คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8414/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในการพิพากษาคดี ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำ และวินิจฉัยประเด็นพิพาทประการต่อไปว่า คดีของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยทั้งเจ็ดขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง แล้ว จึงพิพากษายกฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยประเด็นพิพากษาข้ออื่นๆ อีก โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า คดีของโจทก์ทั้งสองไม่ขาดอายุความ และขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดฐานละเมิดแก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้อง ดังนี้เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าคดีไม่ขาดอายุความ แม้ว่าคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองจะมิได้อุทธรณ์คัดค้านประเด็นพิพาทข้ออื่นๆ ไว้ เนื่องจากศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยให้ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งเจ็ดได้สืบพยานมาจนเสร็จสิ้นเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นๆ ที่ยังมิได้วินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทอื่นๆ ที่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยให้คดีเสร็จไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยตามลำดับชั้นศาลก็ได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้แทนของกระทรวงมหาดไทยโจทก์ที่ 1 มีคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2533 แต่คำสั่งดังกล่าวสรุปการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นการทุจริต หากแต่เป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ราชการบกพร่องเท่านั้น โจทก์ที่ 2 จึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาตัวผู้รับผิดทางแพ่ง แต่ผลการสอบสวนก็ยังไม่ปรากฏชัดแจ้ง ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2538 อธิบดีกรมการปกครองมีบันทึกเสนอปลัดกระทรวงมหาดไทยสรุปความได้ว่า กองการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครองมีความเห็นว่า ผลการสอบสวนมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะดำเนินคดีอาญาและฟ้องคดีแพ่งเรื่องละเมิดแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 และที่ 3 และผู้เกี่ยวข้องได้และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามรับทราบวันที่ 14 ตุลาคม 2538 ส่วนโจทก์ที่ 2 ได้รับหนังสือแจ้งเรื่องดังกล่าวจากปลัดกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 จึงต้องถือว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เพิ่งรู้ตังผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 11 ตุลาคม 2539 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์ทั้งสองจึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
การสอบสวนทางวินัยเพราะเหตุบกพร่องต่อหน้าที่ราชการเป็นคนละเรื่องกับการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่ง เพราะหลักเกณฑ์ความรับผิดทางวินัยกับความรับผิดทางแพ่งเป็นคนละกรณีกัน การบกพร่องต่อหน้าที่ราชการซึ่งต้องรับผิดทางวินัยอาจไม่เข้าเกณฑ์ความรับผิดทางแพ่งฐานละเมิดก็ได้ เมื่อผลของคำสั่งลงโทษทางวินัยยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบทางแพ่งหรือไม่ โจทก์ที่ 2 ชอบที่จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่งอีกได้ มิใช่เป็นการกระทำโดยไม่ชอบหรือมีเจตนากระทำเพื่อขยายอายุความฟ้องคดีละเมิด
บทบัญญัติของกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางอาญาและในทางแพ่ง เป็นคนละส่วนแยกออกต่างหากจากกันดังนั้น แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 แล้วโจทก์ทั้งสองก็ฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดทางแพ่งต่อโจทก์ทั้งสองได้
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของโจทก์ทั้งสองโดยเห็นว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความและได้วินิจฉัยด้วยว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 5 ต่างมิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ตั้งประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำไว้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 5แพ้คดีในชั้นอุทธรณ์แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 5 หวนกลับมาหยิบยกประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำขึ้นกล่าวอ้างอีก จึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 บรรยายไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นข้าราชการด้วยกัน และจำเลยที่ 6 กับที่ 7 ซึ่งเป็นเอกชน จงใจปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย และขอให้บังคับจำเลยทุกคนชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง โดยระบุรายละเอียดด้วยว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แต่ละคนมีตำแหน่งหน้าที่ราชการอะไร และจำเลยแต่ละคนมีส่วนปฏิบัติหน้าที่ในโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปี ในฤดูการผลิตปี 2528/2529 และ 2529/2530 ด้วย ความประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบหลักทรัพย์ที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 นำมาเป็นหลักประกันให้ดี ไม่เรียกหลักทรัพย์ประกันเงินกู้ให้เพียงพอและไม่รักษาผลประโยชน์ของทางราชการ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเพียงพอที่จำเลยที่ 1 จะเข้าใจข้อหา และสามารถให้การต่อสู้คดีของโจทก์ทั้งสองได้ จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง
สัญญากู้เป็นเพียงเครื่องมือที่จำเลยทั้งเจ็ดใช้ในการฉ้อฉลกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองก็มิได้ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน หากแต่เป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่ชอบที่จะนำข้อตกลงในสัญญากู้มาอ้างว่าโจทก์ทั้งสองอาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งตอนท้ายได้ คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามมาตรา 224 วรรคหนึ่งตอนต้น

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ดำเนินโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกเพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ โดยนำเงินยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยกำหนดนโยบายสั่งให้จังหวัดต่างๆ รวมทั้งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการและเงินยืมดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ไปดำเนินการให้ยืมเงินไม่มีดอกเบี้ยแก่โรงสีหรือผู้ซื้อข้าวรายย่อยไปรับซื้อข้าวจากชาวนาให้สูงกว่าราคาท้องตลาด เมื่อดำเนินการตามโครงการในแต่ละปีเสร็จแล้ว จังหวัดต่างๆ ต้องเรียกเงินจากผู้กู้ส่งคืนโจทก์ที่ 1 เพื่อคืนแก่กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรต่อไป โครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 โจทก์ที่ 1 กำหนดนโยบายและระเบียบแบบแผนให้ปฏิบัติว่าผู้กู้ต้องมีหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารสำหรับโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2529/2530 โจทก์ที่ 1 กำหนดนโยบายและระเบียบแบบแผนปฏิบัติว่าการที่จังหวัดหนองคายจะให้เงินยืมปลอดดอกเบี้ยแก่ผู้เข้าร่วมโครงการไม่ว่าจะเป็นโรงสี กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตรหรือผู้ซื้อข้าวรายย่อยจะต้องมีหลักทรัพย์ เช่น หนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคาร หรือหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าวงเงินที่จังหวัดจะให้ยืม หรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ ให้จังหวัดหนองคายพิจารณาใช้หนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารเป็นอันดับแรก หากจะใช้หลักทรัพย์อื่นให้อยู่ในดุลพินิจของจังหวัดตรวจสอบว่า เชื่อถือได้และมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าวงเงินที่จังหวัดจะให้ยืม ให้จังหวัดระมัดระวังเรื่องหลักประกันเป็นพิเศษ อย่าให้เกิดความเสียหาย โจทก์ที่ 1 อนุมัติจัดสรรเงินทุนหมุนเวียนให้โจทก์ที่ 2 รับไปดำเนินการตามโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2530 เป็นเงินจำนวน 10,000,000 บาท จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย จำเลยที่ 2 เป็นปลัดจังหวัดหนองคาย จำเลยที่ 3 เป็นนายอำเภอเมืองหนองคาย จำเลยที่ 4 เป็นจ่าจังหวัดหนองคาย มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการให้เอกชนกู้ยืมเงินตามโครงการดังกล่าวของโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 5 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอบ้านม่วง มีหน้าที่ประเมินราคาที่ดินตามราคาตลาด เพื่อให้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในเขตอำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร ได้ปฏิบัติหน้าที่ในโครงการดังกล่าวและร่วมกับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย กล่าวคือ ระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม 2529 ถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2529 จำเลยที่ 1 ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย ซึ่งมีจำเลยที่ 6 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการกู้ยืมเงินทุนหมุนเวียนตามโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 เป็นเงินจำนวน 3,500,000 บาท ระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน 2529 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2529 จำเลยที่ 1 ให้ห้างหุ้นส่วน จำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย ซึ่งมีจำเลยที่ 6 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการกู้เงินทุนหมุนเวียนโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 เป็นเงินจำนวน 3,500,000 บาท ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2530 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2530 จำเลยที่ 1 ให้หุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย ซึ่งมีจำเลยที่ 6 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการกู้เงินทุนหมุนเวียนโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูกาลผลิตปี 2529/2530 เป็นเงินจำนวน 8,000,000 บาท การกู้ยืมเงินดังกล่าวจากโจทก์ที่ 2 นั้น จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันให้จำเลยที่ 6 เป็นผู้ขอเข้าร่วมโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตดังกล่าวและขอกู้เงินปลอดดอกเบี้ยจากโจทก์ที่ 2 ในนามห้างหุ้นส่วนจำกัดภูพานพัฒนกิจไทย และร่วมกันให้จำเลยที่ 7 หุ้นส่วนห้างหุ้นส่วน จำกัด ภูพานพัฒนกิจไทยเป็นผู้ค้ำประกันโดยนำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ตั้งอยู่ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร จำนวน 62 แปลง มาให้โจทก์ที่ 2 ยึดไว้เป็นหลักประกัน จำเลยที่ 7 แจ้งต่อโจทก์ทั้งสองว่า ที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมินตามราคาท้องตลาดเพื่อให้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บเงินธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไร่ละ 160,000 บาท อันเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมินเพียงไร่ละ 16,000 บาท หลักทรัพย์ดังกล่าวไม่น่าเชื่อถือ ไม่อาจนำมาใช้เป็นหลักประกันในการกู้เงินจากโจทก์ที่ 2 ได้ จำเลยที่ 5 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอบ้านม่วง มีหน้าที่ประเมินราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อให้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในเขตอำเภอบ้านม่วง ได้ประเมินราคาที่ดินดังกล่าวสูงกว่าความเป็นจริงมาก จำเลยที่ 1 มิได้ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวนำหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารมาเป็นหลักประกัน กลับยอมให้ผู้กู้ใช้หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าต่ำกว่าจำนวนเงินที่ให้กู้เป็นหลักประกันเป็นการขัดต่อระเบียบแบบแผนที่โจทก์ทั้งสองได้กำหนดไว้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นการร่วมกันจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตจำเลยที่ 6 และที่ 7 เป็นผู้สนับสนุน หรือมิฉะนั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่ตรวจสอบหลักทรัพย์ให้ดีไม่เรียกหลักทรัพย์ประกันเงินกู้ให้เพียงพอ ไม่รักษาผลประโยชน์ของทางราชการ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ได้รับเงินจำนวน 15,000,000 บาท การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายรวมเป็นเงิน 15,000,000 บาท จำเลยทั้งเจ็ดต้องร่วมกันคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 รับไปแต่ละงวดจนถึงวันฟ้องหักค่าดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 7 นำมาชำระเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2531 จำนวน 2,000,000 บาท แล้ว รวมเป็นดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง 19,804,457.05 บาท โจทก์ที่ 1 รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่พึงใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2538 โจทก์ที่ 2 รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่พึงใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันคืนเงินหรือชดใช้เงินจำนวน 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 19,804,457.05 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 15,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ได้ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย กู้เงินทุนหมุนเวียนโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือก รวมเป็นเงิน 15,000,000 บาท จริง แต่ไม่ได้กระทำขัดต่อระเบียบแบบแผนของโจทก์ทั้งสองไม่ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต และมิได้ประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่จำเลยที่ 1 เชื่อโดยสุจริตว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้ง 62 แปลง ของจำเลยที่ 7 นำมาค้ำประกันมีราคาไร่ละ 160,000 บาท เพราะราคาที่ดินขณะนั้นมีราคาสูง โครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกของโจทก์ที่ 1 ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารเสมอไป จำเลยที่ 1 อาจพิจารณาหลักทรัพย์อื่นที่น่าเชื่อถือก็ได้ การที่จำเลยที่ 1 ยอมรับหลักประกันที่ดินดังกล่าวถือว่าจำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบไม่ได้ประมาทเลินเล่อ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 6 และที่ 7 เรียกเงินคืนจำนวน 13,766,575.32 บาท ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 579/2531 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นหนี้รายเดียวกันกับคดีนี้เป็นการฟ้องซ้ำฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ โจทก์ทั้งสองคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน 13,000,000 บาท คิดได้เพียง 5 ปี ส่วนที่เกินเรียกดอกเบี้ยไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดหนองคาย ได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ 1 ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นกรรมการตรวจสอบหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยที่ 7 ที่นำมาค้ำประกันตามสัญญากู้ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบสภาพที่ดิน ราคาประเมิน นายอำเภอบ้านม่วงยืนยันราคาประเมินที่ดินมายังผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายว่า ราคาประเมินไร่ละ 160,000 บาท จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าราคาที่ดินราคาประเมินไร่ละ 160,000 บาท ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนของกฎหมายไม่ได้ทุจริตไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้รับความเสียหายเพราะมีที่ดินของจำเลยที่ 7 ที่ยึดเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงิน และโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 เป็นจ่าจังหวัดหนองคายไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 เป็นเพียงแค่ลงชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ส่วนโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2529/2530 นั้น จำเลยที่ 4 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากในระยะเวลาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2530 จำเลยที่ 4 เข้าศึกษาในโรงเรียนนายอำเภอเป็นเวลา 8 เดือน โจทก์ทั้งสองไม่ได้เสียหายและฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกตามฟ้องและได้ทำการประเมินราคาที่ดินของจำเลยที่ 7 ด้วยความถูกต้อง ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 และที่ 7 ให้การว่า จำเลยที่ 6 เป็นผู้กู้ยืมเงินและจำเลยที่ 7 เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ตามฟ้องจริง แต่ไม่ได้กระทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ ฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 579/2531 ของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจคิดดอกเบี้ยเกินกว่า 5 ปี ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,303,528.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 15 มกราคม 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ประเด็นข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 5 มีว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยคดีมาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งประเด็นข้อนี้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ว่า โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงประเด็นเดียวเรื่องอายุความ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยประเด็นพิพาทข้ออื่นๆ อีก 4 ประเด็น จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาเสร็จแล้ว ในการพิพากษาคดี ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 579/2531 ของศาลชั้นต้น และวินิจฉัยประเด็นพิพาทประการต่อไปว่า คดีของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยทั้งเจ็ดขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง แล้ว จึงพิพากษายกฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยประเด็นพิพาทข้ออื่นๆ อีก โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คัดค้านว่า คดีของโจทก์ทั้งสองไม่ขาดอายุความ และขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดฐานละเมิดแก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้องโดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้องมาครบถ้วนแล้วด้วย ดังนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าคดีไม่ขาดอายุความ แม้ว่าคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองจะมิได้อุทธรณ์คัดค้านประเด็นพิพาทข้ออื่นๆ ไว้ เนื่องจากประเด็นพิพาทข้ออื่นๆ นั้น ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยให้ก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งเจ็ดได้สืบพยานมาจนเสร็จสิ้นเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นๆ ที่ยังมิได้วินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทอื่นๆ ที่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยให้คดีเสร็จไปเสียทีเดียวโดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนมาให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยตามลำดับชั้นศาลก็ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว หาใช่เป็นการวินิจฉัยคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 5 ในประเด็นข้อแรกนี้ จึงฟังไม่ขึ้น
ประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 5 ประการต่อมาเรื่องอายุความนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 5 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ว่า นายบรรหาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนของโจทก์ที่ 1 ได้ลงนามรับทราบคำสั่งลงโทษทางวินัยตัดเงินเดือนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามเอกสารหมาย ล.13 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2533 จึงถือได้ว่า โจทก์ทั้งสองได้รู้ หรือควรรู้ถึงตัวผู้ที่จะต้องรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้อง คือวันที่ 11 ตุลาคม 2539 คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ดังคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว นั้น เห็นว่า แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้แทนของโจทก์ที่ 1 จะมีคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2533 ก็ตาม แต่คำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าวก็สรุปการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นการทุจริต หากแต่เป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ราชการบกพร่องเท่านั้น โจทก์ที่ 2 จึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งตามคำสั่งที่ 3713/2535 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2535 แต่ผลการสอบสวนก็ยังไม่ปรากฏชัดแจ้ง ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2538 อธิบดีกรมการปกครองจึงมีบันทึกเสนอปลัดกระทรวงมหาดไทยสรุปความได้ว่า กองการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครองมีความเห็นว่า ผลการสอบสวนมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะดำเนินการคดีอาญาและฟ้องคดีแพ่งเรื่องละเมิดแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และผู้เกี่ยวข้องได้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามรับทราบวันที่ 14 ตุลาคม 2538 ส่วนโจทก์ที่ 2 ได้รับหนังสือแจ้งเรื่องดังกล่าวจากปลัดกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เพิ่งรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 