แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ประกอบกิจการรถยนต์บริการรับ – ส่งผู้โดยสาร ณ อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานกรุงเทพ ผู้โดยสารจะติดต่อว่าจ้างโจทก์และโจทก์ได้รับค่าโดยสารจากผู้โดยสารตามอัตราที่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนด โดยรถยนต์ที่ใช้มีทั้งที่เป็นของโจทก์เอง เช่าจากบุคคลอื่น และรถร่วม รถยนต์ที่เป็นของโจทก์ พนักงานขับรถจะได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 12 ของค่าโดยสาร ส่วนรถยนต์ที่เช่าจากบุคคลอื่น พนักงานขับรถจะได้ค่าตอบแทนร้อยละ 80 และ ร้อยละ 77 ของค่าโดยสาร เนื่องจากพนักงานขับรถจะต้องรับผิดชอบค่าเช่า ค่าซ่อม ค่าทางด่วน ค่าน้ำมัน ค่าแบตเตอรี่และค่ายางรถยนต์เอง สำหรับรถร่วมนั้นเป็นรถยนต์ของบุคคลอื่นที่นำมาวิ่งรับ – ส่งผู้โดยสารในนามของโจทก์ ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 75 ของค่าโดยสาร โดยจะคำนวณและจ่ายค่าตอบแทนให้ทุก 15 วัน เมื่อการรับ – ส่งผู้โดยสารกระทำในนามของโจทก์ และโจทก์เป็นผู้รับค่าโดยสารแล้วแบ่งให้แก่พนักงานขับรถและเจ้าของรถร่วมในอัตราร้อยละที่ตกลงกันไว้ การให้บริการของโจทก์จึงเป็นการให้บริการขนส่ง และเมื่อเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (ณ)
คำฟ้องของโจทก์มิได้ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า กรณีมีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับหรือไม่ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินที่ 01006410/1/104659, 01006410/2/100065 ถึง 100067, 01006410/5/101755 ถึง 101778 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.1 (อธ.3)/26/2547, สภ.1 (อธ.3)/27/2547, สภ.1 (อธ.3)/28/2547, สภ.1 (อธ.3)/29/2547 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547 เพิกถอนการอายัดบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาแจ้งวัฒนะ 14 ประเภทบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ บัญชีเลขที่ 189-1-17074-9 ประเภทบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 189-2-03758-7 และเลขที่ 189-2-03776-4 ประเภทบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 189-0-00849-4 บัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาแจ้งวัฒนะ บัญชีเลขที่ 096-1-13052-0 ให้จำเลยคืนเงินภาษีจำนวน 1,151,456.72 บาท (ที่ถูกคือ 1,151,256.72 บาท) และเงินภาษีที่ได้ยึดหลังจากฟ้องคดีนี้ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) เลขที่ 01006410/5/101755 ถึง 101778 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 รวม 24 ฉบับ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ.1 (อธ.3)/29/2547 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จัดตั้งขึ้นตามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) กับบริษัทคาร์แม็ค จำกัด โดย ทอท. ถือหุ้น 30,000 หุ้น โจทก์ได้รับสิทธิให้ดำเนินกิจการรถยนต์บริการธุรกิจรับ – ส่งผู้โดยสาร ณ อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานกรุงเทพ สัญญาร่วมลงทุนมีกำหนดระยะเวลา 8 ปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2539 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547 ต่อมาเมื่อปี 2543 ทอท.ในฐานะผู้ถือหุ้นของโจทก์มีหนังสือร้องเรียนถึงจำเลยขอให้ดำเนินการตรวจสอบและประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ โดย ทอท.ได้ส่งมอบหลักฐานตามเอกสารหมาย ล.2 ให้จำเลย เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของจำเลยนำแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ภ.ง.ด. 50 และแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ภ.ง.ด. 51 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 และปี 2542 ของโจทก์ที่ยื่นไว้มาตรวจวิเคราะห์ หลังจากนั้นได้ออกหมายเรียกตรวจสอบตามประมวลรัษฎากร โจทก์ขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบไปตรวจเอกสาร ณ ที่ทำการของโจทก์ โดยโจทก์มอบอำนาจให้นางสุริยาเป็นผู้ให้ถ้อยคำและนำส่งเอกสาร หลังการตรวจสอบเจ้าพนักงานประเมินออกหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ปี 2541 และปี 2542 หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 และปี 2542 หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 67 ตรี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีมกราคม 2541 ถึงธันวาคม 2542 รวม 24 ฉบับ โจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินทุกฉบับ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ทุกฉบับก่อนฟ้องคดีนี้ จำเลยได้สั่งอายัดบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาแจ้งวัฒนะ 14 เป็นจำนวนเงิน 1,151,256.72 บาท และมีคำสั่งอายัดบัญชีเงินฝากออมทรัพท์ของโจทก์ในธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาแจ้งวัฒนะ…
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ประกอบกิจการรถยนต์บริการธุรกิจรับ – ส่งผู้โดยสาร ณ อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศท่าอากาศยานกรุงเทพ ผู้โดยสารจะติดต่อว่าจ้างโจทก์และโจทก์ได้รับค่าโดยสารจากผู้โดยสารตามอัตราที่ ทอท.เป็นผู้กำหนด โดยรถยนต์ที่ใช้มีทั้งของโจทก์เอง เช่าจากบุคคลอื่น และรถร่วมรถยนต์ที่เป็นของโจทก์นั้น พนักงานขับรถจะได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 12 ของค่าโดยสาร ส่วนรถยนต์ที่เช่าจากบุคคลอื่น พนักงานขับรถจะได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 80 และร้อยละ 77 ของค่าโดยสาร เนื่องจากพนักงานขับรถรับผิดชอบค่าเช่า ค่าซ่อม ค่าทางด่วน ค่าน้ำมัน ค่าแบตเตอรี่และค่ายางรถยนต์เอง สำหรับรถร่วมนั้นเป็นรถยนต์ของบุคคลอื่นที่นำมาวิ่งรับ – ส่งผู้โดยสารในนามของโจกท์ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 75 ของค่าโดยสาร โดยโจทก์จะคำนวณและจ่ายค่าตอบแทนให้ทุก 15 วัน เห็นว่า เมื่อการรับ – ส่งผู้โดยสารกระทำในนามของโจทก์และโจทก์เป็นผู้รับค่าโดยสารแล้วแบ่งให้แก่พนักงานขับรถและเจ้าของรถร่วมตามอัตราร้อยละที่ตกลงกันไว้ การให้บริการของโจทก์จึงเป็นการให้บริการขนส่ง เมื่อเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรจึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (1) (ณ) การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์มีว่า กรณีมีเหตุงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์มิได้ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับ ประเด็นปัญหาว่า กรณีมีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับหรือไม่จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นนี้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