คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2090/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้หนังสือแจ้งการประเมินซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองต้องระบุระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือโต้แย้งไว้ด้วย และในวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนโดยมิได้ระบุระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งไว้ ให้ขยายระยะเวลาเป็นหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง บทบัญญัติดังกล่าวมีผลเป็นการให้สิทธิแก่ผู้รับประเมิน โดยขยายระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่เป็นหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน ดังนั้นแม้โจทก์มิได้แจ้งสิทธิในการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ก็หาทำให้การประเมินนั้นไม่ชอบ เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่ได้รับแจ้งการประเมิน จำนวนภาษีที่ประเมินไว้จึงเป็นจำนวนเด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 27

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าภาษีและค่าเพิ่มเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 301,950 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าภาษีและเงินเพิ่มรวมเป็นจำนวน 301,950 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดเป็นค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร วินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้หนังสือแจ้งการประเมินซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองต้องระบุระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือโต้แย้งไว้ด้วย และในวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนโดยมิได้ระบุระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งไว้ ให้ขยายระยะเวลาเป็นหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง บทบัญญัติดังกล่าวมีผลเป็นการให้สิทธิแก่ผู้รับประเมิน โดยขยายระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่เป็นหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน ดังนั้น แม้โจทก์มิได้แจ้งสิทธิในการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ก็หาทำให้การประเมินนั้นไม่ชอบ และที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมิได้กำหนดโดยชัดเจนว่าในการโต้แย้ง คัดค้าน ต้องทำเป็นหนังสือ จึงสามารถตีความได้ว่า สามารถโต้แย้งได้ด้วยวาจาและเป็นหนังสือนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 25 กำหนดว่า ผู้รับประเมินผู้ใดไม่พอใจในการประเมิน อาจยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมสรรพากรหรือสมุหเทศาภิบาล เพื่อขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ และตามมาตรา 26 กำหนดไว้ว่า คำร้องให้เขียนในแบบพิมพ์ ซึ่งกรมการอำเภอจ่ายและผู้รับการประเมินต้องลงนาม แบบพิมพ์ดังกล่าวเป็นแบบของทางราชการทำขึ้น คือแบบ ภ.ร.ด.9 ดังนั้นการโต้แย้งคัดค้านจะต้องทำเป็นหนังสือ โดยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ตามแบบ ภ.ร.ด.9 เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่ได้รับแจ้งการประเมิน จำนวนภาษีที่ประเมินไว้จึงเป็นจำนวนเด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 27 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share