คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2910/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ซองกระสุนเป็นอาวุธปืนตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 (1) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 1 (4) แม้ซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 15 นัด และ 30 นัด เป็นซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินกว่า 10 นัด อันเป็นซองกระสุนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ข้อ 2 (12) ซึ่งเป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 ตามฟ้องโจทก์ แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีกฎกระทรวง ฉบับที่ 18 (พ.ศ.2552) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 กำหนดให้ซองกระสุนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ต้องเป็นซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกิน 20 นัด จึงถือได้ว่าตามบทบัญญัติดังกล่าวที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 15 นัด ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง จำเลยคงมีความผิดฐานมีอาวุธปืน (ซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 30 นัด) ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง สำหรับซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 30 นัด ของกลาง เป็นซองกระสุนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ผู้ใดมีไว้ย่อมเป็นความผิด ซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 32 บัญญัติให้ริบเสียทั้งสิ้น จึงต้องริบซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 30 นัด ของกลาง ตามบทบัญญัติดังกล่าว
ความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ในครอบครองต้องระวางโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของผู้อื่นที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้และเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง ต้องระวางโทษตามมาตรา 72 วรรคสาม และวัตถุที่ต้องห้ามทั้งสองกรณีดังกล่าว กฎหมายถือว่าเป็นวัตถุประเภทเดียวกันโดยบัญญัติบทความผิดกับบทลงโทษในบทมาตราเดียวกัน เมื่อจำเลยมีไว้ในครอบครองในขณะเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกเป็นความผิดแต่ละกรรมโดยชัดแจ้งและขอให้ลงโทษทุกกรรมกับจำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่ทำให้การกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8, 8 ทวิ, 55, 56, 72, 72 ทวิ, 78 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 4, 6, 23 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 371 ริบอาวุธปืนของกลางลำดับที่ 1 ซองกระสุนปืนของกลางชนิดบรรจุ 15 นัด และ 30 นัด ลำดับที่ 24 กระสุนปืนขนาด .32 ของกลางลำดับที่ 20 ลำกล้องเก็บเสียงขนาด .22 จำนวน 1 อัน ของกลางลำดับที่ 39 และเครื่องวิทยุคมนาคม 2 เครื่อง พร้อมเครื่องชาร์จ ของกลางลำดับที่ 54 ถึง 56
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 55, 56, 72 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 72 ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสอง), 78 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 6 (ที่ถูก มาตรา 6 วรรคหนึ่ง), 23 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนปืนของผู้อื่น และเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองและฐานมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ได้รับใบอนุญาตไว้ในครอบครอง เป็นการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกัน จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท และฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท รวมจำคุก 3 ปี 6 เดือน และปรับ 16,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 9 เดือน และปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายใน 1 ปี กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 10 ชั่วโมง หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบอาวุธปืนของกลางลำดับที่ 1 ซองกระสุนปืนของกลางชนิดบรรจุ 15 นัด และ 30 นัด กระสุนปืนขนาด .32 ของกลางลำดับที่ 20 ลำกล้องเก็บเสียงขนาด .22 จำนวน 1 อัน ของกลางลำดับที่ 39 และเครื่องวิทยุคมนาคม 2 เครื่อง พร้อมเครื่องชาร์จ ของกลางลำดับที่ 54 ถึง 56
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนเจ้าพนักงานประทับไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และความผิดฐานมีอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนเจ้าพนักงานประทับไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 6,000 บาท ส่วนความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาตไว้ในครอบครอง และความผิดฐานมีอาวุธปืน (ลำกล้องเก็บเสียง) ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง เป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กระทงแรก ปรับ 680 บาท กระทงที่สอง จำคุก 2 ปี สำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของตนเองติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร ปรับ 2,000 บาท เมื่อรวมเข้ากับโทษฐานมีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นก่อนลดโทษแล้ว เป็นจำคุก 4 ปี และปรับ 18,680 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี และปรับ 9,340 บาท ให้ยกฟ้องข้อหามีอาวุธปืน (ซองกระสุนปืน) ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ไม่ริบซองกระสุนปืนของกลางขนาด 9 มม. ชนิดบรรจุกระสุน 15 นัด และ 30 นัด โดยให้คืนแก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืน (ซองกระสุน) ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง และต้องริบซองกระสุนของกลาง ขนาด 9 มม. ชนิดบรรจุกระสุน 15 นัด และ 30 นัด หรือไม่ เห็นควรวินิจฉัยในความผิดฐานมีซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 15 นัดก่อน เห็นว่า แม้ซองกระสุนของกลางเป็นซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินกว่า 10 นัด อันเป็นซองกระสุนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 2 (12) ซึ่งเป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 ตามฟ้องโจทก์ แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีกฎกระทรวง ฉบับที่ 18 (พ.