักขึ้น และไม่สมควรลดโทษให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยกับพวกรวม 3 คน ใช้มีดขนาดใหญ่เป็นอาวุธร่วมกันฟันผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีแผลหลายแห่งตามรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ แต่เมื่อจำเลยถูกจับกุมตัวก็ให้การรับสารภาพทันทีตามบันทึกการจับกุม ซึ่งเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง กรณีจึงมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยหลังจากลดโทษแล้วให้จำคุก 6 ปี 8 เดือน นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share