คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้เช่าโรงอาหารที่เกิดเหตุประกอบการจำหน่ายอาหารภายในสถาบันราชภัฎ น. ระหว่างที่อยู่ในเวลาเช่าดังกล่าว จำเลยที่ 1 ในฐานะอธิการบดีสถาบันราชภัฎ น. ได้บอกเลิกสัญญาเช่าต่อโจทก์เนื่องจากโจทก์ผิดนัดชำระค่าเช่า แต่โจทก์ไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินออกจากโรงอาหารโดยอ้างว่าไม่ได้ผิดสัญญา และต่อมาจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดีขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ออกจากโรงอาหาร จำเลยที่ 2 สั่งการต่อให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 กับพวกไปขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 กับพวกได้ร่วมกันเข้าไปในโรงอาหารที่เกิดเหตุและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ออกจากโรงอาหารไปเก็บไว้ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โรงอาหารที่เกิดเหตุเป็นส่วนหนึ่งของอาคารสถาบันราชภัฏ น. ไม่ปรากฏจากข้อสัญญาชัดแจ้งว่ามีการส่งมอบโรงอาหารที่เช่าให้โจทก์ครอบครองอย่างเป็นสิทธิครอบครองของโจทก์ทีเดียว เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์เห็นได้ว่าโจทก์และสถาบันมีเจตนาทำสัญญาเช่าโดยมีวัตถุประสงค์เพียงแต่ให้โจทก์ได้เข้าใช้ประโยชน์โรงอาหารของสถาบันในการจำหน่ายอาหารในพื้นที่ที่ได้จัดไว้ในเวลาเปิดบริการตามระเบียบของสถาบันเท่านั้น หาได้มอบการครอบครองโรงอาหารให้เป็นสิทธิขาดแก่โจทก์ดังเช่นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามธรรมดาไม่ การมอบลูกกุญแจโรงอาหารให้โจทก์ก็เพื่อให้ความสะดวกในการเข้าไปใช้พื้นที่โรงอาหารในการประกอบการของโจทก์เท่านั้น โดยสถาบันอนุญาตโจทก์รวมทั้งผู้เช่าช่วงพื้นที่จำหน่ายอาหารจากโจทก์สามารถเข้าไปใช้โรงอาหารที่เช่าเพื่อประกอบการจำหน่ายอาหารโดยใช้ลูกกุญแจที่มอบไว้แก่โจทก์ เมื่อโรงอาหารที่เกิดเหตุยังในความครอบครองของสถาบันราชภัฎ น. การสั่งการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในการให้เข้าไปขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ในโรงอาหารที่เกิดเหตุ จึงไม่เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขอันจะเป็นความผิดฐานบุกรุก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2541 วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันก่อให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 กระทำความผิดโดยจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ออกไปจากโรงอาหารของสถาบันราชภัฎนครราชสีมา อันเป็นอสังริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ตามสัญญาเช่าและจำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 3 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 กับพวกกระทำการตามคำสั่งจำเลยที่ 2 หลังจากนั้นวันที่ 31 พฤษภาคม 2541 เวลากลางวัน จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 กับพวกร่วมกันเข้าไปโรงอาหารดังกล่าวและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ออกไปตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365, 83, 84
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 84 จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 9,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 1 ปี และปรับคนละ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังยุติได้ว่า โจทก์เป็นผู้เช่าโรงอาหารที่เกิดเหตุประกอบการจำหน่ายอาหารภายในสถาบันราชภัฎนครราชสีมา โดยโจทก์ยื่นแบบแจ้งความประสงค์ขอเข้าประกอบการจำหน่ายอาหารตามประกาศสถาบันราชภัฎนครราชสีมาและได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาร้านค้าจำหน่ายอาหารของสถาบันให้โจทก์เป็นผู้ประกอบการโดยทำสัญญาเช่ามีกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2540 ถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2542 ตามสัญญาเช่าสถานที่จำหน่ายอาหาร โจทก์ใช้พื้นที่ในโรงอาหารส่วนหนึ่งเป็นที่ขายเครื่องดื่มและไอศกรีมกับจัดให้บุคคลอื่นเช่าช่วงพื้นที่เป็นส่วนๆ เพื่อขายอาหารประเภทต่างๆ ในระหว่างที่อยู่ในกำหนดเวลาเช่าดังกล่าว จำเลยที่ 1 ในฐานะอธิการบดีสถาบันราชภัฎนครราชสีมาได้บอกเลิกสัญญาเช่าต่อโจทก์เนื่องจากโจทก์ผิดนัดชำระค่าเช่า และออกประกาศห้ามการจำหน่ายอาหารปิดไว้ที่ประตูทางเข้าโรงอาหารดังกล่าว แต่โจทก์ไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินออกจากโรงอาหารโดยอ้างว่าไม่ได้ผิดสัญญา ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2541 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดีขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ออกจากโรงอาหารไปเก็บรักษาไว้ที่อาคารอื่น