แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ซื้อรถยนต์จากผู้จำหน่ายรถยนต์มาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ในราคาที่หักเงินจองที่ผู้เช่าซื้อจ่ายให้แก่ผู้จำหน่ายรถยนต์แล้วโจทก์ขายให้แก่ผู้เช่าซื้อ โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนในส่วนนี้ ถือได้ว่าโจทก์ได้รับประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงินตามมูลค่าเงินจอง เงินจองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์จึงเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าของฐานภาษีตามสัญญาให้เช่าซื้อระหว่างโจทก์กับผู้เช่าซื้อด้วย
เจ้าพนักงานประเมินได้รับอนุมัติจากอธิบดีฯ แม้จะเกิน 2 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี แต่เมื่ออนุมัติภายใน 5 ปี เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมิน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเลขที่ 2007170/5/101613 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2542 และเลขที่ 2007170/5/101564 ถึง 101575 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2542 คำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.3 (อธ.2)/10 ถึง 22/2546 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2545 งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ในการประกอบกิจการให้เช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์ มีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องในการทำธุรกรรมด้วยกันสามฝ่าย คือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อซึ่งเป็นลูกค้าที่ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ และผู้จำหน่ายรถยนต์ ผู้เช่าซื้อหรือลูกค้าเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกรถยนต์รุ่นใดจากผู้จำหน่ายรถยนต์ โดยผู้เช่าซื้อหรือลูกค้าจะชำระราคารถยนต์บางส่วนซึ่งเรียกว่าเงินจองหรือเงินดาวน์ให้แก่ผู้จำหน่ายรถยนต์ก่อนมีการทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อ แต่เนื่องจากผู้เช่าซื้อหรือลูกค้าไม่มีเงินสดเพียงพอที่จะชำระราคารถยนต์ส่วนที่เหลือทั้งจำนวนให้แก่ผู้จำหน่ายรถยนต์เพื่อรับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่ต้องการซื้อได้ จึงให้โจทก์ชำระราคาค่ารถยนต์ส่วนที่เหลือแก่ผู้จำหน่ายรถยนต์เพื่อรับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์นั้นมาเป็นของโจทก์ แล้วนำรถยนต์คันดังกล่าวมาขายให้แก่ผู้เช่าซื้อหรือลูกค้าในลักษณะการทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อ โดยโจทก์นำค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ตอบแทนที่โจทก์พึงได้จากระยะเวลาในการผ่อนชำระค่างวดตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อมารวมกับจำนวนเงินตามราคารถยนต์ที่โจทก์ชำระให้แก่ผู้จำหน่ายรถยนต์ เป็นราคาค่าเช่าซื้อตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อที่ลูกค้าหรือผู้เช่าซื้อต้องผ่อนชำระให้แก่โจทก์เป็นงวด ๆ ตามที่กำหนดในหนังสือสัญญาเช่าซื้อ ผู้จำหน่ายรถยนต์และโจทก์ต่างเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อเกิดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการ ตามมูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ รวมทั้งภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) ถ้ามีด้วย แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 79/1 ซึ่งเป็นไปตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 79 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้มาตรา 79 วรรคสอง บัญญัติว่า มูลค่าของฐานภาษีให้หมายความถึง เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือประโยชน์ใด ๆ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ดังนั้น การที่โจทก์ซื้อรถยนต์จากผู้จำหน่ายรถยนต์มาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองแล้วนำมาขายให้แก่ลูกค้าหรือผู้เช่าซื้อตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อ โดยโจทก์ซื้อรถยนต์ดังกล่าวได้ในราคาที่หักเงินจองหรือเงินดาวน์ที่ลูกค้าหรือผู้เช่าซื้อจ่ายให้แก่ผู้จำหน่ายรถยนต์ก่อนทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่นำไปให้ลูกค้าเช่าซื้อโดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนในส่วนนี้ ถือได้ว่าโจทก์ได้รับประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงินตามมูลค่าเงินจองหรือเงินดาวน์ที่โจทก์ไม่ต้องจ่ายให้แก่ผู้จำหน่ายรถยนต์ เงินจองหรือเงินดาวน์ดังกล่าวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่โจทก์ไม่ต้องจ่ายให้แก่ผู้จำหน่ายรถยนต์ จึงเป็นประโยชน์ใด ๆ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงินตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 79 วรรคสอง ดังนั้น ต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าของฐานภาษีตามสัญญาให้เช่าซื้อระหว่างโจทก์กับลูกค้าหรือผู้เช่าซื้อด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มโดยแสดงยอดขายไว้ 5,942,289.73 บาท แต่ผลการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมินปรากฏว่าโจทก์มียอดขาย 8,092,289.73 บาท จึงเป็นกรณีที่โจทก์แสดงฐานภาษีต่ำกว่ามูลค่าที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับเป็นจำนวนเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของฐานภาษีที่แสดงในแบบแสดงรายการภาษี เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์สำหรับเดือนภาษีดังกล่าวได้ภายใน 10 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 88/6 (1) (ค) สำหรับเดือนภาษีพิพาทอื่นโจทก์อุทธรณ์ว่าไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินได้รับอนุมัติจากอธิบดี อีกทั้งคำกล่าวอ้างที่ว่าได้รับอนุมัติดังกล่าวก็ล่วงพ้นกำหนดเวลา 2 ปีมาแล้วนั้น เห็นว่า ตามแบบขออนุมัติใช้อำนาจการประเมินตามมาตรา 88/6 วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากร ได้มีคำสั่งอนุมัติประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 88/6 วรรคท้าย รายโจทก์สำหรับเดือนภาษีตุลาคมถึงเดือนภาษีธันวาคม 2537 และเดือนภาษีมกราคมถึงเดือนภาษีกรกฎาคม 2538 ลงนามโดยสรรพากรภาค 3 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ลงวันที่ 2 มีนาคม 2542 แม้จะเกิน 2 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี แต่เมื่ออนุมัติภายใน 5 ปี และโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2542 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีพิพาทของโจทก์ได้…
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท.