คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7458/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่จะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ คู่ความคดีหลังเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความคดีแรก คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแรกต้องถึงที่สุดก่อนฟ้องคดีหลัง และประเด็นข้อพิพาทในคดีแรกและคดีหลังเป็นอย่างเดียวกันทั้งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแรกแล้ว ดังนั้นแม้คู่ความคดีนี้จะเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ทั้งประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกันและคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องเนื่องจากคดีหมายเลขที่ 1442/2540 ของศาลชั้นต้น เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 1710/2539 ของศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทอันเป็นเนื้อหาแห่งคดีว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนาย ย. หรือไม่ เพียงใด ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนหรือไม่ ดังนั้นฟ้องของโจทก์ทั้งสี่คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนาง น. ให้เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ย. นาง น. จึงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย มีผลให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของนาย ย. ไม่จำต้องฟ้องร้องภายในอายุความมรดก 1 ปี เพราะอายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 และถือได้ว่านาง น. ในฐานะผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทของนาย ย. ทุกคน แม้ต่อมานาง น. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนาย ย. ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของนาย ย. ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และการจัดการมรดกที่ไม่ชอบนั้นย่อมทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลง ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนาย ย. และยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก เมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาง น. ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมด โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คดีของโจทก์ทั้งสี่จึงยังไม่ขาดอายุความมรดก
ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนาย ย. และนาง น. ได้มาเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2499 โดยนาย ย. และนาง น. อยู่กินกันฉันสามีภริยาและแต่งงานกันในขณะกฎหมายลักษณะผัวเมียใช้บังคับ (โดยมิได้จดทะเบียนสมรสในภายหลัง) จึงต้องแบ่งสินสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมียโดยนาย ย. ได้ส่วนแบ่ง 2 ใน 3 ส่วน ส่วนนาง น. ได้ 1 ใน 3 ส่วน

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 14242 ตำบลท่าทราย (บางธรณี) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี จำนวนเนื้อที่ 1 ไร่ 6 ตารางวา พร้อมบ้านจำนวน 3 หลัง ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวที่ได้จดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2535 ให้กลับคืนสู่สภาพทรัพย์มรดกของนายยิ้ม ขอให้กำจัดมิให้จำเลยรับทรัพย์มรดกในส่วนของตนที่จะได้รับและให้กลับคืนสู่สภาพเป็นทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันแก่โจทก์ทั้งสี่ต่อไป และขอถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 14242 ตำบลท่าทราย (บางธรณี) อำเภอเมืองนนทบุรี(ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวซึ่งได้จดทะเบียนเมื่อวันที่13 สิงหาคม 2535 ให้กลับสู่สภาพทรัพย์มรดกของนายยิ้ม ผู้ตาย เพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคน โดยให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนการโอนดังกล่าว หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำร้องในส่วนที่โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านจำนวน 3 หลัง ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีที่จะเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ คู่ความคดีหลังเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีแรกประการหนึ่ง คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแรกต้องถึงที่สุดก่อนฟ้องคดีหลัง ประการที่สองประเด็นข้อพิพาทในคดีแรกและคดีหลังเป็นอย่างเดียวกันทั้งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแรกแล้ว ประการที่สาม จะขาดหลักเกณฑ์ประการใดประการหนึ่งไม่ได้เลยแม้คู่ความคดีนี้จะเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ทั้งประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกัน และคดีหมายเลขแดงที่1442/2540 ถึงที่สุด โดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง เนื่องจากฟ้องตามคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ของศาลชั้นต้น เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 1710/2539 ของศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทอันเป็นเนื้อหาแห่งคดีว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนายยิ้มหรือไม่ เพียงใด ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนหรือไม่ ดังนั้น ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งนางนองสินเป็นผู้จัดการมรดกของนายยิ้ม เมื่อวันที่ นางนองสินจึงเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาท มีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย มีผลให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของนายยิ้มไม่จำต้องฟ้องร้องภายในอายุความมรดก 1 ปี เพราะอายุความย่อมสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 และถือได้ว่า นางนองสินครอบครอบทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทของนายยิ้มทุกคน แม้ต่อมานางนองสินในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์ทั้งสี่และจำเลยต่างนำสืบรับกันว่า เป็นทรัพย์มรดกของนายยิ้มให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของนายยิ้ม ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและการจัดการมรดกที่ไม่ชอบนั้นย่อมทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลง ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนายยิ้มและยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นทุกคน และเมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนางนองสิน ก็ต้องถือว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมด โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คดีของโจทก์ทั้งสี่จึงไม่ขาดอายุความมรดก
อนึ่ง ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายยิ้มและนางนองสิน ได้มาเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2499 โดยนายยิ้มและนางนองสินอยู่กินกันฉันสามีภริยาและแต่งงานกันในขณะกฎหมายลักษณะผัวเมียใช้บังคับ (โดยมิได้จดทะเบียนสมรสภายหลัง) จึงต้องแบ่งสินสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย โดยนายยิ้มได้ส่วนแบ่ง 2 ใน 3 ส่วน ส่วนนางนองสินได้ 1 ใน 3 ส่วน สินสมรสส่วนของนายยิ้มตกเป็นกองมรดกของนายยิ้มที่จะตกแก่ทายาทโดยธรรมคือนางนองสิน นายโกสินทร์ โจทก์ที่ 4 และจำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629, 1630, 1634 และ 1635 (1) คนละ 1 ใน 4 ส่วนของมรดกหรือ 1 ใน 6 ส่วนของที่ดินพิพาท แต่เมื่อนายโกสินทร์ถึงแก่ความตายก่อนนายยิ้มเจ้ามรดก โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้สืบสันดานของนายโกสินทร์จึงเข้ารับมรดกแทนที่นายโกสินทร์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงได้รับส่วนแบ่งมรดกคนละ 1 ใน 18 ส่วนของที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1634 (2) โจทก์ทั้งสี่จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น แต่เพื่อความสะดวกในการแบ่งปันที่ดินมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามส่วน ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสี่ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทแทนการให้เพิกถอนการจดทะเบียนการโอนเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสี่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทคนละ 1 ใน 18 ส่วน และให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 4 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท 1 ใน 6 ส่วน หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขอของโจทก์ทั้งสี่นอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแก่โจทก์ทั้งสี่เท่าที่ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีการะหว่างโจทก์ทั้งสี่ และจำเลยให้เป็นพับ

Share