11 ตุลาคม 2539 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์ทั้งสองจึงยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาโต้แย้งว่า ความเห็นของกองสอบสวนและนิติการมิใช่ความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่งซึ่งตั้งขึ้นตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังข้อเท็จจริงจากเอกสารดังกล่าว จึงคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยหลักการรับฟังพยานหลักฐาน และเป็นการขยายอายุความคดีละเมิด 1 ปี ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่รับฟังข้อเท็จจริงจากเอกสารที่อธิบดีกรมการปกครองมีบันทึกเสนอปลัดกระทรวงมหาดไทยสรุปความว่า กองการสอบสวนและนิติการมีความเห็นว่า ผลการสอบสวนมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะดำเนินคดีอาญาและฟ้องคดีแพ่งเรื่องละเมิดแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และผู้เกี่ยวข้องได้ นั้น เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนเพื่อชี้ขาดในประเด็นว่า โจทก์ทั้งสองรู้ถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันใด อันเป็นวันเริ่มนับกำหนดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง การรับฟังข้อเท็จจริงจากเอกสารดังกล่าว จึงไม่เป็นการคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยหลักการรับฟังพยานหลักฐาน และหาเป็นการขยายอายุความละเมิด 1 ปี ดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฎีกาไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกากล่าวอ้างว่า หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามรับทราบคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2533 แล้ว กระทรวงมหาดไทยยังตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่งอีก เป็นการพยายามขยายอายุความฟ้องคดีละเมิดออกไปอีกนั้น เห็นว่า การสอบสวนทางวินัยเพราะเหตุบกพร่องต่อหน้าที่ราชการนั้น เป็นคนละเรื่องกับการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่ง เพราะหลักเกณฑ์ความรับผิดทางวินัยกับความรับผิดทางแพ่ง เป็นหลักเกณฑ์คนละกรณีกัน การบกพร่องต่อหน้าที่ราชการซึ่งต้องรับผิดทางวินัยนั้น อาจไม่เข้าเกณฑ์ความรับผิดทางแพ่งฐานละเมิดก็ได้ เมื่อผลของคำสั่งลงโทษทางวินัยยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบทางแพ่งหรือไม่ โจทก์ที่ 2 ก็ชอบที่จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่งอีกได้ และการดำเนินการดังกล่าว ก็เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการแล้ว หาใช่เป็นการกระทำโดยไม่ชอบหรือมีเจตนากระทำเพื่อขยายอายุความฟ้องคดีละเมิดดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฎีกาไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยในประเด็นเรื่องอายุความมาชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 5 ในประเด็นเรื่องอายุความฟังไม่ขึ้น
ประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 5 ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับฟังมาซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 5 มิได้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นฟังได้เป็นยุติว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย โดยจำเลยที่ 6 หุ้นส่วนผู้จัดการได้เข้าร่วมโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 และ 2529/2530 ของโจทก์ทั้งสอง โดยทำสัญญากู้ยืมเงินและรับเงินที่กู้ยืมจากโจทก์ที่ 2 จำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2529 จำนวนเงิน 3,500,000 บาท มีจำเลยที่ 7 เป็นผู้ค้ำประกันและจำเลยที่ 7 ใช้ที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2653 ถึง 2662 ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร จำนวน 10 แปลง เป็นหลักประกัน ตามสัญญากู้ยืมเงินและบันทึกรายละเอียดรายการที่ดินที่นำมาประกันต่อท้ายสัญญาเอกสารหมาย จ.69 ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2529 จำนวนเงิน 3,500,000 บาท มีจำเลยที่ 7 เป็นผู้ค้ำประกัน และจำเลยที่ 7 ใช้ที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 708 เลขที่ 2626 ถึง 2629 เลขที่ 2663 เลขที่ 2664 และเลขที่ 2678 ถึงเลขที่ 2686 ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร จำนวน 16 แปลง เป็นหลักประกัน ตามสัญญากู้ยืมเงิน บันทึกรายละเอียดรายการที่ดินที่นำมาประกันต่อท้ายสัญญาและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.70 ครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2530 จำนวน 8,000,000 บาท มีจำเลยที่ 7 เป็นผู้ค้ำประกันและจำเลยที่ 7 ใช้ที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 695 เลขที่ 2615 ถึง 2625 เลขที่ 2717 ถึงเลขที่ 2729 และเลขที่ 2731 ถึงเลขที่ 2741 ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร จำนวน 36 แปลง เป็นหลักประกัน ตามสัญญากู้ยืมเงิน บันทึกรายละเอียดรายการที่ดินที่นำมาประกันต่อท้ายสัญญาและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.71 หลังจากทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 7 นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินจำนวน 62 แปลง ที่เป็นหลักประกันดังกล่าว มาจดทะเบียนจำนองแก่โจทก์ที่ 2 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2530 และจำเลยที่ 7 นำเงินมาชำระให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 2,000,000 บาท เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2531 แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 6 และที่ 7 ให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสามฉบับ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 6 และที่ 7 ไม่ชำระโจทก์ที่ 2 จึงยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด แต่ขายไม่ได้ รายละเอียดปรากฏตามถ้อยคำสำนวนในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 579/2531 ของศาลชั้นต้น เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ตามข้อเท็จจริงที่ฟังได้เป็นยุติดังกล่าวคดีจึงมีปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 มีส่วนรู้เห็นและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองในการดำเนินโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกดังกล่าวหรือไม่ โจทก์ทั้งสองมีนายสุชัย นายภูมิพิทักษ์ นายสงวน ร้อยเอกสุรจิตร นายทรงชัย นางบัวเรียน นายก่าย นายโกสุม และนายคำตัน เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 และ 2529/2530 ของโจทก์ทั้งสองเบิกความสอดคล้องกันว่า จำเลยที่ 7 ได้มาติดต่อจำเลยที่ 2 ขอให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย ซึ่งมีจำเลยที่ 6 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการร่วมโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกของโจทก์ทั้งสอง โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการขออนุมัติ ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทยใช้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นหลักประกันเงินกู้แทนการมีหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามระเบียบของโจทก์ทั้งสองที่กำหนดไว้แต่เดิมโดยไม่ได้ตรวจสอบให้แน่ชัดว่าที่ดินที่ใช้เป็นหลักประกันนั้นมีราคาซื้อขายในท้องตลาดอันเป็นาคาที่แท้จริงเพียงพอกับจำนวนเงินที่ได้อนุมัติให้กู้ยืมเงินหรือไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพียงแต่ติดต่อกับจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอบ้านม่วง ซึ่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตให้เป็นผู้ประเมินราคาที่ดินแล้วแจ้งมายังโจทก์ที่ 2 ว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่เป็นหลักประกันจำนวน 62 แปลง ราคาประเมินกำหนดไร่ละ 160,000 บาท ซึ่งความจริงแล้ว ที่ดินดังกล่าวสภาพเดิมเป็นที่ดินทุ่งนาและป่ารกร้างอยู่นอกเขตชุมชน มีราคาประเมินเพียงไร่ละ 16,000 บาท จำเลยที่ 7 ซื้อที่ดินดังกล่าวจากเจ้าของเดิมในราคาถูกแล้ว นำมาปรับสภาพที่ดินทำถนนลูกรังชั่วคราวรอบที่ดินที่แบ่งแยกและให้จำเลยที่ 5 เป็นผู้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อยเพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ว่าเป็นที่อยู่อาศัยติดทางสาธารณะมีราคาประเมินไร่ละ 160,000 บาท ซึ่งไม่ตรงกับราคาที่ดินที่แท้จริงเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถบังคับคดีนำที่ดินที่เป็นหลักประกันดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้เงินกู้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 579/2531 ที่พิพากษาให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินได้ ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย พยานโจทก์ทั้งสองทุกปากดังกล่าวต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการนี้ โดยนายสุชัยเป็นผู้ช่วยจ่าจังหวัดหนองคายและเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 มีส่วนรู้เห็นในขณะที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 เสนอตัวเข้าร่วมโครงการดังกล่าวกับโจทก์ทั้งสองมาแต่ต้นร้อยเอกสุรจิตรและนายทรงชัยเป็นคณะกรรมการทำหน้าที่ตรวจสภาพที่ดินที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 นำมาเป็นหลักประกัน นางบัวเรียนและนายก่ายเป็นเจ้าของที่ดินเดิมก่อนขายให้จำเลยที่ 7 นายโกสุมเป็นบุตรของนายศรีเมืองผู้ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 7 นายคำตันเป็นเจ้าของที่ดินที่อยู่ใกล้เคียงกับที่ดินพิพาท และนายสงวนกับนายภูมิพิทักษ์เป็นคณะกรรมการประสานงานและรวบรวมหลักฐานในการดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาที่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง สภาพที่ดิน และสอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกคน ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งสองทุกคนดังกล่าวมีสาเหตุโกรธเคืองอะไรกับจำเลยที่ 1 และที่ 5 มาก่อน และต่างก็เบิกความไปตามหน้าที่ที่ได้ปฏิบัติหรือตามข้อเท็จจริงที่ตนมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้อง และในประการสำคัญคือข้อเท็จจริงตามคำพยานโจทก์ทั้งสองทุกปากดังกล่าวล้วนมีข้อเท็จจริงสอดคล้องเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นลำดับขั้นตอนอย่างเป็นเหตุเป็นผล แสดงให้เห็นชัดแจ้งถึงวิธีการที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 ได้เข้าร่วมโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกของโจทก์ทั้งสอง โดยมีจำเลยที่ 1 และที่ 5 กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ให้การสนับสนุนให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ใช้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่มีราคาแท้จริงในท้องตลาดต่ำกว่าราคาประเมินมากมาประเมินราคาให้สูงกว่าความเป็นจริง อันเป็นการจงใจฉ้อฉลให้เกิดความเสียหายต่อโครงการของโจทก์ทั้งสองอย่างสมเหตุผล ที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกของกระทรวงมหาดไทยถูกต้องครบถ้วน มิได้ประมาทเลินเล่อหรือปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง เพราะการสั่งการของจำเลยที่ 1 ทุกขั้นตอนจะมีผู้ใต้บังคับบัญชาตามตำแหน่งหน้าที่เสนอเรื่องขึ้นมา ส่วนจำเลยที่ 5 เป็นเจ้าพนักงานที่ดิน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องรับผิดชอบในโครงการของโจทก์ทั้งสอง แต่ได้ประเมินราคาและแบ่งแยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 7 ไปตามอำนาจหน้าที่ นั้น ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองดังที่วินิจฉัยมาข้างต้นได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พนักงานอัยการจังหวัดหนองคายมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 แล้ว มูลละเมิดทางแพ่งย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ นั้น เห็นว่า ในการวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งของคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 บัญญัติว่า “คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่” ซึ่งแสดงให้เห็นหลักการสำคัญว่า บทบัญญัติของกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางอาญาและในทางแพ่งนั้น เป็นคนละส่วนแยกออกต่างหากจากกัน หาใช่หลักเกณฑ์เดียวกันไม่ โดยเหตุนี้แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 จะบัญญัติว่า การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาก็ตามแต่ในข้อเท็จจริงที่ยุติตามคำพิพากษาในคดีส่วนอาญาแล้วนั้น ความรับผิดของบุคคลในทางอาญาต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง หาได้เกี่ยวข้องกันไม่ดังนั้น แม้พนักงานอัยการจังหวัดหนองคายจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 แล้วก็ตามโจทก์ทั้งสองก็ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดทางแพ่งต่อโจทก์ทั้งสองได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ประเด็นตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 5 ประการต่อไปที่ว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 579/2531 ของศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของโจทก์ทั้งสอง โดยเห็นว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความนั้นศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยด้วยว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 5 ต่างมิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ตั้งประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำไว้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 แพ้คดีในชั้นอุทธรณ์แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 5 จึงหวนกลับมาหยิบยกประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำขึ้นกล่าวอ้างอีก จึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 5 มาโดยไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
