คำวินิจฉัยที่ 3/2548

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓/๒๕๔๘

วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘

ศาลจังหวัดทหารบกราชบุรี
ระหว่าง
ศาลจังหวัดราชบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดทหารบกราชบุรีโดยสำนักตุลาการทหารส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
อัยการศาลจังหวัดทหารบกราชบุรี โจทก์ ยื่นฟ้องพลทหาร อัธยา อธิรัตน์ปัญญา จำเลย ต่อศาลจังหวัดทหารบกราชบุรีเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๒/๒๕๔๕ ในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย และลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ มาตรา ๓๓๕ (๑) และมาตรา ๙๑ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๕ จำเลยได้ใช้กำลังทำร้ายร่างกายนายเฉลิมชัย เฮงประเสริฐ จนเป็นเหตุให้นายเฉลิมชัย ได้รับอันตรายแก่กาย และภายหลังจากที่จำเลยกระทำการดังกล่าวได้ลักเอาสร้อยคอและจี้ทองคำของนายเฉลิมชัยไปโดยทุจริต ในระหว่างพิจารณา ศาลจังหวัดทหารบกราชบุรีสืบพยานโจทก์และจำเลยได้ความว่า ภายหลังเกิดเหตุ พลทหาร อัธยา จำเลย ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านโป่งเป็นอีกคดีหนึ่งว่า นายเฉลิมชัย (ผู้เสียหายในคดีนี้) ทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ซึ่งพนักงานอัยการประจำศาลแขวงราชบุรีได้ยื่นฟ้องนายเฉลิมชัยต่อศาลแขวงราชบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๘๖๗/๒๕๔๕ และศาลได้มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๔๕ ว่าจำเลย (นายเฉลิมชัย) มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ จำคุก ๒ เดือนและปรับ ๑,๐๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑ เดือนและปรับ ๕๐๐ บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๑ ปี (คดีหมายเลขแดงที่ ๑๘๒๐/๒๕๔๕) คดีถึงที่สุด
ในระหว่างพิจารณาของศาลจังหวัดทหารบกราชบุรี จำเลยยื่นคำร้องขอให้สอบถามศาลจังหวัดราชบุรีในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีนี้เป็นกรณีที่ผู้เสียหายและจำเลยกระทำความผิดด้วยกัน คดีอยู่ในอำนาจศาลทหารตามบทบัญญัติมาตรา ๑๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ หรือไม่ โดยอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๘๔/๒๕๒๑ ประกอบ
ศาลจังหวัดทหารบกราชบุรีเห็นว่า กรณีเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือนตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ คดีจึงอยู่ในอำนาจศาลพลเรือน
ศาลจังหวัดราชบุรีเห็นว่า พลทหาร อัธยา อธิรัตน์ปัญญา บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับนายเฉลิมชัย เฮงประเสริฐ บุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหาร มิได้ร่วมกระทำผิดในลักษณะเป็นตัวการร่วมกันในข้อหาที่ถูกฟ้องด้วยกัน และมิได้เป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือนเนื่องจากต่างฝ่ายต่างกระทำผิดและต่างฝ่ายต่างเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ แยกต่างหากจากกัน และข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑) พลทหาร อัธยา อธิรัตน์ปัญญา ถูกฟ้องอีกข้อหาหนึ่งต่างหาก โดยมีนายเฉลิมชัย เฮงประเสริฐ เป็นผู้เสียหายโดยตรงเพียงฝ่ายเดียว จึงเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร (ศาลจังหวัดทหารบกราชบุรี) มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม (ศาลจังหวัดราชบุรี)

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารหรือศาลยุติธรรม
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้สรุปได้ว่า จำเลยซึ่งเป็นทหารกองประจำการและนายเฉลิมชัย เฮงประเสริฐ ใช้กำลังเข้าทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน หลังเกิดเหตุมีพยานเห็นว่าจำเลยหยิบเอาสร้อยและจี้ทองคำของนายเฉลิมชัยไป ต่อมา นายเฉลิมชัยถูกยื่นฟ้องข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นต่อศาลแขวงราชบุรีซึ่งเป็นศาลพลเรือนและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ส่วนจำเลยถูกยื่นฟ้องต่อ
ศาลจังหวัดทหารบกราชบุรีเป็นคดีนี้ในข้อหาทำร้ายร่างกายและลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๕ และมาตรา ๓๓๕ (๑) รวม ๒ ข้อหา ดังนี้ พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ บัญญัติว่า คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารคือ
(๑) คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน
(๒) คดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน และ
มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ให้ดำเนินคดีในศาลพลเรือน
สำหรับข้อหาทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยและนายเฉลิมชัยมิได้ร่วมกระทำผิดในลักษณะเป็นตัวการร่วมกันในข้อหาที่ถูกฟ้องด้วยกัน แต่คำว่า กระทำผิดด้วยกันตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ (๑) บุคคลที่กระทำผิดหาจำต้องมีเจตนาร่วมกันเสมอไปไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยและนายเฉลิมชัย ต่างก็ได้รับบาดเจ็บด้วยกัน ถ้าปราศจากการกระทำของฝ่ายหนึ่งอาจจะไม่มีการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง หรืออาจเป็นเพราะบุคคลทั้งสองสมัครใจต่อสู้กันจึงถือได้ว่าความผิดเกิดขึ้นเพราะต่างได้กระทำผิดด้วยกันทั้งคู่ จึงเป็นคดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ตามมาตรา ๑๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๑
ส่วนข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑) นั้น เมื่อปรากฏตามคำฟ้องโดยโจทก์บรรยายฟ้องข้อหานี้ เป็นอีกข้อหาหนึ่งแยกต่างหากออกจากข้อหาทำร้ายร่างกายซึ่งในข้อหานี้มีจำเลยเป็นผู้กระทำเพียงฝ่ายเดียวและมีนายเฉลิมชัยเป็นผู้เสียหาย ทั้งเป็น
การกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระกัน ข้อหาดังกล่าวจึงไม่ใช่คดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจ
ศาลพลเรือนตามมาตรา ๑๔ (๒) แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ อันจะอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง อัยการศาลจังหวัดทหารบกราชบุรี โจทก์ พลทหาร อัธยา อธิรัตน์ปัญญา จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร เว้นแต่ข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่น อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share