คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1303/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

กรณีที่ผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาจะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 29 ซึ่งได้บัญญัติเรื่องการเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตายไว้ชัดแจ้งแล้ว จึงนำ ป.วิ.พ. มาตรา 42 และมาตรา 43 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 มาใช้โดยอนุโลมไม่ได้ การที่ จ. ยื่นคำร้องอ้างว่าเป็นสามีของ ห. โจทก์ร่วม ขอเข้ารับมรดกความของ ห. ซึ่งถึงแก่ความตาย เมื่อ ห. เข้ามาในคดีในฐานะผู้จัดการแทน ส. ผู้ตาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) จ. ซึ่งเป็นสามีของ ห. หามีสิทธิเข้าดำเนินคดีต่าง ห. ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 29 ไม่ เพราะ ห. เป็นเพียงผู้จัดการแทน ส. ผู้ตาย ไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2540 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-6980 สุราษฎร์ธานี ไปตามถนนสายเอเชีย จากอำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี มุ่งหน้าไปอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้วยความเร็วสูงน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อไปทันรถยนต์กระบะคันที่แล่นอยู่ข้างหน้าแล้วจำเลยหักพวงมาลัยรถไปทางขวาเข้าไปในช่องทางเดินรถฝั่งตรงข้ามพร้อมกับเร่งความเร็วเพื่อแซงรถยนต์กระบะคันดังกล่าว โดยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังดูว่ามีรถยนต์คันอื่นแล่นสวนทางมาในช่องเดินรถฝั่งตรงข้าม ขณะเดียวกันนายสราวุธ ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน พ-9260 สุราษฎร์ธานีแล่นสวนทางมา เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยขับพุ่งชนรถยนต์กระบะที่นายสราวุธขับมาในช่องเดินรถของนายสราวุธอย่างแรง รถยนต์กระบะได้รับความเสียหายและนายสราวุธถึงแก่ความตาย เหตุเกิดที่ตำบลเวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางเหื้อง มารดาของนายสราวุธ ผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูก อนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291)
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วนายจรงค์ สามีโจทก์ร่วมยื่นคำร้องว่า โจทก์ร่วมถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2545 ขอเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกอุทธรณ์ของนายจรงค์
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า นายจรงค์ มีสิทธิดำเนินคดีต่างนางเหื้อง โจทก์ร่วมซึ่งถึงแก่ความตายหรือไม่ โดยโจทก์ร่วมฎีกาว่า กรณีที่นางเหื้อง โจทก์ร่วม ในฐานะผู้จัดการแทนนายสราวุธ ผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) ถึงแก่ความตาย เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการรับมรดกความไว้ นายจรงค์ สามีโจทก์ร่วม ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 และมาตรา 43 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 นั้น เห็นว่า กรณีที่ผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาจะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 29 ซึ่งได้บัญญัติเรื่องการเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตายไว้โดยชัดแจ้งแล้ว กรณีเช่นว่านี้จึงนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 และมาตรา 43 มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้ นายจรงค์ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 27 ธันวาคม 2545 อ้างว่าเป็นสามีของนางเหื้อง โจทก์ร่วม ขอเข้ารับมรดกความของนางเหื้อง โจทก์ร่วม ซึ่งถึงแก่ความตาย เท่ากับนายจรงค์ขอเข้าดำเนินคดีต่างนางเหื้อง โจทก์ร่วม เมื่อนางเหื้อง โจทก์ร่วม เข้ามาในคดีในฐานะผู้จัดการแทนนายสราวุธ ผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) นายจรงค์ซึ่งเป็นสามีของนางเหื้อง โจทก์ร่วม หามีสิทธิเข้าดำเนินคดีต่างนางเหื้อง โจทก์ร่วม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 29 เพราะนางเหื้อง โจทก์ร่วม เป็นเพียงผู้จัดการแทนนายสราวุธ ผู้ตาย ไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นายจรงค์เข้าร่วมเป็นโจทก์และดำเนินคดีต่างนางเหื้อง โจทก์ร่วม กับยกอุทธรณ์ของนายจรงค์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share