จำเลยที่ 2 สั่งการต่อให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายอาคารสถานที่ดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 กับพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสถาบันไปขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2541 จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 กับพวกได้ร่วมกันเข้าไปในโรงอาหารที่เกิดเหตุและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ออกจากโรงอาหารไปเก็บไว้ที่อื่นตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานบุกรุกตามฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จากคำเบิกความของโจทก์และจำเลยที่ 1 ประกอบกับภาพถ่ายได้ความว่า โรงอาหารที่เกิดเหตุเป็นส่วนหนึ่งของอาคารของสถาบันราชภัฎนครราชสีมา โดยมีการปรับปรุงพื้นที่ชั้นล่างของอาคารเป็นห้องติดเครื่องปรับอากาศใช้เป็นสถานที่จำหน่ายอาหารให้แก่นักศึกษา อาจารย์และเจ้าหน้าที่ของสถาบัน ตามสัญญาเช่าสถานที่จำหน่ายอาหารที่โจทก์ทำกับสถาบันคงมีเพียงข้อสัญญาว่าสถาบันตกลงให้โจทก์เช่าโรงอาหารมีระยะเวลาตามที่กำหนด และกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่โจทก์ต้องปฏิบัติในการเข้าประกอบการไว้ ส่วนลักษณะสภาพการใช้โรงอาหารในการจำหน่ายอาหารของโจทก์นั้นไม่ปรากฏจากข้อสัญญาชัดแจ้งว่ามีการส่งมอบโรงอาหารที่เช่าให้โจทก์ครอบครองอย่างเป็นสิทธิครอบครองของโจทก์ทีเดียว หรือเป็นแต่เพียงให้โจทก์มีสิทธิเข้าใช้ประโยชน์โรงอาหารเพื่อจำหน่ายอาหารเท่านั้น จากประกาศสถาบันราชภัฎนครราชสีมาซึ่งเป็นที่มาของการเข้าทำสัญญาเช่าของโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ออกประกาศให้ผู้สนใจเข้าประกอบการจำหน่ายอาหารภายในโรงอาหารของสถาบันยื่นแบบแจ้งความประสงค์ต่อสถาบัน โดยมีการกำหนดเงื่อนไขการเข้าประกอบการไว้ในประกาศข้อ 4 และข้อ 5 ว่า การเข้าประกอบการจำหน่ายอาหารภายในโรงอาหารของสถาบันอยู่ในความควบคุมของงานกิจการนักศึกษา โดยเป็นไปเพื่อสวัสดิการนักศึกษา และผู้เข้าประกอบการต้องยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขของคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลกิจการโรงอาหารของสถาบัน โจทก์ได้ยื่นแบบความประสงค์เข้าประกอบการจำหน่ายอาหารต่อสถาบันตามประกาศดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้รับทราบข้อความและยินยอมตกลงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศนั้นด้วยการใช้โรงอาหารเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารของโจทก์ตามสัญญาเช่าจึงตกอยู่ในความควบคุมดูแลของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ของสถาบัน โรงอาหารที่โจทก์เช่าใช้พื้นที่ห้องชั้นล่างของอาคารในบริเวณสถาบันเป็นที่จำหน่ายอาหารจึงมีสภาพเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันอันเป็นสถานศึกษาของทางราชการที่เจ้าหน้าที่ของสถาบันอาจต้องเข้าไปตรวจตราในบางโอกาสเพื่อดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยและรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย ได้ความจากโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งเจ็ดว่า หลังจากทำสัญญา เจ้าหน้าที่มอบลูกกุญแจโรงอาหารให้โจทก์ 1 ชุด โดยทางสถาบันเก็บไว้ 1 ชุด แสดงว่าโจทก์ทราบและยอมรับในการที่ทางสถาบันยังรักษาสิทธิที่จะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปในโรงอาหารในเวลาหนึ่งเวลาใดได้อยู่เสมอ เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ที่ได้ความดังกล่าวประกอบกันเห็นได้ว่าโจทก์และสถาบันมีเจตนาทำสัญญาเช่าโดยมีวัตถุประสงค์เพียงแต่ให้โจทก์ได้เข้าใช้ประโยชน์โรงอาหารของสถาบันในการจำหน่ายอาหารในพื้นที่ที่จัดไว้ในเวลาเปิดบริการตามระเบียบของสถาบันเท่านั้น หาได้มอบการครอบครองโรงอาหารให้เป็นสิทธิขาดแก่โจทก์ดังเช่นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามธรรมดาไม่ การมอบลูกกุญแจโรงอาหารให้โจทก์ก็เพื่อความสะดวกในการเข้าไปใช้พื้นที่โรงอาหารในการประกอบการของโจทก์เท่านั้น โดยสถาบันอนุญาตโจทก์รวมทั้งผู้เช่าช่วงพื้นที่จำหน่ายอาหารจากโจทก์สามารถเข้าไปใช้โรงอาหารที่เช่าเพื่อประกอบการจำหน่ายอาหารโดยใช้ลูกกุญแจที่มอบให้ไว้แก่โจทก์เมื่อโรงอาหารที่เกิดเหตุยังอยู่ในความครอบครองของสถาบันราชภัฎนครราชสีมาการสั่งการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในการให้เข้าไปขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ในโรงอาหารที่เกิดเหตุ จึงไม่เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขอันจะเป็นความผิดฐานบุกรุกตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share