แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารและส่งมอบทาวน์เฮ้าส์พิพาทคืนให้โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าออกไปจากทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ เป็นคดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง การวินิจฉัยข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247
โจทก์มอบอำนาจให้ ข. ทำสัญญาจะซื้อจะขายทาวน์เฮาส์ 3 ชั้น พร้อมที่ดินกับจำเลยในราคา 1,900,000 บาท จำเลยได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญาจำนวน 100,000 บาท ส่วนที่เหลือแบ่งชำระเป็น 6 งวด โดยจำเลยได้เข้าอยู่อาศัยในบ้านดังกล่าวและจำเลยชำระเงินให้โจทก์เป็นเวลา 5 งวด เมื่อทาวน์เฮ้าส์ที่โจทก์ส่งมอบให้แก่จำเลยมีความชำรุดบกพร่องหลายแห่ง จำเลยจึงมีสิทธิให้โจทก์แก้ไขความชำรุดบกพร่องและยึดหน่วงยังไม่ต้องชำระราคาค่าซื้อในงวดสุดท้ายได้ การที่จำเลยยังไม่ชำระราคาค่าซื้องวดสุดท้าย เพราะโจทก์ยังมิได้แก้ไขความชำรุดบกพร่องจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 และมาตรา 488
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวาร และส่งมอบบ้านคืนให้โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อยกับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะออกไปจากบ้านของโจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากทาวน์เฮ้าส์พิพาทของโจทก์ คำขออื่นให้ยก สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวมเป็นเงิน 6,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารและส่งมอบทาวน์เฮ้าส์คืนให้โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะออกไปจากทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงมาว่า ทาวน์เฮ้าส์ที่โจทก์ส่งมอบให้แก่จำเลยมีความชำรุดบกพร่องหลายแห่งจริง เมื่อโจทก์ฎีกาแก่เพียงว่า “…แม้บ้านจะมีการชำรุดบกพร่องตามที่จำเลยนำสืบก็ตาม แต่ขณะที่จำเลยเข้าอยู่ในบ้านพิพาทได้มีการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนรอยแตกร้าวชำรุดบกพร่องที่จำเลยอ้างนั้นเกิดขึ้นภายหลังแม้จะเกิดจากการก่อสร้างไม่ดีก็ตาม แต่ไม่ถึงขนาดจะถือว่าโจทก์ผิดสัญญา หากโจทก์ต้องรับผิดในเรื่องชำรุดบกพร่องดังกล่าว จำเลยคงมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์รับผิดต่างหากแต่ไม่ถึงกับมีสิทธิบอกเลิกสัญญา…” ส่วนจำเลยก็มิได้ฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกเลิกสัญญา คงแก้ฎีกาเฉพาะขอให้ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์เท่านั้น ปัญหาจึงมีแต่เพียงว่า จำเลยมีสิทธิให้โจทก์แก้ไขความชำรุดบกพร่องและหน่วงเหนี่ยวยังไม่ต้องชำระราคาค่าซื้อในงวดสุดท้ายได้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด” และมาตรา 488 บัญญัติว่า “ถ้าผู้ซื้อพบเห็นความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินที่ตนได้รับซื้อ ผู้ซื้อชอบที่จะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน เว้นแต่ผู้ขายจะหาประกันที่สมควรให้ก็ได้” ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่จำเลยยังไม่ชำระราคาค่าซื้องวดสุดท้าย เพราะโจทก์ยังมิได้ได้แก้ไขความชำรุดบกพร่อง ถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาแล้วพิพากษากลับยกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่งคดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์อัตราค่าทนายความต้องกำหนดตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (เดิม) ซึ่งตามตาราง 6 ระบุว่า คดีไม่มีทุนทรัพย์ อัตราค่าทนายความขั้นต่ำไม่ว่าในศาลใด 50 บาท ส่วนอัตราขั้นสูงในศาลชั้นต้น 3,000 บาท และในศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา 1,500 บาท ดังนั้น อัตราค่าทนายความขั้นสูงในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 4,500 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายความรวมกันเป็นเงิน 6,000 บาท จึงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247″
พิพากษายืน แต่ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์รวม 4,500 บาท แทนจำเลย และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500 บาท