คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10417/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อว่าเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 เมษยน 2540 เช่นนี้ เมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 9 จึงเป็นงวดประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดที่ 9 นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2541 แสดงว่าโจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดที่ระบุในสัญญา เช่นนี้ถือว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาอันควรก่อน การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2541 จึงไม่ชอบ
รถยนต์ที่เช่าซื้อได้สูญหายไปจริงก่อนโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์รวมกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินที่ให้เช่า สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 ดังนี้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันนับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการสูญหายเป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่นับแต่วันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไม่ได้ แต่ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4. กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเกี่ยวกับค่าเสียหายจากการใช้การเก็บรักษาทรัพย์ที่เช่าซื้อแม้เป็นเหตุสุดวิสัย และตามข้อ 7. ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเงินค่าเช่าซื้อ ค่าเสียหายใด ๆ ในกรณีสัญญาเช่าซื้อได้ยกเลิกเพิกถอนไม่ว่าเหตุใดให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน ย่อมหมายความรวมถึงผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อเกี่ยวกับค่าเสียหาย ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระในกรณีสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุรถยนต์เช่าซื้อสูญหายด้วย ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะเป็นเบี้ยปรับย่อมใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
แม้หนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เป็นเพียงคู่ฉบับ และสัญญาค้ำประกันจะมิได้ติดอากรแสตมป์ แต่ตามคำให้การจำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 มิได้ทำสัญญาเช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองให้การยอมรับแล้วว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามฟ้องกับโจทก์จริง โดยไม่จำต้องอาศัยสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐานในคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อและค่าเสียหายเป็นเงิน 327,996 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 251,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ตกเป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยทั้งสองไม่ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2540 จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน บท 3072 นครสวรรค์ ไปจากโจทก์ในราคา 422,496 บาท ตกลงผ่อนชำระ 36 งวด งวดละ 11,736 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 เมษายน 2540 และทุกวันที่ 25 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาประการแรกว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว แต่จำเลยทั้งสองให้การว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไปการที่รถยนต์สูญหายย่อมเป็นภัยพิบัติแก่โจทก์เป็นทำนองว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไป ซึ่งศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติจึงเห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุใด ในข้อนี้ได้ความตามสัญญาเช่าซื้อว่าเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 เมษายน 2540 เช่นนี้ เมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 9 จึงเป็นงวดประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดที่ 9 นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2541 แสดงว่าโจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดที่ระบุในสัญญา เช่นนี้ถือว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาอันควรก่อน การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2541 จึงไม่ชอบ ทั้งจำเลยทั้งสองยังเบิกความยืนยันว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2541 และได้แจ้งความไว้เป็นหลักฐานโดยโจทก์ไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อได้สูญหายไปจริงก่อนโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์รวมกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินที่ให้เช่า สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 ดังนี้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันนับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการสูญหายเป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่นับแต่วันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไม่ได้ แต่ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4. กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเกี่ยวกับค่าเสียหายจากการใช้ การเก็บรักษาทรัพย์ที่เช่าซื้อแม้เป็นเหตุสุดวิสัยและตามข้อ 7. ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเงินค่าเช่าซื้อ ค่าเสียหายใดๆ ในกรณีสัญญาเช่าซื้อได้ยกเลิกเพิกถอนไม่ว่าเหตุใดให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน ย่อมหมายความรวมถึงผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อเกี่ยวกับค่าเสียหายค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระในกรณีสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุรถยนต์เช่าซื้อสูญหายด้วย ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะเป็นเบี้ยปรับย่อมใช้บังคับได้ตามกฎหมาย หากพฤติการณ์ปรากฏว่าสูงเกินส่วนศาลย่อมกำหนดให้ตามสมควรแก่ความเสียหายได้ การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระค่าใช้จ่ายในการติดตามรถตามที่กำหนดในสัญญาและศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โดยถือว่าเป็นเบี้ยปรับนั้น ถือได้ว่าเป็นการกำหนดค่าเสียหายตามที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องไม่เกินคำขอของโจทก์ตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาอย่างใด ส่วนการชำระค่าเช่าซื้อนั้นโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์เพียง 8 งวด เท่านั้น จำเลยทั้งสองนำสืบว่าได้ชำระค่าเช่าซื้อรวม 10 งวด ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่มีหลักฐานมาแสดงได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเพียง 8 งวด กลับปรากฏจากคำเบิกความของนางสาวอุษณีรัตน์พนักงานบัญชีของโจทก์ว่าใบรับเงินชั่วคราวเอกสารหมาย ล.1 โจทก์ออกให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 7 ถึงงวดที่ 12 แม้จะอ้างว่าเช็คบางฉบับเรียกเก็บเงินไม่ได้ แต่จำเลยที่ 1 ก็นำสืบว่าได้ผ่อนชำระเงินสดจนถึงงวดที่ 10 ประจำเดือนมกราคม 2541 ซึ่งเจือสมกับหนังสือบอกเลิกสัญญาของโจทก์ที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 ค้างค่างวดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2541 ถึงเดือนกันยายน 2541 ดังนี้ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์แล้ว 10 งวด เมื่อพิเคราะห์ถึงราคารถยนต์ที่แท้จริงประกอบกับค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระแก่โจทก์และรถยนต์ย่อมเสื่อมราคาไปเพราะการใช้ตามปกติแล้ว เห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายมา 251,000 บาท นั้นเหมาะสมแล้ว
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาประการสุดท้ายว่า โจทก์แสดงแต่คู่ฉบับสัญญาเช่าซื้อมิได้แสดงว่าต้นฉบับสัญญาเช่าซื้ออยู่ ณ ที่ใด ติดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่ และสัญญาค้ำประกันมิได้ปิดอากรแสตมป์ จึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 และประมวลรัษฎากร มาตรา 118 นั้น เห็นว่า แม้หนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เป็นเพียงคู่ฉบับ และสัญญาค้ำประกันจะมิได้ติดอากรแสตมป์ แต่ตามคำให้การจำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ทำสัญญาเช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองให้การยอมรับแล้วว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามฟ้องกับโจทก์จริง โดยไม่จำต้องอาศัยสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐานในคดี ดังนั้น แม้สัญญาเช่าซื้อจะเป็นเพียงคู่ฉบับและสัญญาค้ำประกันจะมิได้ติดอากรแสตมป์ ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติดังกล่าวแล้วได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share