คำวินิจฉัยที่ 49/2548

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๙/๒๕๔๘

วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแรงงานภาค ๖
ระหว่าง
ศาลปกครองพิษณุโลก

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแรงงานภาค ๖ โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งความเห็นให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกรณีที่มีการนำคดีซึ่งมีข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกันฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจแตกต่างกันตั้งแต่สองศาลขึ้นไป และคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ นายเนย แสงจันทร์ โจทก์ ยื่นฟ้องนายเผื่อน อู่ดี (ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดบ้านแก่ง) จำเลย ต่อศาลแรงงานภาค ๖ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๕๕๓/๒๕๔๗ ความว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งนักการภารโรงของโรงเรียนชุมชนวัดบ้านแก่ง ตำบลบ้านแก่ง อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครสวรรค์เขต ๑ จำเลยเป็นข้าราชการประจำตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดบ้านแก่งและเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๖ จำเลยได้ออกคำสั่งโรงเรียนชุมชนวัดบ้านแก่งที่ ๓๙/๒๕๔๖ เรื่อง การเลิกจ้างลูกจ้างประจำเพื่อรับบำเหน็จทดแทน เพื่อเลิกจ้างโจทก์จากการเป็นลูกจ้างประจำในตำแหน่งนักการภารโรงตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ โดยกล่าวหาว่า โจทก์กระทำผิดวินัยและมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งโจทก์เห็นว่า จำเลยออกคำสั่งดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจและ
ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีโอกาสได้โต้แย้งข้อเท็จจริงตามที่ถูกกล่าวหา ทั้งไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ต้องสูญเสียรายได้สิทธิประโยชน์อื่นๆ และได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อตนเองรวมถึงครอบครัว ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ค่าขาดรายได้ ค่าขาดประโยชน์ เงินบำเหน็จ ค่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดนครสวรรค์ และค่าสวัสดิการต่างๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๔,๐๘๔,๕๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
อนึ่ง โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ด้วย (คดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๐๔๘/๒๕๔๖) ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา
จำเลยให้การว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการแล้ว โดยจำเลยได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรวบรวมหลักฐานการกระทำผิดวินัยและมีความประพฤติไม่เหมาะสมของโจทก์ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีโจทก์กระทำผิดวินัยร้ายแรง และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนปากคำโจทก์ รวมถึงได้พิจารณาพยานหลักฐานต่างๆ แล้วจึงมีคำสั่งเลิกจ้างเพื่อรับบำเหน็จทดแทนแก่โจทก์ เพื่อให้มีผลเสมือนว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่เสียประวัติ ทั้งได้แจ้งให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งภายในกำหนด ซึ่งโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเลิกจ้างและร้องทุกข์ต่อ อ.ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะนี้ยังไม่ทราบผลการอุทธรณ์และร้องทุกข์ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายในเรื่องนี้ อนึ่ง นอกจากโจทก์จะฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงาน ภาค ๖ เป็นคดีนี้แล้ว โจทก์ยังฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ และขณะเดียวกันก็ฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกในเรื่องเดียวกันเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๕๐/๒๕๔๖ ขอให้ศาลปกครองพิษณุโลกสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาอุทธรณ์ร้องทุกข์ของโจทก์โดยเร็ว ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครสวรรค์เขต ๑ เบิกจ่ายเงินค่าจ้างให้โจทก์และยอมให้โจทก์เบิกเงินค่ารักษาพยาบาลเป็นการชั่วคราว และให้ยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างของโรงเรียนชุมชนวัดบ้านแก่งที่ ๓๙/๒๕๔๖ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีทั้งหมดอยู่ระหว่างพิจารณา เมื่อการฟ้องเรียกค่าเสียหายคดีนี้สืบเนื่องมาจากคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าวฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องเขตอำนาจศาลว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจศาลแรงงานหรือศาลปกครอง โดยจำเลยเห็นว่า มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีเป็นเรื่องเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครอง คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
ศาลแรงงานภาค ๖ เห็นว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นไปตามผลของนิติกรรมของสัญญาในเรื่องจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและขาดสิทธิประโยชน์ต่างๆ จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานและเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเป็นคดีละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) และ (๕) ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
ศาลปกครองพิษณุโลกเห็นว่า การที่ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดนครสวรรค์ (เดิม) ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากเลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (เดิม) ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติที่ ๑๓๖๙/๒๕๒๕ ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๕ได้อาศัยอำนาจตามข้อ ๑๐ ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจ้างลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นระเบียบที่ใช้บังคับในขณะนั้น ออกคำสั่งสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนครสวรรค์ที่ ๔๐/๒๕๓๓ ลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๓๓ สั่งบรรจุผู้ฟ้องคดี (โจทก์) ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็นลูกจ้างประจำและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักการภารโรง โรงเรียนชุมชนวัดบ้านแก่ง คำสั่งดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ต่อมาเมื่อผู้ถูกฟ้องคดี (จำเลย) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาได้อาศัยอำนาจตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ ๘/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๖ เรื่อง การมอบอำนาจการปฏิบัติราชการแทนเกี่ยวกับลูกจ้างประจำ ออกคำสั่งโรงเรียนชุมชนวัดบ้านแก่งที่ ๓๙/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๖ เรื่อง เลิกจ้างลูกจ้างประจำเพื่อรับบำเหน็จทดแทน สั่งเลิกจ้างผู้ฟ้องคดี คำสั่งนี้จึงเป็นคำสั่งทางปกครองเช่นเดียวกัน การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีอำนาจกระทำได้ จึงเป็นการฟ้องว่าคำสั่งเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหาย ค่าขาดประโยชน์ต่างๆ พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเป็นคดีละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) และ (๕) คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น
คดีนี้ เป็นคดีที่โจทก์ซึ่งเดิมเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ได้รับการบรรจุให้เข้ารับราชการเป็นลูกจ้างประจำและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักการภารโรง โรงเรียนชุมชนวัดบ้านแก่ง ตามคำสั่งสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนครสวรรค์ที่ ๔๐/๒๕๓๓ ลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๓๓ ฟ้องจำเลย ซึ่งเป็นข้าราชการประจำตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดบ้านแก่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครสวรรค์ เขต ๑ กระทรวงศึกษาธิการ อันเนื่องมาจากกรณีจำเลยซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์มีคำสั่งโรงเรียนชุมชนวัดบ้านแก่งที่ ๓๙/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๖ เรื่อง เลิกจ้างลูกจ้างประจำเพื่อรับบำเหน็จทดแทน สั่งเลิกจ้างโจทก์จากการเป็นลูกจ้างประจำ โดยอ้างว่าโจทก์กระทำผิดวินัยและมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โจทก์เห็นว่า จำเลยออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีโอกาสได้โต้แย้งข้อเท็จจริงตามที่ถูกกล่าวหา ทั้งไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ต้องสูญเสียรายได้ สิทธิประโยชน์อื่นๆ และได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อตนเองรวมถึงครอบครัว ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ค่าขาดรายได้ ค่าขาดประโยชน์ เงินบำเหน็จ ค่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดนครสวรรค์ และค่าสวัสดิการต่างๆ ส่วนจำเลยให้การว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการแล้ว เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกับจำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเป็นไปตามกฎหมาย ได้แก่ ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการพ.ศ. ๒๕๓๗ เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ เมื่อคำสั่งดังกล่าวเป็นผลให้โจทก์พ้นจากสถานภาพเป็นลูกจ้างประจำนับแต่วันที่ระบุในคำสั่ง ทำให้ไม่มีสิทธิที่จะรับเงินเดือนหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙โจทก์โต้แย้งว่าคำสั่งของจำเลยเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ อันเนื่องมาจากคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายเนย แสงจันทร์ โจทก์ นายเผื่อน อู่ดี จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

วัชรินทร์ คัด/ทาน
??

??

??

??

Share