คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7431/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินที่ได้รับการสงเคราะห์การทำสวนยางจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางโจทก์ให้แก่ ว. โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากโจทก์เป็นการผิดคำรับรองข้อ 6 ถือว่าเป็นการทำผิดสัญญาต่อโจทก์ ไม่เป็นการทำละเมิด จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินสงเคราะห์และบรรดาวัสดุสงเคราะห์ที่ได้รับไปแล้ว โดยคิดเป็นตัวเงินตามราคาที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 ไปให้แก่โจทก์ทั้งหมดตามคำรับรองข้อ 10 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ฟ้องเพื่อติดตามเอาทรัพย์สินคืนจากผู้ที่ไม่มีอำนาจยึดถือครอบครอง สามารถเรียกคืนได้ตลอดเวลาไม่มีกำหนดอายุความ เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) หมู่ที่ 1 ตำบลควนกลาง อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื้อที่ 101 ไร่ 30 ตารางวา เมื่อปี 2524 จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอรับการสงเคราะห์การทำสวนยางต่อโจทก์ โจทก์พิจารณาแล้วอนุมัติให้จำเลยทั้งสองได้รับการสงเคราะห์การทำสวนยางเนื้อที่ 47 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา และจำเลยทั้งสองให้คำรับรองว่าจะปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายและคำแนะนำของเจ้าพนักงานสงเคราะห์ หากจำเลยทั้งสองปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่ได้รับการสงเคราะห์ จะต้องคืนเงินสงเคราะห์และบรรดาวัสดุสงเคราะห์โดยคิดเป็นตัวเงินตามราคาที่โจทก์จ่ายแก่จำเลยทั้งสองให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 16 กรกฎาคม 2527 จำเลยทั้งสองทำผิดเงื่อนไขคำรับรองข้อที่ 6 โดยโอนขายที่ดินที่ได้รับการสงเคราะห์ดังกล่าวแก่นางภาวิณีโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากโจทก์ จนกระทั่งปี 2533 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจสอบพบว่า จำเลยทั้งสองปฏิบัติผิดเงื่อนไขจึงรายงานให้ทั้งหัวหน้าสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดและโจทก์ทราบตามลำดับ ครั้นวันที่ 11 ธันวาคม 2534 โจทก์ก็อนุมัติให้ระงับการสงเคราะห์และเรียกเงินคืนจากจำเลยทั้งสอง ต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2544 โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินสงเคราะห์และวัสดุสงเคราะห์เป็นเงิน 149,546.30 บาท คืนจากจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2534 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 109,355.67 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 258,901.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 149,546.30 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างการพิจารณาโจทก์ยื่นคำแถลงว่า จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายก่อนที่โจทก์จะฟ้องเป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมโดยไม่รับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอรับการสงเคราะห์การทำสวนยางต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 2 กระทำไปในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ทราบการกระทำผิดเงื่อนไขก่อนวันที่ 3 กันยายน 2533 ซึ่งนับถึงวันฟ้องเกินกว่า 10 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้องค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อปี 2525 จำเลยที่ 1 ได้รับการสงเคราะห์การทำสวนยางจากโจทก์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) หมู่ที่ 1 ตำบลควนกลาง อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื้อที่ 47 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา โดยจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับรองต่อโจทก์ว่าจะปฏิบัติตามกฎหมาย กฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานสงเคราะห์ หากไม่ปฏิบัติตามคำรับรอง จำเลยที่ 1 จะคืนเงินสงเคราะห์และบรรดาวัสดุสงเคราะห์ที่จำเลยที่ 1 รับไปแล้ว โดยคิดเป็นตัวเงินตามราคาที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 ไปให้แก่โจทก์ทั้งหมด ตามสำเนาหนังสือรับรองของเจ้าของสวนยางผู้ได้รับการสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ.2503 เอกสารหมาย จ.2 โจทก์จ่ายเงินสงเคราะห์และวัสดุสงเคราะห์ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 149,546.30 บาท แล้ว ต่อมาวันที่ 16 กรกฎาคม 2527 จำเลยที่ 1 โอนที่ดินที่ได้รับการสงเคราะห์ดังกล่าวให้แก่นางภาวิณี หลังจากนั้นนางภาวิณีได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวและขายให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2532 ต่อมาเจ้าพนักงานสงเคราะห์ตรวจสอบพบว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามคำรับรอง จึงรายงานให้หัวหน้าสำนักงานสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดนครศรีธรรมราชและวันที่ 3 กันยายน 2533 หัวหน้าสำนักงานสงเคราะห์การทำสวนยางมีคำสั่งให้ระงับการสงเคราะห์และเรียกเงินสงเคราะห์คืน โดยทำบันทึกแจ้งให้หัวหน้าฝ่ายการสงเคราะห์ทราบแล้ว ต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม 2534 โจทก์มีหนังสือถึงหัวหน้าสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดนครศรีธรรมราชแจ้งการอนุมัติให้ระงับการสงเคราะห์และเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 ตามสำเนาบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.11 และในวันที่ 18 มกราคม 2544 สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางอำเภอฉวางมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาและระงับการสงเคราะห์ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินสงเคราะห์และวัสดุสงเคราะห์เป็นเงิน 149,546.30 บาท ตามเอกสารหมาย จ.14
มีปัญหาต้องวินิฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า คดีนี้มีอายุครบ 10 ปี นับแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2534 อันเป็นวันที่ผู้ช่วยอำนวยการที่ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการของโจทก์รู้ถึงการกระทำละเมิดและผู้ที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 15 ตุลาคม 2544 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินที่ได้รับการสงเคราะห์การทำสวนยางจากโจทก์ให้แก่นางภาวิณีเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2527 โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากโจทก์ เป็นการผิดคำรับรองข้อ 6 ตามสำเนาหนังสือรับรองของเจ้าของสวนยาง ผู้ได้รับการสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ.2503 เอกสารหมาย จ.2 ถือว่าเป็นการทำผิดสัญญาต่อโจทก์ หาใช่เป็นการทำละเมิดดังที่โจทก์ฎีกาไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินสงเคราะห์และบรรดาวัสดุสงเคราะห์ที่ได้รับไปแล้ว โดยคิดเป็นตัวเงินตามราคาที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 ไปให้แก่โจทก์ทั้งหมดตามคำรับรองข้อ 10 ของเอกสารหมาย จ.2 ดังกล่าว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์ย่อมบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินสงเคราะห์และวัสดุสงเคราะห์ดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2527 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเป็นต้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดี วันที่ 15 ตุลาคม 2544 ซึ่งเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า คดีนี้เป็นการฟ้องเพื่อติดตามเอาทรัพย์สินคืนจากผู้ที่ไม่มีอำนาจยึดถือครอบครอง สามารถเรียกคืนได้ตลอดเวลาไม่มีกำหนดอายุความนั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share