แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้ที่งอกอันเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้จะเกิดขึ้นจากการที่บุคคลอื่นสร้างเขื่อนหินยื่นลงไปในทะเลใกล้กับที่ดินของโจทก์ทำให้เกิดการสะสมของตะกอนทรายแล้วเกิดที่งอกจากที่ดินดังกล่าวของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนหินดังกล่าว ก็ถือได้ว่าที่งอกของที่ดินของโจทก์เป็นที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โจทก์จึงเป็นเจ้าของที่งอกดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1308
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารพร้อมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไปจากที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 8894 และ 8895 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป หากจำเลยทั้งสองและบริวารไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนเองโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 9,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทตามแผนที่วิวาท ซึ่งขีดด้วยหมึกสีเขียวภายในกรอบที่ขีดด้วยหมึกสีแดงซึ่งเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 8894 และ 8895 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท ให้แก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่งอกริมตลิ่งของโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารพร้อมทั้งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไปจากที่งอกริมตลิ่งของที่ดินของโจทก์ โดยหากโจทก์ให้บุคคลอื่นเช่าที่ดินพิพาทจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 9,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การในตอนแรกว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะ ไม่ใช่ที่งอกตามธรรมชาติ โจทก์ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ 1 กับสามีและบุตรของจำเลยที่ 1 ร่วมกันยึดถือครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว แต่ตอนหลังกลับให้การว่า หากที่ดินพิพาทเป็นที่งอกตามธรรมชาติของที่ดินโจทก์ ที่ดินก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 กับสามีและบุตรของจำเลยที่ 1 โดยการครอบครองแล้ว เห็นว่า คำให้การของจำเลยทั้งสองเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเอง ไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นที่สาธารณะไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ จึงไม่ใช่คดีมีทุนทรัพย์ แต่เป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ เมื่อปรากฏว่าอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 คดีนี้คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เพราะเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 8894 และ 8895 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ของโจทก์หรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่งอกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 8894 และ 8895 ซึ่งเกิดจากการสะสมตัวของตะกอนทรายชายหาดเนื่องจากมีสิ่งก่อสร้างเป็นเขื่อนหินยื่นลงไปในทะเลใกล้กับที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวของโจทก์ ทำให้กีดขวางการเคลื่อนย้ายของตะกอนทรายชายฝั่งทะเลและกักเก็บตะกอนทรายนี้ให้สะสมตัว ทำให้ที่งอกเกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดจากมนุษย์นำไปถม วัตถุประสงค์ในการสร้างเขื่อนหินของบริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด ผู้สร้างเขื่อนหินเพื่อกันมิให้ทรายเปิดปากคลอง ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดที่งอกริมตลิ่ง โจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนหินดังกล่าว ที่งอกเกิดขึ้นติดต่อเป็นแปลงเดียวกับที่ดินเดิมโฉนดเลขที่ 8894 และ 8895 ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การเกิดที่งอกในคดีนี้มิได้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการสร้างเขื่อนหินของบริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด ทำให้กีดขวางการเคลื่อนย้ายตะกอนชายฝั่งเกิดที่งอกขึ้นโดยรวดเร็วไม่เป็นไปตามธรรมชาตินั้น เห็นว่า แม้ที่งอกอันเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้จะเกิดขึ้นจากการที่บุคคลอื่นสร้างเขื่อนหินยื่นลงไปในทะเลใกล้กับที่ดินโฉนดเลขที่ 8894 และ 8895 ของโจทก์ทำให้เกิดการสะสมของตะกอนทรายแล้วเกิดที่งอกจากที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนหินดังกล่าว ก็ถือได้ว่าที่งอกของที่ดินของโจทก์เป็นที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โจทก์จึงเป็นเจ้าของที่งอกดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะต้องสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นด้วย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังไม่ได้สั่ง ศาลฎีกาจึงสั่งเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในชั้นฎีกาให้เป็นพับ