สำหรับประเด็นตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้าย ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาคัดค้านว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เคลือบคลุม โดยกล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้บรรยายระบุว่าในฐานะจำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 กระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างไร มีเจตนาทุจริตทำการไม่ชอบอะไร อย่างไร และเมื่อใด นั้น เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 บรรยายไว้ชัดแจ้งสรุปความได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นข้าราชการด้วยกัน และจำเลยที่ 6 กับที่ 7 ซึ่งเป็นเอกชน จงใจปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย และขอให้บังคับจำเลยทุกคนดังกล่าวชำระเงินค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองโดยระบุรายละเอียดด้วยว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แต่ละคนมีตำแหน่งหน้าที่ราชการอะไร และจำเลยแต่ละคนดังกล่าวมีส่วนปฏิบัติหน้าที่ในโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปี ในฤดูการผลิตปี 2528/2529 และ 2529/2530 ด้วยความประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบหลักทรัพย์ที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 นำมาเป็นหลักประกันให้ดี ไม่เรียกหลักทรัพย์ประกันเงินกู้ให้เพียงพอ และไม่รักษาผลประโยชน์ของทางราชการ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองตามที่บรรยายฟ้องมาอย่างละเอียดแล้วนั้น เป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาชัดแจ้งเพียงพอที่จำเลยที่ 1 จะเข้าใจข้อหา และสามารถให้การต่อสู้คดีของโจทก์ทั้งสองได้ เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว หาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ก็ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองในประการแรกมีว่าจำเลยที่ 4 ได้ร่วมกับจำเลยอื่นๆ กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ประเด็นข้อนี้เห็นว่า แม้ทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองจะไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการในการตรวจสอบที่ดินสำหรับการกู้ยืมเงินในโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2529/2530 ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองมีนายสุชัย ซึ่งขณะเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยจ่าจังหวัดหนองคาย และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 4 ซึ่งดำรงตำแหน่งจ่าจังหวัดหนองคาย มาเบิกความยืนยันถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยที่ 4 หลายประการ อันเป็นพฤติการณ์ที่มีนัยสำคัญบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 ได้มีส่วนรู้เห็นร่วมกับจำเลยอื่นๆ กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองในโครงการนี้ด้วย กล่าวคือ ในประการแรก นายสุชัยเบิกความว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2529 จำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดสกลนคร ได้มาติดต่อกับจำเลยที่ 2 ซึ่งขณะนั้นเพิ่งย้ายจากจังหวัดสกลนครมาดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดหนองคาย เพื่อขอเข้าร่วมโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกกับจังหวัดหนองคาย พยานเห็นจำเลยที่ 4 เข้าไปพบจำเลยที่ 2 ในห้องทำงานแล้วออกมาพร้อมกับถือเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ออกมาด้วย โดยเอกสารหมาย จ.1 เป็นร่างโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 ส่วนเอกสารหมาย จ.2 เป็นโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 ของอำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร จำเลยที่ 4 นำเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 มาให้พยานและมอบหมายให้พยานเป็นผู้ร่างโครงการตามแบบโครงการของ อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร เอกสารหมาย จ.2 พยานได้ร่างโครงการให้ ตามร่างโครงการเอกสารหมาย จ.3 นอกจากนี้พยานยังได้เบิกความเกี่ยวกับการจัดทำเอกสารประกอบโครงการ คือ ร่างบัญชีสำรวจข้าวเอกสารหมาย จ.4 ว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้เขียนในตอนบนและตอนล่างกับรายละเอียดลำดับ 1 ถึงลำดับที่ 19 รวมทั้งจำนวนตัวเลขและจำนวนเงินกับเบิกความยืนยันว่า ร่างบัญชีสำรวจข้าวฉบับนี้พยานเป็นคนทำโดยจำเลยที่ 4 สั่งให้พยานทำ สำหรับการจัดทำร่างหนังสือที่ นค 0116/2465 ฉบับลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2529 เอกสารหมาย จ.5 นั้นพยานเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 4 เป็นคนทำ ต่อมาร่างเอกสารหมาย จ.5 ได้มีการจัดทำเป็นต้นฉบับแล้วเสนอจำเลยที่ 4 (ที่ถูกจำเลยที่ 3) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองหนองคายตามเอกสารหมาย จ.6 เพื่อเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายพิจารณาดำเนินการต่อไป ตามคำเบิกความของนายสุชัยเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการจัดทำเอกสารต่างๆ เพื่อดำเนินโครงการดังที่ได้กล่าวมานี้ เป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำกับจำเลยอื่นๆ ด้วยมาตั้งแต่ต้น เพราะเมื่อได้ตรวจดูต้นฉบับหนังสือที่ นค 0116/2565 เอกสารหมาย จ.6 ซึ่งเป็นหนังสือของจำเลยที่ 3 ในฐานะนายอำเภอเมืองหนองคายถึงผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย สรุปความว่าตามที่กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้ใช้เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเพื่อจัดสรรให้จังหวัดนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกฯ นั้น ได้มีนายจำลอง จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย ยื่นคำขอเป็นผู้ซื้อขายย่อยในการดำเนินงาน จึงขอส่งเรื่องมาพิจารณาดำเนินการต่อไปแล้วปรากฏว่ามีข้อความตรงกับร่างเอกสารหมาย จ.5 ที่จำเลยที่ 4 ยกร่างด้วยลายมือของตนเองทุกประการ อีกทั้งต้นฉบับข้อความในโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 และบัญชีสำรวจข้าว อันเป็นสิ่งที่ส่งมาด้วยอันดับ 2, 3 ของเอกสารหมาย จ.6 ก็มีข้อความตรงกับข้อความในร่างเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ทุกประการด้วยเช่นกัน จึงเป็นพฤติการณ์เบื้องต้นที่บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 4 ได้รู้เห็นและมีส่วนร่วมมาตั้งแต่ต้นกับการร่วมกันกระทำละเมิดกับจำเลยอื่นๆ ด้วย สำหรับพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยที่ 4 ในประการที่สอง ที่แสดงออกว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยอื่นด้วยนั้น นายสุชัยเบิกความว่า ตามโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 เอกสารหมาย จ.6 ข้อ 3.4 ระบุว่า นายจำลองจำเลยที่ 6 ผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นผู้ซื้อข้าวรายย่อยที่จะได้รับเงินยืมปลอดดอกเบี้ยจากโจทก์ที่ 2 นั้น จะต้องมีหนังสือค้ำประกันเงินยืมดังกล่าวของธนาคารหรือทรัพย์สินค้ำประกันให้ไว้แก่จังหวัดด้วย ส่วนแนวทางการดำเนินการและการบริหารโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิตปี 2528/2529 ของกระทรวงมหาดไทยเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 2.1.3 ซึ่งเป็นหัวข้อเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันก็ระบุว่าต้องมีสัญญาค้ำประกันของธนาคารแต่ข้อ 3.3 กลับมีข้อความระบุเรื่องหลักประกันว่า “…หนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารหรือหลักทรัพย์อื่นที่มีมูลค่าเท่ากัน หรือไม่ต่ำกว่าวงเงินที่จังหวัดให้กู้ไว้เป็นหลักฐานด้วย…” อันเป็นข้อความที่ระบุผ่อนผันให้ผู้เข้าร่วมโครงการใช้หลักทรัพย์ที่มีค่าเท่ากันแทนหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารได้ แต่นายสุชัยได้เบิกความถึงข้อพิรุธเกี่ยวกับการใช้เอกสารหมาย จ.9 เพื่อผ่อนคลายให้นายจำลองจำเลยที่ 6 ใช้หลักทรัพย์อื่นแทนหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารว่าพยานเห็นเอกสารหมาย จ.9 เมื่อเห็นเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ตอนที่จำเลยที่ 4 รับมาจากจำเลยที่ 2 และในประการสำคัญคือพยานเบิกความว่า จากการตรวจสอบเอกสารหมาย จ.9 ภายหลังเกิดเหตุคดีนี้แล้วพบว่าไม่มีการส่งหนังสือเอกสารหมาย จ.9 เข้ามาที่ทำการจังหวัดหนองคายตามระเบียบงานราชการ เพราะหนังสือฉบับนี้ไม่เคยผ่านงานสารบรรณ อันเป็นพฤติการณ์แห่งคดีที่สำคัญอีกข้อหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนร่วมรู้เห็นกระทำละเมิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย เพราะนอกจากบทผ่อนคลายตามเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 3.3 จะยอมให้ใช้หลักทรัพย์อื่นที่มีมูลค่าเท่ากันแทนหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารนั้น จะเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายสามารถผ่อนปรนอนุมัติให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ผู้เข้าร่วมโครงการใช้หลักทรัพย์อื่นมาเป็นหลักประกันแทนหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารได้ตามเอกสารหมาย จ.18 อันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายแล้ว ยังปรากฏด้วยว่าเอกสารหมาย จ.9 นั้น ได้มีการนำมาใช้อ้างอิงเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาปฏิบัติหน้าที่ราชการในโครงการนี้โดยมิได้ผ่านระบบงานสารบรรณตามระเบียบราชการด้วยพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยที่ 4 ประการสุดท้าย นายสุชัยเบิกความว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาภาพถ่ายใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกสารหมาย จ.20 ว่าเป็นเอกสารที่ถ่ายมาจากต้นฉบับจริง โดยเอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทยจดทะเบียนจัดตั้งมาตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2529 แต่จากการตรวจสอบในภายหลังกลับปรากฏว่าห้างดังกล่าวเพิ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 พยานเข้าใจว่า เหตุที่มีการแก้ไขวันที่จดทะเบียนห้างดังกล่าวก็เพื่อให้สอดคล้องกับวันที่ที่ขออนุมัติไปที่กระทรวงมหาดไทยตามเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งความข้อนี้ เมื่อได้ตรวจดูเอกสารหมาย จ.7 แล้วปรากฏว่าเป็นหนังสือของนายจำลองจำเลยที่ 6 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย ฉบับลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2529 มีถึงจำเลยที่ 3 ในฐานะนายอำเภอเมืองหนองคาย แสดงความประสงค์ขอเป็นผู้ร่วมดำเนินโครงการ และจำเลยที่ 3 ได้เกษียนสั่งการลงในเอกสารหมาย จ.7 ในวันเดียวกันให้ปลัดอำเภออาวุโสดำเนินการต่อไปโดยระบุด้วยว่า “ด่วนมาก” และต่อมาจำเลยที่ 3 ปลัดจังหวัดหนองคายในฐานะรักษาการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายก็ได้มีหนังสือที่ นค 0016 (1)/10303 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2529 ตามเอกสารหมาย จ.8 ถึงอธิบดีกรมการปกครองเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยอ้างส่งสำเนาคำขอของนายจำลองจำเลยที่ 6 ตามเอกสารหมาย จ.7 เป็นสิ่งที่ส่งมาด้วยอันดับที่ 5 เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย อันเป็นเบาะแสสำคัญอีกประการหนึ่งที่บ่งบอกแสดงว่า จำเลยที่ 4 มีส่วนร่วมกับจำเลยอื่นๆ ในการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองเพราะขณะที่จำเลยที่ 6 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย ยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการตามเอกสารหมาย จ.7 ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2529 นั้น ห้างดังกล่าวยังมิได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด เพราะตามต้นฉบับจริงของใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดของห้างดังกล่าวระบุว่าเพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 แต่ตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.20 ที่จำเลยที่ 4 ลงชื่อรับรองว่าถ่ายจากต้นฉบับจริง กลับระบุว่าห้างดังกล่าวจดทะเบียนจัดตั้งตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2529 ซึ่งแสดงว่าเอกสารหมาย จ.20 มีการทำปลอมขึ้นในภายหลังด้วยการลบเลข “0” ของวันที่ 30 ในต้นฉบับเอกสารออกแล้วถ่ายสำเนาเอกสารหมาย จ.20 ด้วยเครื่องถ่ายเอกสารซึ่งทำให้ไม่ปรากฏร่องรอยการลงเลข “0” ในต้นฉบับเอกสารดังกล่าวออกทำให้เอกสารนั้นกลายเป็นใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนที่ยืนยันว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย จดทะเบียนจัดตั้งมาแล้วตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2529 อันเป็นการฉ้อฉลหลอกลวงเพราะต้นฉบับที่แท้จริงของเอกสารหมาย จ.20 นั้น ระบุว่าห้างดังกล่าวเพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งในวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 และความข้อนี้ เมื่อได้ตรวจดูหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสกลนครเอกสารหมาย จ.21 ซึ่งระบุว่านายจำลองจำเลยที่ 6 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย และจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อรับรองว่าถ่ายจากต้นฉบับจริง ก็ปรากฏร่องรอยว่ามีการลบเลข “0” ของวันที่ “30” ออก เพื่อให้ปรากฏว่าห้างดังกล่าวได้จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2529 ในลักษณะเดียวกับเอกสารหมาย จ.20 เช่นเดียวกัน พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อรับรองทั้งในเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 ว่าถ่ายมาจากต้นฉบับจริงไม่ว่าจะเกิดจากจำเลยที่ 4 ได้กระทำความผิดอาญาด้วยการเจตนารับรองเอกสารเท็จจริงหรือเกิดจากจำเลยที่ 4 กระทำโดยประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบเอกสารด้วยความละเอียดรอบคอบก็ตาม ล้วนเป็นผลโดยตรงที่ทำให้จำเลยอื่นๆ สามารถสนับสนุนผลักดันให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 เข้าร่วมเป็นผู้ซื้อรายย่อยในโครงการนี้ และใช้สิทธิกู้ยืมเงินโจทก์ที่ 2 โดยใช้ที่ดินที่มีราคาประเมินต่ำกว่าจำนวนเงินกู้ยืมไปมาเป็นหลักประกันเงินกู้ยืมแทนหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารได้ทั้งๆ ที่ขณะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมโครงการตามเอกสารหมาย จ.7 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย ยังไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลดังที่ปรากฏในใบสำคัญและหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 ที่จำเลยที่ 4 ลงชื่อรับรองว่าถ่ายจากต้นฉบับจริงเช่นกัน จึงเป็นพฤติการณ์ที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยที่ 4 ในประการอื่นๆ ดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว พยานหลักฐานโจทก์จึงเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันและประกอบชอบด้วยเหตุผลมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังเชื่อถือได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้ร่วมรู้เห็นและมีส่วนร่วมกับจำเลยอื่นๆ ในการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองจริงตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 มาโดยไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับฎีกาของโจทก์ทั้งสองในประการสุดท้ายที่ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้เงินที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทยกู้ยืมไปเต็มจำนวน 