ศ.2552) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2552 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2552 โดยกำหนดไว้ในข้อ 1 ว่า ให้ยกเลิกความใน (12) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2512) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(12) ซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินยี่สิบนัด เว้นแต่ซองกระสุนที่ใช้กับปืนลูกกรดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากลำกล้องไม่เกิน 5.6 มม.” ดังนี้ ถือได้ว่าตามบทบัญญัติของกฎกระทรวง ฉบับที่ 18 (พ.ศ.2552) ที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 15 นัด ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานนี้และไม่ริบซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 15 นัด ของกลางนั้น ชอบแล้ว ส่วนความผิดฐานมีซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 30 นัด เห็นว่า กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 1 ระบุว่า ส่วนของอาวุธปืนซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ถือว่าเป็น “อาวุธปืน” ตามความในมาตรา 4 (1) คือ (4) เครื่องส่งกระสุน ซองกระสุน หรือส่วนประกอบสำคัญของสิ่งเหล่านี้ และข้อ 2 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 18 (พ.ศ.2552) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ระบุว่า ห้ามมิให้ออกใบอนุญาตสำหรับให้ทำหรือสั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนสำหรับอาวุธดังต่อไปนี้เพื่อการค้าหรือเพื่อใช้ส่วนตัว คือ (12) ซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินยี่สิบนัด เว้นแต่ซองกระสุนที่ใช้กับปืนลูกกรดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากลำกล้องไม่เกิน 5.6 มม. ดังนั้น ซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 30 นัด ของกลางจึงเป็นอาวุธปืนตามความหมายของพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 (1) เมื่อเป็นซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินยี่สิบนัดแล้วก็เป็นซองกระสุนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 2 (12) จำเลยจึงมีความผิดฐานมีอาวุธปืน (ซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 30 นัด) ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานมีอาวุธปืน (ลำกล้องเก็บเสียง) ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ สำหรับซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 30 นัด ของกลาง เป็นซองกระสุนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ผู้ใดมีไว้ย่อมเป็นความผิด ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 บัญญัติให้ริบเสียทั้งสิ้น จึงต้องริบซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 30 นัด ของกลางตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าการที่จำเลยมีซองกระสุนปืนดังกล่าวไว้ในครอบครองไม่เป็นความผิดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า การที่จำเลยมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตกับมีอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของผู้อื่นที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้และเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำความผิด หลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ในครอบครองต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของผู้อื่นที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้และเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง ต้องระวางโทษตามมาตรา 72 วรรคสาม และวัตถุที่ต้องห้ามทั้งสองกรณีดังกล่าว กฎหมายถือว่าเป็นวัตถุประเภทเดียวกันโดยบัญญัติบทความผิดกับบทลงโทษในบทมาตราเดียวกัน เมื่อจำเลยมีไว้ในครอบครองในขณะเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกเป็นความผิดแต่ละกรรมโดยชัดแจ้งและขอให้ลงโทษทุกกรรมกับจำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่ทำให้การกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่โจทก์ฎีกาได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืน (ซองกระสุนชนิดบรรจุกระสุนได้ 30 นัด) ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง อีกบทหนึ่ง อันเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานมีอาวุธปืน (ลำกล้องเก็บเสียง) ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ซึ่งมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานมีอาวุธปืน (ลำกล้องเก็บเสียง) ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 กำหนดโทษให้คงเดิม ริบซองกระสุนของกลางขนาด 9 มม. ชนิดบรรจุกระสุน 30 นัด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share