คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2884/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมมอบฉันทะให้จำเลยไปถอนเงินของโจทก์ร่วมจำนวน 2,000,000 บาท จากธนาคารเพื่อนำมาประกันตัวโจทก์ร่วม กับพวก เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้โจทก์ร่วมออกไปถอนเงินด้วยตนเอง จำเลยถอนเงินแล้วนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากประจำของจำเลย แล้วนำสมุดเงินฝากไปประกันตัวโจทก์ร่วมกับพวก เมื่อเสร็จสิ้นการประกันตัวแล้ว ไม่ยอมคืนเงินให้โจทก์ร่วม โดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่โจทก์ร่วมชำระหนี้ให้จำเลย จึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน 2542 ถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2542 จำเลยได้รับมอบฉันทะจากนายสมพรผู้เสียหายให้ไปถอนเงินสดจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของผู้เสียหายที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาโชคชัย 4 จำนวน 2,000,000 บาท เพื่อใช้เป็นหลักประกันตัวผู้เสียหายกับพวกในคดีอาญาที่กองกำกับการ 1 กองปราบปราม จำเลยได้ถอนเงิน 2,000,000 บาท จากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของผู้เสียหายแล้วนำปเปิดบัญชีเงินฝากประจำในชื่อจำเลยที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาโชคชัย 4 จำนวน 4 บัญชี บัญชีละ 500,000 บาท แล้วนำไปใช้เป็นหลักประกันตัวผู้เสียหายกับพวกรวม 4 คน ครั้นเมื่อการประกันตัวสิ้นสุดลงจำเลยไม่ยอมส่งมอบเงิน 2,000,000 บาท คืนให้ผู้เสียหาย โดยจำเลยเบียดบังเอาเงิน 2,000,000 บาท ไว้เป็นประโยชน์ของจำเลยโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนเงิน 2,000,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสมพรผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 (ที่ถูก มาตรา 352 วรรคแรก) จำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 2,000,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังยุติว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมกับพวกรวม 4 คน ถูกนางอำนวยแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาปลอมเอกสารซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจได้ออกหมายเรียก ต่อมาวันเกิดเหตุโจทก์ร่วมกับพวกได้เข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจโดยในวันดังกล่าวโจทก์ร่วมได้มอบฉันทะให้จำเลยไปถอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของโจทก์ร่วมที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาโชคชัย 4 จำนวน 2,000,000 บาท จำเลยไปดำเนินการถอนเงินของโจทก์ร่วมดังกล่าวแล้วนำเงินจำนวน 2,000,000 บาท ที่เบิกถอนมาเปิดบัญชีเงินฝากประจำ 12 เดือน ในนามของจำเลยจำนวน 4 บัญชี บัญชีละ 500,000 บาท ในวันดังกล่าวทันทีที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาโชคชัย 4 เนื่องจากจะต้องใช้ประกันตัวโจทก์ร่วมกับพวก จากนั้นได้นำบัญชีเงินฝากประจำพร้อมกับหนังสือรับรองบัญชีเงินฝากของธนาคารไปยื่นขอประกันตัวโจทก์ร่วมกับพวกรวม 4 คน ในวันเดียวกัน ต่อมาเมื่อเสร็จสิ้นการประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวนแล้ว จำเลยไม่ยอมคืนเงินจำนวน 2,000,000 บาท ดังกล่าวให้โจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจขอให้ดำเนินคดีจำเลยข้อหายักยอกทรัพย์ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกเงินจำนวน 2,000,000 บาท ของโจทก์ร่วมหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่าโจทก์ร่วมได้มอบฉันทะให้จำเลยไปถอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของโจทก์ร่วมจำนวน 2,000,000 บาท เพื่อนำมาประกันตัวโจทก์ร่วมกับพวกรวม 4 คน เนื่องจากโจทก์ร่วมได้เข้ามอบตัวในวันเกิดเหตุ พนักงานสอบสวนแจ้งว่าจะต้องใช้เงินประกันตัวในวงเงินคนละ 500,000 บาท โจทก์ร่วมขออนุญาตพนักงานสอบสวนออกไปธนาคารเพื่อจัดการถอนเงินมาประกันตัว แต่พนักงานสอบสวนไม่อนุญาต จำเลยซึ่งไปด้วยในวันดังกล่าวรับอาสาจะเป็นผู้ไปดำเนินการให้ โจทก์ร่วมจึงมอบฉันทะให้จำเลยไปจัดการดังกล่าว ความข้อนี้นอกจากโจทก์และโจทก์ร่วมจะมีนางสาวทานตะวันภรรยาโจทก์ร่วมเป็นพยานแล้วยังมีพันตำรวจโทนิทัศน์เจ้าพนักงานตำรวจประจำกองปราบปราม เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อผู้ต้องหามอบตัวแล้ว พนักงานสอบสวนจะไม่อนุญาตให้ออกไปทำธุระข้างนอกเว้นแต่จะได้ทำสัญญาประกันตัวเสร็จเรียบร้อยแล้วข้ออ้างของโจทก์ร่วมจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าเหตุที่โจทก์ร่วมต้องมอบฉันทะให้จำเลยไปถอนเงินจากธนาคารเพราะโจทก์ร่วมไม่สามารถออกไปถอนเงินด้วยตนเองได้ ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า สาเหตุที่โจทก์ร่วมมอบฉันทะให้จำเลยไปเบิกเงินจากธนาคาร 2,000,000 บาท นั้น เนื่องจากโจทก์ร่วมมีอาชีพจัดหาคนงานไปทำงานต่างประเทศ โจทก์ร่วมได้ชวนจำเลยไปร่วมงานโดยให้จำเลยมีหน้าที่ไปหาคนงานที่ต่างจังหวัด จำเลยจะได้ค่าตอบแทนรายละ 12,000 บาท ต่อมาจำเลยติดต่อหาคนงานได้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2542 ประมาณ 280 คน โจทก์ร่วมไม่เคยจ่ายค่าตอบแทนให้จำเลยแม้แต่รายเดียว จำเลยได้พยายามทวงถามเงินค่าตอบแทนจากโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมอ้างว่ากำลังถูกดำเนินคดีข้อหาปลอมเอกสารจึงขอชำระเงินให้จำเลย 2,000,000 บาท ก่อน แต่จำเลยจะต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวประกันตัวโจทก์ร่วมกับพนักงานสอบสวน เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ววันที่ 23 มิถุนายน 2542 โจทก์ร่วมโทรศัพท์ไปบอกจำเลยให้ไปประกันตัวโจทก์ร่วมกับพวกในวันที่ 24 มิถุนายน 2542 เมื่อถึงกำหนดจำเลยได้ไปหาโจทก์ร่วมที่บริษัทโจทก์ร่วมจึงลงชื่อมอบฉันทะให้จำเลยไปเบิกเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาโชคชัย 4 จำนวน 2,000,000 บาท เมื่อจำเลยเบิกเงินจากธนาคารแล้วได้นำมาเปิดบัญชีในนามของจำเลยแยกเป็น 4 บัญชี เสร็จแล้วได้นำบัญชีพร้อมกับหนังสือรับรองบัญชีเงินฝากจากธนาคารไปให้โจทก์ร่วมดูที่บริษัท จากนั้นได้เดินทางไปกองปราบปรามด้วยกันและได้ประกันตัวโจทก์ร่วมกับพวกเสร็จเวลาประมาณ 18 นาฬิกา หลังจากนั้นได้แยกย้ายกันกลับบ้านและจำเลยไม่ได้พบโจทก์ร่วมในวันรุ่งขึ้นอีก คนงาน 280 คน ที่จำเลยหาได้นั้นได้พาไปส่งโจทก์ร่วมครบถ้วนแล้ว มีรายละเอียดปรากฏตามรายการเอกสารหมาย ล.5 ที่จำเลยจัดทำมาจากสมุดบัญชีรายรับรายจ่ายเอกสารหมาย ป.