คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4535/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะฟ้องกล่าวอ้างเป็นทางภาระจำยอม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ ศาลก็มีอำนาจที่จะพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อถอนเสาคอนกรีตและรั้วออกจากทางพิพาทได้เพราะไม่ว่าเป็นทางภาระจำยอมหรือทางสาธารณะ การกระทำของจำเลยทั้งสามย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าทางพิพาทเป็นภาระจำยอมให้จำเลยทั้งสามเปิดทางภาระจำยอม กว้าง 5 เมตร ยาวประมาณ 30 เมตร หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมให้โจทก์เปิดทางเองโดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย กับให้จำเลยที่ 1 ไปขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 4527 ตำบลบางรัก อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ของโจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาท กว้าง 5 เมตร และยาว 30 เมตร ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 4527 เลขที่ดิน 9 ตำบลบางรัก อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนภาระจำยอมดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนสิ่งต่างๆ ที่ปิดกั้นทางพิพาทออกไป และจัดทำทางพิพาทให้อยู่ในสภาพที่ใช้ได้ตามปกติ กับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายแพเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 4527 ตำบลบางรัก อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เนื้อที่ 3 ไร่ 51.7 ตารางวา นายแพได้สร้างบ้านเลขที่ 132 อยู่อาศัยกับภริยาและบุตร ต่อมาบุตรของนายแพมีครอบครัวได้ก่อสร้างบ้านขึ้นอีก 4 หลัง ในบริเวณที่ดินดังกล่าว ด้านทิศตะวันออกของที่ดินที่นายแพติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 4411 ตำบลบางรัก อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ซึ่งจำเลยที่ 2 พี่สาวของจำเลยที่ 1 สร้างบ้านอยู่อาศัยดูแลแทนจำเลยที่ 1 โดยอยู่ร่วมกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นสามี บิดามารดาของโจทก์ โจทก์ และพี่น้องได้ใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะมาโดยตลอด ต่อมาวันที่ 13 มิถุนายน 2540 องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักได้ประกาศสอบราคาจ้างโครงการถมหินคลุก ถนนสายบ้านนายมิ่ง หมู่ที่ 1 ตำบลบางรัก อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง โดยทำการถมหินคลุกผิวจราจรกว้าง 5 เมตร ยาว 200 เมตร หนาเฉลี่ย 0.2 เมตร ต่อมาได้มีผู้รับจ้างดำเนินการถมหินคลุกดังกล่าวรวมทั้งส่วนที่เป็นทางพิพาทด้วย วันที่ 24 มิถุนายน 2544 จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันนำเอาป้าย ขอนไม้และท่อซีเมนต์ปิดกั้นทางดังกล่าวไม่ให้โจทก์และบริวารประมาณ 30 คน ใช้ออกสู่ทางสาธารณะ และวันที่ 27 มิถุนายน 2544 ได้ปักเสาซีเมนต์และทำรั้วลวดหนามปิดกั้น
มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 4527 เลขที่ดิน 9 ตำบลบางรัก อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง หรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสามยอมรับว่าบิดามารดาโจทก์ โจทก์ พี่น้องของโจทก์และบุคคลในครอบครัวซึ่งอยู่อาศัยในที่ดินแปลงดังกล่าวอาศัยทางพิพาทเดินออกสู่ทางสาธารณะมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยทั้งสามยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวแต่กล่าวอ้างว่าบิดามารดาของโจทก์ได้ขออนุญาตบิดามารดาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่จำเลยทั้งสามไม่มีพยานมาสนับสนุนคงมีแต่คำเบิกความของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลอยๆ เท่านั้น ทั้งขัดกับสารบัญจดทะเบียนว่า ก่อนหน้าที่จำเลยที่ 1 จะรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมานั้น ที่ดินดังกล่าวเป็นของนายฤกษ์ชัย มิใช่บิดามารดาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่อย่างใด บิดาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีอำนาจที่จะอนุญาตให้บิดามารดาของโจทก์ใช้ทางพิพาทได้ โจทก์มีนายมิ่ง ซึ่งมีบ้านอยู่ห่างจากบ้านของโจทก์ประมาณ 20 เมตร และนายชมผู้ใหญ่บ้านในท้องที่เกิดเหตุเบิกความยืนยันว่า บิดามารดาของโจทก์ โจทก์ และพี่น้องรวมทั้งบุคคลในครอบครัวของโจทก์อาศัยทางพิพาทเดินเข้าออกมาเป็นเวลานานโดยใช้มาตั้งแต่พยานโจทก์ทั้งสองปากยังเป็นเด็กอยู่ ซึ่งขณะมาเบิกความนายมิ่งมีอายุ 62 ปี ส่วนนายชมมีอายุ 47 ปี ทั้งได้ความจากบันทึกคำให้การของนายวิเชษฐ์ นายสายันต์ นางปรีดา นายชม นายช้อย และนายเมี่ยง ได้ให้การต่อนายประโยชน์ ปลัดอำเภอเมืองตรังว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ประชาชนใช้เป็นทางสาธารณะมาเป็นเวลานาน ดังนั้น การที่เจ้าของที่ดินเดิมปล่อยให้บิดามารดาของโจทก์ โจทก์และบุคคลในครอบครัวของโจทก์ตลอดจนบุคคลทั่วไปใช้ที่ดินพิพาทอย่างทางสาธารณะได้โดยมิได้โต้แย้งคัดค้าน รวมทั้งยินยอมให้องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักใช้งบประมาณปรับปรุงทางพิพาทให้เป็นถนนต่อเนื่องกับถนนสายบ้านนายมิ่ง โดยที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของก็มิได้โต้แย้งคัดค้าน ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่อ้างว่าขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักปรับปรุงทางสาธารณะดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อยู่บ้านนั้น ก็ขัดต่อเหตุผล ทั้งนี้เพราะการก่อสร้างถนนมิได้ทำเสร็จภายในระยะเวลาอันสั้น แม้จะเป็นจริงดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กล่าวอ้างก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับมาพบเห็นว่ามีการทำถนนบนทางพิพาทซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ควรที่จะไปโต้แย้งคัดค้าน แต่จำเลยทั้งสามก็หาได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ทางพิพาทดังกล่าวเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมและจำเลยที่ 1 ได้สละให้เป็นทางสาธารณะแล้ว จำเลยทั้งสามจึงไม่มีสิทธิที่จะปิดกั้นทางสาธารณะดังกล่าว แม้โจทก์จะฟ้องกล่าวอ้างว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ ศาลก็มีอำนาจที่จะพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อถอนเสาคอนกรีตและรั้วออกจากทางพิพาทได้เพราะไม่ว่าจะเป็นทางภาระจำยอมหรือทางสาธารณะ การกระทำของจำเลยทั้งสามย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เช่นเดียวกัน ซึ่งปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 ได้ความว่าทางพิพาทกว้าง 5 เมตร ยาว 30 เมตร ตรงตามคำฟ้องของโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงไม่มีสิทธิในทางพิพาทดังกล่าวอีกต่อไป ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อถอนเสาคอนกรีตและรั้วลวดหนามออกจากทางพิพาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,000 บาท

Share