คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 โดยลูกจ้างของจำเลยที่ 1 คนหนึ่ง และลูกจ้างของจำเลยที่ 1 อีกหลายคน ซึ่งกระทำในทางการที่จ้างได้ร่วมกันเข้าไปในที่ดินของโจทก์ และร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขุดดินปักเสาไฟฟ้าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายกับรื้อถอนขนย้ายเสาไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้าออกไปจากที่ดินของโจทก์ ส่วนคดีนี้โจทก์ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์กับพวกมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน 16 แปลง จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันใช้อำนาจโดยมิชอบเข้าทำการรอนสิทธิในที่ดินของโจทก์กับพวกดังกล่าวด้วยการบุกรุกเข้าไปปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยอ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ แต่จำเลยกับพวกมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นต้นที่ มาตรา 28 (2) (ข) (ค) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดไว้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับค่าทดแทนเนื่องจากการรอนสิทธิ ขอให้จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันจ่ายค่ารอนสิทธิและขาดประโยชน์หรือรับซื้อที่ดินทั้งหมด หากไม่ยินยอมก็ขอให้จำเลยที่ 1 ย้ายแนวปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงออกจากที่ดินทั้งหมด แม้คดีนี้คำขอของโจทก์เป็นเรื่องเรียกค่ารอนสิทธิหรือบังคับให้จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินหรือย้ายแนวก่อสร้างปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงออกไปจากที่ดิน 16 แปลง ซึ่งแตกต่างจากคดีก่อนที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดที่ทำให้ที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 2301 ได้รับความเสียหายก็ตาม แต่คดีก่อนโจทก์ก็มีคำขอให้จำเลยที่ 1 ขนย้ายเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าออกไปจากที่ดินของโจทก์ด้วย เช่นกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นการกระทำเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนคดีของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ทั้งในคดีนี้และคดีก่อนเป็นเรื่องเดียวกันเมื่อปรากฏว่าขณะคดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณา โจทก์นำคดีนี้มายื่นฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกอีก ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ทำการย้ายแนวเขตการปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงออกจากที่ดินของโจทก์กับพวก หากจำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมย้ายให้จำเลยทั้งสี่สิบเอ็ดร่วมกันและแทนกันจ่ายค่ารอนสิทธิแก่โจทก์จำนวน 2,000,000,000 บาท ก่อนดำเนินการก่อสร้างต่อไป หรือให้จำเลยทั้งสี่สิบเอ็ดร่วมกันและแทนกันซื้อที่ดินของโจทก์กับพวกในราคา 2,000,000,000 บาท และร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น
ในชั้นพิจารณารับคำคู่ความ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องจำเลยที่ 39 ถึงที่ 41
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 37 และที่ 38 ให้การว่า มูลคดีที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องพวกจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 451/2542 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา จึงเป็นการฟ้องซ้อน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 36 ให้การและแก้ไขคำให้การทำนองเดียวกัน ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นเห็นสมควรวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 38 แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 37 และที่ 38 และยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ยกให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 37 และที่ 38 ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานหลักฐานเฉพาะของโจทก์และจำเลยดังกล่าวต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ระหว่างการพิจารณา จำเลยที่ 2 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอให้ศาลจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ ศาลชั้นต้นอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องลงวันที่ 15 มีนาคม 2547 ขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 37 และที่ 38
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ในประเด็นต่อมาว่า คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 451/2542 หมายเลขแดงที่ 203/2545 ของศาลชั้นต้น เป็นเรื่องละเมิด แต่คดีนี้เป็นเรื่องเรียกค่ารอนสิทธิหรือบังคับให้ซื้อที่ดินหรือให้ย้ายแนวก่อสร้างปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงออกไปจากที่ดินเพราะจำเลยได้กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายจึงมิใช่คดีเรียกค่าเสียหายเพราะการกระทำละเมิด แต่เป็นการเรียกค่าเสียโอกาสหรือค่าเสียประโยชน์จากการใช้ที่ดิน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ (ที่ถูกฟ้องซ้อน) นั้น เห็นว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 โดยนายสฤษด์ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 คนหนึ่งและลูกจ้างของจำเลยที่ 1 อีกหลายคน ซึ่งกระทำในทางการที่จ้างได้ร่วมกันเข้าไปในที่ดินของโจทก์ตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 2301 ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 7 ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา และร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขุดดินปักเสาไฟฟ้าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายกับรื้อถอนขนย้ายเสาไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้าออกไปจากที่ดินโจทก์ ส่วนคดีนี้โจทก์ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์กับพวกมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน 16 แปลง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 7 ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งมี น.ส. 3 ก. เลขที่ 2301 ของโจทก์รวมอยู่ด้วย จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันใช้อำนาจโดยมิชอบเข้าทำการรอนสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์กับพวกดังกล่าวด้วยการบุกรุกเข้าไปปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยอ้างอำนาจตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 แต่จำเลยกับพวกมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนที่ มาตรา 28 (2) (ข) (ค) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับค่าทดแทนเนื่องจากการรอนสิทธิ ขอให้จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันจ่ายค่ารอนสิทธิและค่าขาดประโยชน์หรือรับซื้อที่ดินทั้งหมดหากไม่ยินยอมก็ขอให้จำเลยที่ 1 ย้ายแนวปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงออกจากที่ดินทั้งหมดดังนี้ เห็นว่า แม้คดีนี้คำขอของโจทก์เป็นเรื่องเรียกค่ารอนสิทธิหรือบังคับให้จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินหรือย้ายแนวก่อสร้างปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงออกจากที่ดิน 16 แปลง ซึ่งแตกต่างจากคดีก่อนที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดที่ทำให้ที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 2301 ได้รับความเสียหายก็ตาม แต่คดีก่อนโจทก์ก็มีคำขอให้จำเลยที่ 1 ขนย้ายเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าออกไปจากที่ดินของโจทก์ด้วยเช่นกัน และในประการสำคัญคือ คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันใช้อำนาจโดยมิชอบเข้าทำการรอนสิทธิในที่ดินของโจทก์ด้วยการบุกรุกเข้าไปปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยอ้างอำนาจตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 แต่จำเลยกับพวกมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 28 (2) (ข) (ค) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเท่ากับโจทก์ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 กับพวกเข้าไปปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงในที่ดินของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั่นเอง ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันกับคดีก่อนที่โจทก์ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขุดดินปักเสาไฟฟ้าในที่ดินของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน แม้ที่ดินอีก 15 แปลง ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายในคดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องในคดีก่อนก็ตาม แต่ที่ดินเหล่านี้อยู่ในโครงการปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าเดิมจากระบบ 115 กิโลโวลต์ พังงา-ภูเก็ต 1 เป็นขนาด 230 กิโลโวลต์ พังงาจุดเชื่อมภูเก็ตในแนวเขตสายส่งไฟฟ้าเดิมของการลิกไนต์โครงการเดียวกันที่ผ่านที่ดิน น.ส. 3 ก เลขที่ 2301 ที่โจทก์ฟ้องคดีก่อน การปักเสาพาดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงตามที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำในคดีนี้จึงเป็นการกระทำเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีก่อน คดีของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ทั้งในคดีนี้และคดีก่อนเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อปรากฏว่าขณะคดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณา โจทก์นำคดีนี้มายื่นฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกอีก ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อนต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ดังที่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน…”
พิพากษายืน

Share