แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์ร่วมเช่าที่ดินพิพาท โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย ไม่มีสิทธิเข้าเป็นโจทก์ร่วมและไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 362, 365
จำเลยให้การปฎิเสธ
ระหว่างพิจารณานางพิทยาพรผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกหรือไม่ โจทก์ร่วม เบิกความว่า โจทก์ร่วมเช่าที่ดินพิพาทด้วยปากเปล่าจากจำเลยและนายไพบูลย์เพื่อทำเป็นเต็นท์รถค่าเช่าเดือนละ 15,000 บาท ไม่มีกำหนดเวลาเช่า ชำระค่าเช่าเป็นเงินสด แต่ไม่ได้รับใบเสร็จรับเงิน หลังจากเช่าที่ดินพิพาทแล้วโจทก์ร่วมได้ลาดยาง ตั้งเต็นท์ สร้างอาคารสำนักงาน และนำรถยนต์มาจอดขายในเต็นท์ประมาณ 10 คัน เห็นว่า หนังสือสัญญาเช่าที่ดินระหว่างบริษัท พี.ที.อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด กับมูลนิธิโรจตระการข้อ 1 ระบุว่า บริษัท พี.ที.อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด เช่าที่ดินพิพาทเพื่อทำห้องแสดงสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้า และข้อ 8 ระบุว่า ห้ามมิให้บริษัท พี.ที.อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด นำที่ดินพิพาทไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง หรือโอนสิทธิการเช่าให้ผู้อื่นหรือให้ผู้หนึ่งผู้ใดอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการค้าขายหรือประกอบกิจการอื่นใดในที่ดินพิพาท เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากมูลนิธิโรจตระการ ดังนั้น หากโจทก์ร่วมเช่าที่ดินพิพาทจากบริษัท พี.ที.อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด เพื่อใช้เป็นสถานที่ขายรถยนต์ที่ใช้แล้ว เมื่อมีการนำที่ดินพิพาทไปใช้ประกอบกิจการขายรถยนต์ที่ใช้แล้วผิดไปจากที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวมูลนิธิโรจตระการ ผู้ให้เช่าย่อมรู้เห็นได้ และกรณีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการให้เช่าช่วงหรือให้ผู้อื่นดำเนินกิจการค้าขายหรือประกอบกิจการอื่นใดในที่ดินพิพาท อันเป็นการผิดสัญญาเช่าซึ่งตามสัญญาเช่าข้อ 14 ถือว่าสัญญาเช่าสิ้นสุดและผู้เช่าต้องขนย้ายทรัพย์สินพร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปภายใน 15 วัน หากไม่ขนย้ายต้องเสียค่าปรับวันละ 5,000 บาท จึงไม่มีเหตุผลใดที่บริษัท พี.ที.อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด จะให้โจทก์ร่วมเช่าช่วงที่ดินพิพาทโดยไม่ทำสัญญาเช่าและไม่ขออนุญาตจากมูลนิธิโรจตระการตามที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาเช่าที่ดินก่อน เพราะเป็นการเสี่ยงต่อการผิดสัญญาเช่าและต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่มูลนิธิโรจตระการ ประกอบกับภายในเต็นท์ที่ดินพิพาทมีเครื่องซักผ้าตั้งอยู่จำนวนหลายเครื่อง โดยได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจโทพงศกรพนักงานสอบสวนว่า ขณะไปดูที่ดินพิพาทภายในเต็นท์มีสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องซักผ้าหลายเครื่อง โจทก์ร่วมบอกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าดังกล่าวเป็นของบริษัท พี.ที.อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด ที่วางไว้นานแล้วเมื่อโจทก์ร่วมเช่าที่ดินพิพาทจากบริษัท พี.ที.อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด ดังที่โจทก์ร่วมกล่าวอ้างแล้ว ย่อมไม่มีเหตุผลที่โจทก์ร่วมจะยินยอมให้บริษัทดังกล่าวนำเครื่องใช้ไฟฟ้ามาวางไว้อีก ที่โจทก์ร่วมอ้างว่า เหตุที่ไม่แจ้งให้นำเครื่องใช้ไฟฟ้าออกไปเนื่องจากยังขายรถยนต์ได้ก็ไม่สมเหตุผล นอกจากนี้บริษัท พี.ที.อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด เช่าที่ดินพิพาทจากมูลนิธิโรจตระการ มีกำหนดเวลา ๓ ปี แต่โจทก์ร่วมเบิกความว่า เช่าที่ดินพิพาทโดยไม่มีกำหนดเวลาเช่าขัดแย้งกับระยะเวลาเช่าตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินส่อเป็นพิรุธ แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะมีนางเพ็ชรรัตน์เบิกความยืนยันว่า โจทก์ร่วมเช่าที่ดินพิพาทจากบริษัท พี.ที.อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด ก็ตาม แต่ขณะเกิดเหตุนางเพ็ชรรัตน์ทำหน้าที่เป็นผู้รับโทรศัพท์และรับแจ้งการซ่อมเครื่องซักผ้าของบริษัท พี.ที.อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด เท่านั้น ไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเก็บเงินค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าและค่าโทรศัพท์จากโจทก์ร่วม จึงมิใช่เป็นผู้รู้เห็นโดยตรงเกี่ยวกับการเช่าที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วม ทั้งได้ความจากคำเบิกความตอบคำถามค้านของนางเพ็ชรรัตน์ว่า เคยเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมมาก่อน นางเพ็ชรรัตน์ย่อมเบิกความช่วยเหลือโจทก์ร่วม คำเบิกความของนางเพ็ชรรัตน์ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีหลักฐานการชำระค่าเช่ามาแสดงต่อศาลและไม่ได้นำพนักงานบัญชีของบริษัท พี.ที.อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด ผู้เก็บเงินค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าและค่าโทรศัพท์จากโจทก์ร่วมมาเบิกความเป็นพยานทำให้ไม่น่าเชื่อว่าจะมีการชำระค่าเช่าที่ดินพิพาทและค่าสาธารณูปโภคกันดังที่โจทก์ร่วมเบิกความ และเมื่อพิจารณาภาพถ่ายที่ดินพิพาทหมาย จ.4 และ ล.8 แล้ว เห็นว่า ขณะเกิดเหตุภายในเต็นท์ดังกล่าวมีรถยนต์จอดเพียง 3 คัน ซึ่งจำเลยเบิกความปฏิเสธว่ารถยนต์ตามภายถ่ายหมาย ล.8 ยี่ห้อเปอร์โยต์เป็นรถยนต์ของโจทก์ร่วมซึ่งใช้การไม่ได้ยี่ห้อวอลโว่เป็นของจำเลย และรถยนต์กระบะเป็นของช่างที่มาทำรั้ว โดยโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้นำหลักฐานมาแสดงว่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นรถยนต์ของโจทก์ร่วมที่ซื้อมาเพื่อขาย และได้ความจากคำเบิกความของนายสมพงษ์พยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า ไม่พบป้ายโฆษณาซื้อขายรถและชื่อร้านในที่ดินพิพาท รถยนต์ที่จอดไว้ไม่ติดป้ายว่าขาย ที่ดินพิพาทจึงไม่มีลักษณะใช้เป็นเต็นท์ซื้อขายรถยนต์ที่ใช้แล้ว ส่วนที่นายพิพัฒน์สามีโจทก์ร่วม เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเต็นท์ขายรถมีรถยนต์จอดไว้เพื่อขาย 4 คันเป็นรถยนต์กระบะยี่ห้อดัทสัน 1 คัน รถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า 1 คัน รถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า รุ่นโคโรล่า 1 คัน และรถยนต์เก๋งยี่ห้อเปอร์โยต์ 1 คัน ก็ขัดแย้งกับภาพถ่ายหมาย จ.4 และ ล.8 และไม่ปรากฏว่า โจทก์ร่วมหรือนายพิพัฒน์ได้จดทะเบียนการค้าในการประกอบกิจการซื้อขายรถยนต์ที่ใช้แล้ว แม้ร้อยตำรวจโทพงศกรเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุเคยผ่านบริเวณที่ดินพิพาทมีลักษณะเป็นเต็นท์ขายรถ มีรถยนต์จอดอยู่ 2 ถึง 3 คัน ก็เป็นการเบิกความตามความเข้าใจของร้อยตำรวจโทพงศกรที่เห็นเต็นท์และรถยนต์เท่านั้น ร้อยตำรวจโทพงศกรยังเบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมว่า ขณะไปดูที่ดินพิพาทไม่แน่ใจว่ายังประกอบกิจการขายรถยนต์หรือไม่ แสดงว่าร้อยตำรวจโทพงศกรไม่รู้ว่าก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมใช้ที่ดินพิพาทประกอบกิจการซื้อขายรถยนต์ที่ใช้แล้วหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมขัดต่อเหตุผลและมีพิรุธ ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเช่าที่ดินพิพาทจากบริษัท พี.ที.อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย ไม่มีสิทธิเข้าเป็นโจทก์ร่วมและไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.