คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4840/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่พิพาทเป็นไหล่ทางของทางหลวงอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) กรมธนารักษ์ซึ่งรับมอบที่พิพาทคืนจากกรมทางหลวงและจังหวัดฉะเชิงเทราผู้รับมอบช่วงจากกรมธนารักษ์เพื่อดูแลรักษาไม่มีอำนาจนำที่พิพาทไปให้เอกชนรายใดใช้ประโยชน์เป็นการเฉพาะตัว แม้กรมทางหลวงจะหมดความจำเป็นในการใช้สอยและส่งคืนแล้ว แต่ที่พิพาทอยู่ในเขตทางหลวงมิใช่ที่ราชพัสดุตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 2 ประกอบข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาตรา 4 และแม้ต่อมาจะมี พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ก็ตาม ที่พิพาทก็ยังเป็นไหล่ทางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงอยู่และยังคงสภาพเดิม เว้นแต่ทางราชการจะเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) แล้วเท่านั้น ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในที่พิพาท การที่จังหวัดฉะเชิงเทราอนุญาตให้จำเลยเช่าที่พิพาทจึงเป็นการให้เช่าโดยปราศจากอำนาจ สัญญาเช่าดังกล่าวไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย จำเลยไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองเหนือที่พิพาทตามสัญญาเช่าได้
การที่จำเลยสร้างเพิงบนไหล่ทางหลวงพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ล้อมรั้วสังกะสีปิดกั้นระหว่างทางหลวงกับที่ดินของโจทก์ ย่อมกระทบสิทธิของโจทก์ในอันที่จะใช้ทางหลวงนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนขนย้ายเพิงและทรัพย์สินออกไปจากที่พิพาทและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนขนย้ายเพิงและทรัพย์สินออกจากไหล่ทางริมทางหลวงหมายเลข 3 ถนนบางปะกง-ชลบุรี (แนวเก่า) หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้โจทก์รื้อถอนแทนโดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าการรื้อถอนขนย้ายจะแล้วเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยรื้อถอนขนย้ายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินออกจากที่พิพาท กับใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าการรื้อถอนขนย้ายจะแล้วเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 17038 ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีแนวเขตทิศตะวันออกติดทางหลวงหมายเลข 3 สายบางปะกง – ชลบุรี (แนวเก่า) ทางหลวงสายนี้มีความกว้าง 30 เมตร แต่มีผิวจราจรลาดยางกว้างเพียง 5 เมตร ส่วนที่เหลือทั้งสองด้านเป็นไหล่ทางซึ่งมีราษฎรบุกรุกเข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัยมากมาย กรมทางหลวงจึงจัดให้ราษฎรเหล่านั้นทำสัญญาเช่าที่ดินบริเวณไหล่ทาง ต่อมาภายหลังกรมทางหลวงหมดความจำเป็นในการใช้สอยที่ดินจึงส่งคืนให้กรมธนารักษ์ดูแลรักษาพื้นที่ดังกล่าวแทน ปี 2526 จำเลยขอเช่าที่พิพาทเนื้อที่ 24 ตารางวา จากจังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งได้รับมอบช่วงจากกรมธนารักษ์ ในราคาปีละ 228 บาท และปลูกเพิงเก็บเครื่องจักรเก่าตลอดจนทรัพย์สินอื่น รวมทั้งล้อมรั้วสังกะสีปิดกั้นระหว่างที่ดินของโจทก์กับทางหลวงหมายเลข 3 สายบางปะกง – ชลบุรี (แนวเก่า) ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราจึงได้ชะลอการต่ออายุสัญญาเช่าทั้ง 17 ราย ในปี 2544 ไว้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยรื้อถอนขนย้ายเพิงและทรัพย์สินออกจากที่พิพาทหรือไม่ เห็นว่า ที่พิพาทเป็นพื้นที่ไหล่ทางของทางหลวงหมายเลข 3 สายบางปะกง – ชลบุรี (แนวเก่า) จึงเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตทางหลวงซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) กรมธนารักษ์ซึ่งได้รับมอบที่ดินคืนจากกรมทางหลวงเพื่อดูแลรักษา หรือจังหวัดฉะเชิงเทราในฐานะผู้รับมอบช่วงจากกรมธนารักษ์ย่อมไม่มีอำนาจนำที่ดินส่วนนี้ไปให้เอกชนรายหนึ่งรายใดใช้ประโยชน์เป็นการเฉพาะตัว เพราะแม้กรมทางหลวงจะหมดความจำเป็นในการใช้สอยและส่งคืนแล้ว แต่ที่พิพาทซึ่งอยู่ในเขตทางหลวงไม่ใช่ที่ราชพัสดุ หากแต่เป็นทางหลวงและไหล่ทางตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 2 ประกอบข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 และแม้ต่อมาจะมีพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ก็ตาม ที่พิพาทก็ยังเป็นไหล่ทางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงอยู่ และยังคงสภาพเดิมเว้นแต่ทางราชการจะได้เพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) แล้วเท่านั้น ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในที่พิพาท การที่ทางจังหวัดฉะเชิงเทราอนุญาตให้จำเลยเช่าที่พิพาทจากอำเภอบางปะกงเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2526 เช่นเดียวกับเอกชนรายอื่น ๆ อีกรวม 17 ราย ย่อมเป็นการให้เช่าโดยปราศจากอำนาจ สัญญาเช่าระหว่างอำเภอบางปะกงกับจำเลยดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่อาจกล่าวอ้างสิทธิครอบครองเหนือที่พิพาทตามสัญญาเช่านั้น
เมื่อจำเลยสร้างเพิงบนที่พิพาท ล้อมรั้วสังกะสีปิดกั้นระหว่างทางหลวงหมายเลข 3 สายบางปะกง – ชลบุรี (แนวเก่า) กับที่ดินของโจทก์อันเป็นการถือสิทธิเหนือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเช่นนี้ จึงกระทบสิทธิของโจทก์ในอันที่จะใช้ทางหลวงสายนั้น และเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นพลเมืองที่จะใช้ทรัพย์สินนั้นด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับเอาแก่จำเลยตราบเท่าที่จำเลยยังคงอยู่บนที่พิพาทดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาบังคับให้จำเลยรื้อถอนขนย้ายเพิงและทรัพย์สินออกจากที่พิพาทและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าการรื้อถอนขนย้ายจะแล้วเสร็จแก่โจทก์นั้นชอบแล้ว
ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ยังมีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะอีก 2 เส้นทาง แม้จะเป็นความจริงก็ไม่ทำให้โจทก์เสียสิทธิตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share