แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า ป. ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจบริษัทโจทก์ร่วมอนุมัติให้จำเลยเบิกเงินเดือนของจำเลยล่วงหน้าได้ แม้จำเลยจะไม่ได้ขออนุมัติจาก ป. ก่อนตามระเบียบการเบิกเงินเดือนล่วงหน้าของพนักงาน ก็ไม่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยมีเจตนาทุจริต จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2541 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2542 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทปีเตอร์ สโตน จำกัด ผู้เสียหาย ตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป มีอำนาจเบิกเงินสดของผู้เสียหายสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายของผู้เสียหายหรือเงินเดือนล่วงหน้าของพนักงานแต่ละเดือนเบิกและรับมอบเงินจากผู้เสียหายไว้ในความครอบครองของจำเลย แล้วจำเลยจ่ายเป็นเงินเดือนล่วงหน้าให้แก่พนักงานของผู้เสียหายบางส่วน ส่งเงินคืนให้แก่ผู้เสียหายบางส่วน และเงินส่วนที่เหลือนอกจากนี้ จำเลยเบียดบังเอาไปเป็นประโยชน์ของตนหรือบุคคลที่ 3 โดยทุจริต 14 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 593,953.50 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 352 ให้จำเลยคืนหรือให้เงิน 593,953.50 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาบริษัทปีเตอร์ สโตน จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 รวม 14 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 1 ปี รวมจำคุก 14 ปี ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงิน 593,953.50 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายปีเตอร์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป โจทก์ร่วมวางระเบียบการเบิกเงินเดือนล่วงหน้าของพนักงานว่า จำเลยมีสิทธิอนุมัติการเบิกเงินเดือนล่วงหน้าของพนักงานได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของเงินเดือนของพนักงานแต่ละคน ส่วนกรณีที่จำเลยต้องการเบิกเงินเดือนล่วงหน้า จำเลยจะต้องได้รับอนุมัติจากนายปีเตอร์ก่อน และพนักงานทุกคนที่เบิกเงินเดือนล่วงหน้าไปจะต้องดำเนินการหักยอดเงินที่เบิกออกมาใช้ล่วงหน้าจากเงินเดือนเพื่อคืนให้แก่โจทก์ร่วม โดยผ่านระบบบัญชีให้เสร็จสิ้นภายในเดือนนั้นตามระเบียบการเบิกเงินเดือนล่วงหน้าของพนักงานโจทก์ร่วมเอกสารหมาย จ.ร.3 ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยเบิกเงินเดือนของจำเลยล่วงหน้าไปหลายครั้ง และมีการหักเงินเดือนของจำเลยคืนให้แก่โจทก์ร่วมแล้วบางส่วน คงค้างชำระเป็นเงิน 593,953.50 บาท ตามรายงานเอกสารหมาย จ.24 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่จำเลยเบิกเงินเดือนของจำเลยล่วงหน้าไปดังกล่าว เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ ในปัญหานี้ได้ความจากคำเบิกความของนางสาวสุวารี ผู้จัดการฝ่ายบัญชีของโจทก์ร่วมพยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า บัญชีของโจทก์ร่วมไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานทางบัญชี ได้แจ้งให้ฝ่ายบุคคลทำการตรวจสอบสาเหตุที่พนักงานเบิกเงินเดือนล่วงหน้าตามสิทธิของตนแล้วคืนเงินทดรองจ่ายไม่ตรง แต่ก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงจากนางสาวมณีรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลอ้างว่างานยุ่ง โดยไม่ปรากฏว่านางสาวมณีรัตน์บอกว่าจำเลยสั่งให้พนักงานฝ่ายบัญชีไม่ให้หักเงินเดือนของจำเลยแต่อย่างใด นางสาวสุวารียังเบิกความด้วยว่า จำเลยอนุมัติการเบิกค่าใช้จ่ายหรือเงินเดือนล่วงหน้าได้ โดยต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ร่วม หากเบิกเกินวงเงินนายปีเตอร์จะร่วมอนุมัติด้วย แต่ในทางปฏิบัติ แม้จะเบิกเกินวงเงินแต่มีเหตุจำเป็น จำเลยก็ลงลายมือชื่ออนุมัติเพียงคนเดียวได้ แสดงว่าโจทก์ร่วมไม่ได้ถือตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินเดือนล่วงหน้าของพนักงานโดยเคร่งครัด และไม่น่าเชื่อว่าจำเลยใช้อำนาจในฐานะผู้จัดการทั่วไป ในเชิงบีบบังคับให้เจ้าหน้าที่การเงินซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยเบิกเงินของโจทก์ร่วมมามอบให้แก่จำเลยดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของนางพรวดี ภริยานายปีเตอร์ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า หลังจากมีการเบิกเงินเดือนล่วงหน้าแล้ว ใบสำคัญจ่ายทั้งหมดจะเก็บไว้ที่ฝ่ายบัญชี ซึ่งนายปีเตอร์สามารถตรวจสอบเอกสารดังกล่าวได้ทุกเวลา ทั้งการเบิกเงินเดือนของจำเลยล่วงหน้าจำเลยก็ระทำตามขั้นตอน ผ่านการตรวจสอบของฝ่ายบุคคลและฝ่ายบัญชีของโจทก์ร่วม โดยเปิดเผยมาเป็นเวลาปีเศษ และมีใบสำคัญจ่ายเป็นหลักฐานให้ตรวจสอบ เชื่อว่านายปีเตอร์ทราบว่าจำเลยเบิกเงินเดือนของจำเลยล่วงหน้าไปหลายครั้ง โดยมิได้ขออนุมัติจากนายปีเตอร์ก่อน แต่ไม่ปรากฏว่านายปีเตอร์ทักท้วง พฤติการณ์ดังกล่าวนี้ ทำให้จำเลยเข้าใจสุจริตว่านายปีเตอร์อนุมัติให้จำเลยเบิกเงินเดือนของจำเลยล่วงหน้าได้ แม้จำเลยจะไม่ได้ขออนุมัติจากนายปีเตอร์ก่อนตามระเบียบการเบิกเงินเดือนล่วงหน้าของพนักงานก็ตาม ก็หาใช่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยมีเจตนาทุจริตไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ และไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาข้ออื่นของจำเลยต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง