คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6377/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น ไม่มีเลขที่ 1 หลัง ขนาดประมาณ 8.08 เมตร x 10.00 เมตร สูง 10.07 เมตร มีพื้นที่ 251 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่ซอยซานเมืองแยก 7 ถนนประชาสงเคราะห์ แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร บนที่ดินโฉนดเลขที่ 29634 จากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพื่อพักอยู่อาศัย เมื่อระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงวันที่ 29 มีนาคม 2549 จำเลยจัดให้มีการก่อสร้างอาคารไม่มีเลขที่ตั้งอยู่ที่ซอยซานเมืองแยก 7 ถนนประชาสงเคราะห์ แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ตามที่ได้รับใบอนุญาตดังกล่าว เป็น 4 ชั้น ขนาดกว้าง 8.08 เมตร ยาว 10.00 สูง 10.17 เมตร เพื่อพาณิชยกรรม อันเป็นการก่อสร้างผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการที่ได้รับอนุญาต มิใช่เป็นการซ่อมแซมหรือดัดแปลงที่กำหนดในกฎกระทรวง และไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ฟ้องโจทก์ได้บรรยายชัดแจ้งว่าจำเลยเจตนาก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชย์กรรมผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการที่ได้รับอนุญาต มิใช่เป็นการซ่อมแซมหรือดัดแปลงที่กำหนดในกฎกระทรวง และไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยก่อสร้างผิดแบบโดยขออนุญาตก่อสร้างเพื่อพักอยู่อาศัย แต่มาปรับเพื่อพาณิชยกรรม หรือจำเลยมีเจตนาหรือจงใจที่จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารที่ก่อสร้างเพื่อพาณิชยกรรม ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยในความผิดกระทงที่สี่ฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคาร จำคุก 2 เดือน และปรับ 50,000 บาท และปรับอีกวันละ 200 บาท นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2549 ถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 และต่อไปจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายการที่ศาลชั้นต้นลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งแล้วคงลงโทษปรับ 25,000 บาท และปรับอีกวันละ 100 บาท ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องลงโทษจำคุก 1 เดือน ด้วย เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอให้วางโทษจำเลยเป็นสองเท่าของโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดของจำเลยตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 70 ย่อมถือได้ว่าโจทก์อุทธรณ์ในทำนองขอให้เพิ่มเติมโทษแก่จำเลยแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ระวางโทษจำคุกจำเลยในกระทงที่สี่เป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น และเมื่อลดโทษกึ่งหนึ่งแล้วคงลงโทษจำคุก 2 เดือนจึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานก่อสร้างอาคารผิดแบบที่ได้รับอนุญาตระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงวันที่ 29 มีนาคม 2549 ฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารผิดแบบระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2549 และฐานฝ่าฝืนคำสั่งห้ามใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคารระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2549 เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องมาเช่นนี้ แสดงว่าหลังจากวันที่ 29 มีนาคม 2549 และวันที่ 9 ตุลาคม 2549 ตามลำดับ จำเลยมิได้กระทำการอันเป็นความผิดนั้นๆ แล้ว การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับรายวันหลังจากวันดังกล่าวจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น ไม่มีเลขที่ 1 หลัง ขนาดประมาณ 8.08 เมตร x 10.00 เมตร สูง 10.07 เมตร มีพื้นที่ 251 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่ซอยชานเมืองแยก 7 ถนนประชาสงเคราะห์ แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร บนที่ดินโฉนดเลขที่ 29634 จากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพื่อพักอยู่อาศัย ตามใบอนุญาตเลขที่ ขดด.133/2548 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2548 เมื่อระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 29 มีนาคม 2549 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยจัดให้มีการก่อสร้างอาคารไม่มีเลขที่ ตั้งอยู่ที่ซอยชานเมืองแยก 7 ถนนประชาสงเคราะห์ แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ตามที่ได้รับใบอนุญาตดังกล่าว เป็น 4 ชั้น ขนาดกว้าง 8.08 เมตร ยาว 10.00 เมตร สูง 10.70 เมตร เพื่อพาณิชยกรรม ให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการที่ได้รับอนุญาต โดยมิใช่เป็นการซ่อมแซมหรือดัดแปลงที่กำหนดในกฎกระทรวง และไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2549 เจ้าพนักงานท้องถิ่น สำนักงานเขตดินแดง มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้าย อาคารดังกล่าว ตามคำสั่งเลขที่ กท 7603/1299 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2549 โดยจัดส่งคำสั่งดังกล่าวให้จำเลยทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับซึ่งจำเลยได้รับเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2549 และปิดคำสั่งไว้ในที่เปิดเผย ณ อาคารที่กำลังก่อสร้างดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งเมื่อพ้นกำหนด 3 วัน นับแต่วันที่ปิดประกาศ คือตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 เมื่อระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2549 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับ ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารดังกล่าวเข้าไปก่อสร้างอาคารชั้นที่ 4 ผิดแบบแปลนจนแล้วเสร็จ โดยมิได้อยู่ในระหว่างการอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2549 เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งห้ามจำเลยและบุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคารที่ก่อสร้างผิดแบบดังกล่าวจนกว่าจะได้จัดการแก้ไขให้ถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาตหรือตามที่ได้แจ้งไว้ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับซึ่งจำเลยได้รับเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2545 และปิดคำสั่งและเครื่องหมายห้ามใช้อาคารไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งเมื่อพ้นกำหนด 3 วัน นับแต่วันที่ปิดประกาศคือตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 เมื่อระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2549 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวเข้าดำเนินการก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนจนแล้วเสร็จ โดยมิได้อยู่ในระหว่างการอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2549 เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารที่ก่อสร้างผิดเงื่อนไขและผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการที่ได้รับอนุญาตให้ถูกต้องภายใน 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้ทราบคำสั่งดังกล่าว โดยแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับซึ่งจำเลยได้รับเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2549 และปิดคำสั่งไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องให้ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างผิดแบบที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นทั้งหมดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งโดยแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับซึ่งจำเลยได้รับเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2549 และปิดคำสั่งไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2549 ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งเมื่อพ้นกำหนด 3 วัน นับแต่วันที่ปิดประกาศ คือตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2549 ครบกำหนดรื้อถอนในวันที่ 9 กรกฎาคม 2549 เมื่อระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม 2549 ถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งไม่รื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างผิดแบบ โดยมิได้อยู่ในระหว่างการอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น เหตุเกิดที่แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุทเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 31, 40, 42, 65, 66 ทวิ, 67, 70 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ปรับจำเลยเป็นรายวันฐานก่อสร้างอาคารผิดแบบที่ได้รับอนุญาตตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 ฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารผิดแบบตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 ฐานฝ่าผืนคำสั่งห้ามใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคารตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 และฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2549 จนกว่าจำเลยจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 31, 40 (1) และ (2), 42, 65, 66 ทวิ, 67 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานก่อสร้างอาคารผิดแบบที่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน และปรับ 40,000 บาท และปรับอีกวันละ 200 บาท นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงวันที่ 29 มีนาคม 2549 และต่อไปจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารผิดแบบ จำคุก 2 เดือน และปรับ 50,000 บาท และปรับอีกวันละ 200 บาท นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2549 และต่อไปจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายฐานฝ่าฝืนคำสั่งห้ามใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคาร จำคุก 2 เดือน และปรับ 50,000 บาท และปรับอีกวันละ 200 บาท นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2549 และต่อไปจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารจำคุก 2 เดือน และปรับ 50,000 บาท และปรับอีกวันละ 200 บาท นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2549 และต่อไปจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารจำคุก 2 เดือน และปรับ 50,000 บาท และปรับอีกวันละ 200 บาท นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2549 ถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 และต่อไปจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งทุกกระทง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงแรก 1 เดือน และปรับ 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 100 บาท กระทงที่สองจำคุก 1 เดือน และปรับ 25,000 บาท และปรับอีกวันละ 100 บาท กระทงที่สามจำคุก 1 เดือน และปรับ 25,000 บาท และปรับอีกวันละ 100 บาท กระทงที่สี่ปรับ 25,000 บาท และปรับอีกวันละ 100 บาท โทษปรับรายวันให้เป็นไปตามเดิมโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดเพิ่มตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 อีก 1 มาตรา คือมาตรา 70 ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษแต่ละกรรมเป็นกระทงความผิดตามที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษา เมื่อลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่กระทงรวม 8 เดือน และรวมปรับเพิ่มอีกจำนวน 299,800 