แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การคัดสำเนา พ.ร.ฎ.กำหนดไม้หวงห้ามฯ ประกาศไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 5 นั้นไม่ใช่องค์ประกอบความผิดข้อหาใดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ หากแต่เป็นเพียงวิธีการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำเพื่อมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดโต้แย้งว่ายังไม่ทราบ พ.ร.ฎ. ดังกล่าวเท่านั้น โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายเรื่องการคัดสำเนา พ.ร.ฎ. ดังกล่าวมาในฟ้องด้วย แม้โจทก์จะมิได้บรรยายเรื่องการคัดสำเนา พ.ร.ฎ. ดังกล่าวมาในฟ้อง ฟ้องโจทก์ก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์และชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
ไม้สักไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักรเป็นไม้หวงห้ามตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 7 วรรคหนึ่ง การตัดฟันจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 11 หากฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 73 วรรคสอง (1) ส่วนการมีไม้สักอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย ก็มีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 69 วรรคสอง (1) เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานทำไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีไม้สักอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม้ของกลางจึงเป็นไม้อันได้มาจากการกระทำความผิดต้องริบตามมาตรา 74
ความผิดฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตกับความผิดฐานรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์โดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร เนื่องจากการรับไว้โดยประการใด ๆ และการมีไว้ในครอบครองซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์ของกลางมีลักษณะที่เกี่ยวเนื่องเป็นการกระทำเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 5 ในสองฐานความผิดดังกล่าว จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 90 เมื่อความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีเท่ากันแต่คดีนี้ราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงิน 6,259 บาท หากมีการลงโทษปรับสูงสุดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิ จะลงโทษปรับได้เป็นเงิน 25,036 บาท แต่ตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา 17 วรรคหนึ่ง ลงโทษปรับได้สูงสุดหนึ่งแสนบาท จึงถือว่าโทษปรับตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา 17 วรรคหนึ่ง เป็นบทที่มีโทษหนักกว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 5, 6, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 6, 7, 11, 69, 73, 74, 74 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83, 91, 251 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 17 และขอให้ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 5 รับสารภาพในความผิดข้อหารับไว้ซึ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อหามีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 5 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 69 วรรคสอง (1)), 73 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 73 วรรคสอง (1)) พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 ปี ฐานมีไม้สักอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 4 ปี ฐานรับไว้ซึ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร จำคุก 1 ปี ฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำคุก 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 5 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาในความผิดฐานทำไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีไม้สักอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานทำไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน ฐานมีไม้สักอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุก 2 ปี 9 เดือน ความผิดฐานรับไว้ซึ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร และฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 5 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานทำไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน ฐานมีไม้สักอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครบอครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน ความผิดฐานรับไว้ซึ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร และฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 5 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานรับไว้ซึ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร คงจำคุก 6 เดือน ฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุก 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 4 ปี 28 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้ริบไม้สักและเลื่อยโซ่ยนต์ของกลาง
จำเลยที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 5 ในความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร คงจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 4 ปี 22 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2546 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานป่าไม้ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีผู้ลักลอบตัดไม้ที่บ้านทุ่งสะแก หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านขอ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพบไม้สักอายุประมาณ 25 ปี ถูกตัดรวม 59 ท่อน ปริมาตร 24.46 ลูกบาศก์เมตร และเลื่อยโซ่ยนต์พร้อมโซ่ 1 เครื่อง อยู่ในที่ดินที่นางคำครอบครองทำประโยชน์ จึงยึดเป็นของกลาง และจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ต้องหา ต่อมาวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 จำเลยที่ 5 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 ประการแรกว่า คำฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่สมบรูณ์และชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 5 อ้างในฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าได้มีการคัดสำเนาพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามฯ ประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอและที่ทำการกำนัน ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดและเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์นั้น เห็นว่า การคัดสำเนาพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามฯ ประกาศไว้ตามสถานที่ต่างๆ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 5 นั้นไม่ใช่องค์ประกอบความผิดข้อหาใดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ หากแต่เป็นเพียงวิธีการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำเพื่อมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดโต้แย้งว่ายังไม่ทราบพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเท่านั้น โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายเรื่องการคัดสำเนาพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาในฟ้องด้วย แม้โจทก์จะมิได้บรรยายเรื่องการคัดสำเนาพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาในฟ้อง ฟ้องโจทก์ก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์และชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 5 ฎีกาประการต่อไปว่า จำเลยที่ 5 ไม่มีเจตนากระทำความผิดฐานทำไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษจำเลยที่ 5 ฐานทำไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี 8 เดือน เมื่อโทษจำคุกจำเลยที่ 5 ไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 5 อ้างว่าขาดเจตนากระทำความผิด เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 5 มีเจตนากระทำความผิด ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 ประการสุดท้ายว่า ศาลมีอำนาจริบไม้สักของกลางหรือไม่ โดยจำเลยที่ 5 อ้างว่าจำเลยที่ 5 ซื้อไม้สักของกลางมาจากนางคำ จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 5 ไม้สักของกลางจึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะถูกริบตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 74 เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 5 ฐานทำไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานมีไม้สักอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและริบไม้สักของกลาง แม้จำเลยที่ 5 จะไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 5 ย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เห็นว่า ไม้สักไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักรเป็นไม้หวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 7 วรรคหนึ่ง การตัดฟันจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 11 หากฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 73 วรรคสอง (1) ส่วนการมีไม้สักอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายก็มีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 69 วรรคสอง (1) เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานทำไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีไม้สักอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม้ของกลางจึงเป็นไม้อันได้มาจากการกระทำความผิดต้องริบตามมาตรา 74 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 5 ในความผิดฐานรับเลื่อยโซ่ยนต์ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น สำหรับข้อหาดังกล่าว จำเลยที่ 5 ให้การรับสารภาพ ย่อมฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องข้อหานี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ความผิดฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตกับความผิดฐานรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์โดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ศาลชั้นต้นปรับทว่า การกระทำของจำเลยที่ 5 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 นั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการรับไว้โดยประการใดๆ และการมีไว้ในความครอบครองซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์ของกลางมีลักษณะที่เกี่ยวเนื่องเป็นการกระทำเดียวกันการกระทำของจำเลยที่ 5 ในสองฐานความผิดดังกล่าว จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เมื่อความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวมีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีเท่ากัน แต่คดีนี้ราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงิน 6,259 บาท หากมีการลงโทษปรับสูงสุดตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิ จะลงโทษปรับได้เป็นเงิน 25,036 บาท แต่ตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา 17 วรรคหนึ่ง ลงโทษปรับได้สูงสุดหนึ่งแสนบาท จึงถือว่าโทษปรับตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา 17 วรรคหนึ่ง เป็นบทที่มีโทษหนักกว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 นอกจากนี้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานปลอมดวงตราของเจ้าพนักงานและไม่ริบดวงตราเลขเรียง 1 ดวง ของกลาง แต่มิได้พิพากษาคืนของกลางดังกล่าวแก่เจ้าของนั้นแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาเกี่ยวกับของกลางดังกล่าวก็ตาม ศาลฎีกามีอำนาจสั่งคืนแก่เจ้าของได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 49 และ 186 (9)”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 5 มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นหลังจากลดโทษให้แล้ว รวมจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 4 ปี 22 เดือน คืนดวงตราเลขเรียงของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5