ล.1 นั้น เห็นว่า โจทก์ร่วมปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นหนี้จำเลย หากโจทก์ร่วมเป็นหนี้จำเลยจริงและสมัครใจชำระหนี้ให้จำเลยตามที่จำเลยต่อสู้ โจทก์ร่วมน่าจะต้องเดินทางไปถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วมที่ธนาคารด้วยตนเองไม่จำเป็นต้องมอบฉันทะให้จำเลยไป เพราะตามข้ออ้างของจำเลยปรากฏว่าขณะจำเลยไปถอนเงินของโจทก์ร่วมที่ธนาคารนั้นโจทก์ร่วมยังไม่ได้ไปมอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จึงไม่มีเหตุขัดข้องที่จะเดินทางไปถอนเงินจำนวนถึง 2,000,000 บาท ด้วยตนเอง ตามเอกสารหมาย ล.5 ที่จำเลยจัดทำมาจากสมุดบัญชีรายรับรายจ่ายเอกสารหมาย ป.ล.1 นั้น จำเลยอ้างว่าสามารถหาคนงานได้ 280 คน แต่ตามสมุดบัญชีรายรับรายจ่ายเอกสารหมาย ป.ล.1 เป็นเพียงสมุดบัญชีรายรับและรายจ่ายเท่านั้น ไม่ปรากฏรายละเอียดที่ใดเลยว่าจำเลยเป็นคนหาคนงานมาส่งให้โจทก์ร่วม รายจ่ายที่ระบุว่าเป็นค่ารถตู้นั้นน่าเชื่อว่าเป็นค่าจ้างรถตู้นำคนงานไปกรุงเทพมหานคร จำเลยอ้างว่า จำเลยจะได้ค่าตอบแทนในการหาคนงานรายละ 12,000 บาท และจะได้รับจากโจทก์ร่วมเมื่อคนงานได้รับหนังสือเดินทางแล้ว จำเลยก็ไม่นำสืบให้เห็นว่า คนงานที่จำเลยเป็นคนหามาส่งให้โจทก์ร่วมนั้นมีใครบ้างติดต่อหามาในวันใด และใครบ้างที่ได้รับหนังสือเดินทางแล้วตามสมุดบัญชีรายรับรายจ่ายเอกสารหมาย ป.ล.1 ระบุแต่เพียงว่าจ่ายเป็นค่ารถตู้ มีบางรายการ เช่นวันที่ 7 มิถุนายน 2542 วันที่ 16 กรกฎาคม 2542 วันที่ 23 กรกฎาคม 2542 และวันที่ 3 กันยายน 2542 ระบุว่าจ่ายค่ารถตู้พาคนงานมาตรวจโรค วันที่ 5 กรกฎาคม 2542 ค่ารถคนงานอุบล 4 คน (คนงานที่มาสอบเชื่อมวันที่ 5) ไม่ปรากฏว่าเป็นคนงานที่จำเลยหามาและคนงานเหล่านี้ได้รับหนังสือเดินทางแล้วอันจะทำให้จำเลยมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจากโจทก์ร่วม ตามพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบดังกล่าวยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่า โจทก์ร่วมเป็นหนี้ค่าตอบแทนที่จำเลยหาคนงานมาส่งให้โจทก์ร่วมจำนวน 280 คน ข้อต่อสู้ของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ กรณีจึงไม่มีเหตุที่โจทก์ร่วมจะต้องชำระหนี้จำนวน 2,000,000 บาท ให้จำเลย ข้อเท็จจริงเชื่อว่าโจทก์ร่วมมอบฉันทะให้จำเลยไปถอนเงินของโจทก์ร่วมจำนวน 2,000,000 บาท จากธนาคารเพื่อนำมาประกันตัวโจทก์ร่วมกับพวกรวม 4 คน เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจไม่อนุญาตให้โจทก์ร่วมออกไปถอนเงินด้วยตนเองจำเลยได้ถอนเงินจำนวนดังกล่าวจากธนาคารแล้วนำเงินดังกล่าวฝากเข้าบัญชีเงินฝากประจำในนามของจำเลยเองรวม 4 บัญชี บัญชีละ 500,000 บาท แล้วนำสมุดบัญชีเงินฝากพร้อมหนังสือรับรองบัญชีเงินฝากจากธนาคารไปประกันตัวโจทก์ร่วมกับพวก ต่อมาเมื่อเสร็จสิ้นการประกันตัวโจทก์ร่วมกับพวกในชั้นพนักงานสอบสวนแล้ว จำเลยไม่ยอมคืนเงินจำนวน 2,000,000 บาท ดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม โดยอ้างว่าเป็นเงินของจำเลยที่โจทก์ร่วมชำระหนี้ให้จำเลยแล้ว จึงเป็นการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นแล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริต การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก คดีไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไปว่า จำเลยได้ทำบันทึกการคืนเงินตามเอกสารหมาย ป.จ.2 ให้แก่โจทก์ร่วมหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share