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาประการแรกว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยก่อสร้างอาคารผิดแบบเพราะจำเลยขออนุญาตก่อสร้างเพื่อพักอยู่อาศัยแต่มาปรับเพื่อพาณิชยกรรมใช้เป็นห้องเช่าฟ้องโจทก์จึงไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยก่อสร้างอาคารโดยมีเจตนาหรือจงใจที่จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารที่ก่อสร้างเพื่อพาณิชยกรรมตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 ประกอบมาตรา 70 ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวจึงไม่อาจลงโทษจำเลยเป็นสองเท่าตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น ไม่มีเลขที่ 1 หลัง ขนาดประมาณ 8.08 เมตร x 10.00 เมตร สูง 10.07 เมตร มีพื้นที่ 251 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่ซอยชานเมืองแยก 7 ถนนประชาสงเคราะห์ แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร บนที่ดินโฉนดเลขที่ 29634 จากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพื่อพักอยู่อาศัย เมื่อระหว่างระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงวันที่ 29 มีนาคม 2549 จำเลยจัดให้มีการก่อสร้างอาคารไม่มีเลขที่ ตั้งอยู่ที่ซอยชานเมืองแยก 7 ถนนประชาสงเคราะห์ แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ตามที่ได้รับใบอนุญาตดังกล่าว เป็น 4 ชั้น ขนาดกว้าง 8.08 เมตร ยาว 10.00 สูง 10.17 เมตร เพื่อพาณิชยกรรม อันเป็นการก่อสร้างผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการที่ได้รับอนุญาต มิใช่เป็นการซ่อมแซมหรือดัดแปลงที่กำหนดในกฎกระทรวง และไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ฟ้องโจทก์ได้บรรยายชัดแจ้งว่าจำเลยเจตนาก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชย์กรรมผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลนและรายการที่ได้รับอนุญาต มิใช่เป็นการซ่อมแซมหรือดัดแปลงที่กำหนดในกฎหมายกระทรวง และไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยก่อสร้างผิดแบบโดยขออนุญาตก่อสร้างเพื่อพักอยู่อาศัย แต่มาปรับเพื่อพาณิชยกรรม หรือจำเลยมีเจตนาหรือจงใจที่จะก่อสร้างดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารที่ก่อสร้างเพื่อพาณิชยกรรมดังที่จำเลยฎีกา ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) เมื่อโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 70 และจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลอุทธรณ์ย่อมระวางโทษจำเลยเป็นสองเท่าตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยข้อที่จำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ยกข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยมารับฟังลงโทษจำเลยเป็นการไม่ชอบ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
ที่จำเลยฎีกาประการต่อไปว่า การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำเลยในการกระทำความผิดกระทงที่สี่โดยจำคุกเพิ่มขึ้นอีก 1 เดือน เป็นการวินิจฉัยในข้อที่โจทก์มิได้ว่ากล่าวมาในอุทธรณ์และเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยในความผิดกระทงที่สี่ฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคาร จำคุก 2 เดือน และปรับ 50,000 บาท และปรับอีกวันละ 200 บาท นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2549 ถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 และต่อไปจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย การที่ศาลชั้นต้นลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งแล้วคงลงโทษปรับ 25,000 บาท และปรับอีกวันละ 100 บาท ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องลงโทษจำคุก 1 เดือน ด้วย เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอให้วางโทษจำเลยเป็นสองเท่าของโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดของจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 70 ย่อมถือได้ว่าโจทก์อุทธรณ์ในทำนองขอให้เพิ่มเติมโทษแก่จำเลยแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ระวางโทษจำคุกจำเลยในกระทงที่สี่เป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น และเมื่อลดโทษกึ่งหนึ่งแล้วคงลงโทษจำคุก 2 เดือน จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เช่นกัน
อนึ่ง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานก่อสร้างอาคารผิดแบบที่ได้รับอนุญาตระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงวันที่ 29 มีนาคม 2549 ฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารผิดแบบระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2549 และฐานฝ่าฝืนคำสั่งห้ามใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคารระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2549 เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องมาเช่นนี้ แสดงว่าหลังจากวันที่ 29 มีนาคม 2549 และวันที่ 9 ตุลาคม 2549 ตามลำดับ จำเลยมิได้กระทำการอันเป็นความผิดนั้นๆ แล้ว การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับรายวัน หลังจากวันดังกล่าวจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้น จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ปัญหานี้แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาโดยตรง แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาแก้โทษจำเลยให้ตรงกับฟ้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับรายวันหลังจากวันที่ 29 มีนาคม 2549 สำหรับความผิดฐานก่อสร้างอาคารผิดแบบที่ได้รับอนุญาตและหลังจากวันที่ 9 ตุลาคม 2549 สำหรับความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารผิดแบบและฐานฝ่าฝืนคำสั่งห้ามใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคาร นอกจากนี้แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share