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้องนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการสมคบร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองเป็นเหตุให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ได้รับเงินกู้ยืมไปจากโจทก์ที่ 2 รวม 4 ครั้ง ครั้งแรก ตามฎีกาเงินนอกงบประมาณและใบสำคัญรับเงินเอกสารหมาย จ.23 และ จ.24 จำนวนเงิน 3,500,000 บาท เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2529 ครั้งที่ 2 ตามฎีกาเงินนอกงบประมาณและใบสำคัญรับเงินเอกสารหมาย จ.42 จ.43 และ จ.44 จำนวนเงิน 3,500,000 บาท เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2529 ครั้งที่ 3 ตามฎีกาเงินนอกงบประมาณและใบสำคัญรับเงินเอกสารหมาย จ.62 และ จ.63 จำนวนเงิน 4,000,000 บาท เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2530 และครั้งที่ 4 ตามฎีกาเงินนอกงบประมาณและใบสำคัญรับเงินเอกสารหมาย จ.64 และ จ.65 จำนวนเงิน 4,000,000 บาท เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2530 จำเลยทั้งเจ็ดผู้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จึงต้องร่วมกันรับผิดคืนต้นเงินจำนวนดังกล่าวเต็มจำนวนให้แก่โจทก์ทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “อนึ่งค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด…” ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายในประเด็นนี้ว่า จำนวนเงินกู้ที่โจทก์ทั้งสองจ่ายไปไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดจากการละเมิด เนื่องจากการกู้เงินมีการใช้ที่ดินจำนองเป็นประกัน ความเสียหายที่แท้จริงอันเกิดจากการละเมิดคือส่วนต่างของจำนวนเงินที่กู้ยืมกับราคาอันแท้จริงที่ดินหลักประกันเงินกู้ในขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน จึงวินิจฉัยพยานหลักฐานในสำนวนแล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินจำนวนทั้ง 62 แปลง มีราคาที่แท้จริงเฉลี่ยไร่ละ 70,000 บาท แล้วคำนวณหาผลต่างของจำนวนเงินตามสัญญากู้กับราคาที่แท้จริงของที่ดินที่ใช้เป็นหลักประกันแล้วกำหนดเป็นค่าเสียหายที่จำเลยทั้งเจ็ดต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองนั้น นอกจากจะไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายเรื่องค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคสอง ดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 นำราคาอันแท้จริงของที่ดินที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 จดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันมาคำนวณหักออกจากจำนวนเงินที่จำเลยทั้งเจ็ดฉ้อฉลเอาไปจากโจทก์ที่ 2 ทั้งๆ ที่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ผู้รับจำนองได้ดำเนินการบังคับจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 729 ด้วยการเรียกเอาทรัพย์สินจำนองหลุดเป็นสิทธิแล้วนั้น ก็มิได้เป็นไปตามหลักกฎหมายอันว่าด้วยการบังคับจำนองด้วย ศาลฎีกาจึงไม่เห็นฟ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในประเด็นนี้ก็ฟังขึ้นเช่นกัน แต่ที่โจทก์ทั้งสองฟ้องและกล่าวอ้างในฎีกาขอให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 รับไปแต่ละงวดจนถึงวันฟ้องนั้น เห็นว่า ที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องให้จำเลยร่วมกันชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินที่รับไปแต่ละงวดจนถึงวันฟ้องนั้น ย่อมชอบที่โจทก์ทั้งสองจะมีสิทธิเรียกร้องได้เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 บัญญัติว่า “ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด” แต่ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยผิดนัด มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น” โจทก์ทั้งสองจึงคิดดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างข้อตกลงในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.69 จ.70 และ จ.71 ซึ่งมีข้อความอย่างเดียวกันในข้อ 11 ระบุว่า หากห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย ผู้กู้ผิดสัญญา ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ที่ 2 ผู้ให้กู้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเรียกร้องให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว นั้น เห็นว่า สัญญากู้เอกสารหมาย จ.69 จ.70 และ จ.71 เป็นเพียงเครื่องมือที่จำเลยทั้งเจ็ดใช้ในการฉ้อฉลกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองเท่านั้น อีกทั้งคดีนี้โจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินทุกฉบับดังกล่าว หากแต่เป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่ชอบที่จะนำข้อตกลงในสัญญากู้ดังกล่าวอ้างว่า โจทก์ทั้งสองอาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายตามนัยแห่งมาตรา 224 วรรคหนึ่งตอนท้ายได้ ดังนั้น โจทก์ทั้งสองคงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่งตอนต้น เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองได้ความว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2531 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทยได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 2 แล้วจำนวน 2,000,000 บาท ซึ่งยังไม่เพียงพอจะปลดเปลื้องหนี้ได้ทั้งหมด กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้านอกจากการชำระหนี้อันเป็นประธาน ลูกหนี้ยังจะต้องชำระดอกเบี้ย และเสียค่าฤชาธรรมเนียมอีกด้วยไซร้ หากการชำระหนี้ในครั้งหนึ่งๆ ไม่ได้ราคาเพียงพอจะปลดเปลื้องหนี้สินได้ทั้งหมด ท่านให้เอาจัดใช้เป็นค่าฤชาธรรมเนียมเสียก่อน แล้วจึงใช้ดอกเบี้ย และในที่สุดจึงให้ใช้ในการชำระหนี้อันเป็นประธาน” เมื่อเงินจำนวน 2,000,000 บาท ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูพานพัฒนกิจไทย ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ที่ 2 ในวันดังกล่าวไม่ได้ราคาเพียงพอจะปลดเปลื้องหนี้สินทั้งหมด การจัดสรรเงินจำนวนดังกล่าวชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองจึงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 329 วรรคหนึ่ง ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 3,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี คิดตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระเงินจำนวน 3,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราเดียวกัน คิดตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระเงินจำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราเดียวกัน คิดตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระเงินจำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราเดียวกัน คิดตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยได้นำเงินจำนวน 2,000,000 บาท ที่ได้ชำระให้แก่โจทก์ที่ 2 แล้ว เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2531 มาจัดใช้เป็นค่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระจนถึงวันดังกล่าวก่อน และในที่สุดจึงให้ใช้ในการชำระหนี้อันเป็นประธานตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกา แทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share