แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ม.100/2 บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่า ผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้” ซึ่งข้อมูลที่ผู้กระทำความผิดให้ต่อเจ้าพนักงานตามที่บัญญัติไว้นั้น จะต้องมีลักษณะเป็นการนอกเหนือจากวิสัยที่เจ้าพนักงานจะสามารถค้นพบได้จากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และในการปราบปรามยาเสพติดให้โทษของเจ้าพนักงานต่อจากนั้นเป็นผลโดยตรงจากการให้ข้อมูลหรือเบาะแสที่สำคัญของผู้กระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความเพียงว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกจับกุม จำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำว่า จำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะไปลำเลียงเมทแอมเฟตามีน จากสหภาพพม่าเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้คุ้มกัน ส่วนบันทึกคำรับสารภาพที่เขียนด้วยลายมือของตนเองก็กล่าวแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 3 และที่ 4 เดินเข้าไปในสหภาพพม่าเพื่อลำเลียงเมทแอมเฟตามีน ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้เจ้าพนักงานตำรวจที่มาเบิกความต่างก็ยืนยันว่ามีการสืบสวนหาข่าวและทราบมาก่อนทั้งสิ้น อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ จากนั้นได้มีการวางแผนจับกุมและแกะรอยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จนกระทั่งจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ คำให้การของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้สมควรใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามบทบัญญัติดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 5, 6, 7 และริบยาเสพติดให้โทษของกลาง
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 65 วรรคสอง, 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ความผิดฐานร่วมกันนำเข้าเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายและความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันนำเข้าเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 50 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้างเห็นควรลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต ริบยาเสพติดให้โทษของกลาง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) ให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 100/2 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และควรลดโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ลงอีกหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่า ผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้” ซึ่งข้อมูลที่ผู้กระทำความผิดให้ต่อเจ้าพนักงานตามที่บัญญัติไว้นั้น จะต้องมีลักษณะเป็นการนอกเหนือจากวิสัยที่เจ้าพนักงานจะสามารถค้นพบได้จากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และในการปราบปรามยาเสพติดให้โทษของเจ้าพนักงานต่อจากนั้น เป็นผลโดยตรงจากการให้ข้อมูลหรือเบาะแสที่สำคัญของผู้กระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความแต่เพียงว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ถูกจับกุมตัว จำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะไปลำเลียงเมทแอมเฟตามีนจากสหภาพพม่าเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้คุ้มกันและนำทาง ส่วนบันทึกคำรับสารภาพที่เขียนด้วยลายมือของตนเองก็กล่าวแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 3 และที่ 4 เดินเข้าไปในสหภาพพม่าเพื่อลำเลียงเมทแอมเฟตามีน ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้เจ้าพนักงานตำรวจที่มาเบิกความเป็นพยานต่อศาลต่างก็ยืนยันว่าได้มีการสืบสวนหาข่าวและทราบมาก่อนทั้งสิ้นอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ จากนั้นได้มีการวางแผนจับกุมและแกะรอยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2547 จนกระทั่งจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2547 คำให้การของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน อันจะเป็นเหตุให้สมควรใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 1 นั้น เหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน