คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่มีข้อจำกัดสิทธิของผู้รับจำนองว่าจะต้องฟ้องร้องบังคับจำนองก่อนหรือจะต้องเป็นเจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษาจึงจะขอรับชำระหนี้ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองแล้วผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองย่อมยื่นคำร้องขอต่อศาลรับชำระหนี้จำนองตามมาตรา 289 ได้
การบอกกล่าวบังคับจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 ใช้สำหรับกรณีที่ผู้รับจำนองฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่ในกรณีการยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่ใช่การฟ้องคดีบังคับจำนองที่จะต้องยึดทรัพย์นั้นอีก ผู้ร้องอีกยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองได้โดยไม่จำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ก่อน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ยี่ห้อเกียร์ หมายเลขทะเบียน อห 3975 กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 400,000 บาท ให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 31,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 31,500 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 เมษายน 2548) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 3,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทนเสร็จ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 13 เดือน จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 187587 ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ของจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับคดีขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินกับผู้ร้องจำนวน 1,750,000 บาท ตกลงชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเดือนละไม่น้อยกว่า 23,000 บาท กำหนดชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 20 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้โดยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 187587 ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ไว้กับผู้ร้องในวงเงิน 1,750,000 บาท ตกลงเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับผู้ร้อง แต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวซึ่งจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองไว้กับผู้ร้องเพื่อบังคับชำระหนี้แก่โจทก์ในคดีนี้ จำเลยที่ 1 มียอดหนี้ค้างชำระอยู่กับผู้ร้องถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2549 รวมเป็นเงิน 3,025,811.18 บาท ขอให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้รายอื่นๆ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่คัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องแต่ศาลขอให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่นโดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนอง ถือว่าเป็นคำฟ้องบังคับจำนองซึ่งผู้ร้องต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรก่อน เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ได้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นโดยที่ผู้ร้องมิได้มีจดหมายบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 ก่อนเพื่อให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรนั้น จะเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลใดชอบที่จะบังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้หรือชอบที่จะได้เงินที่ขายหรือจำเลยทรัพย์สินเหล่านั้นได้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ก็ดี หรืออาศัยอำนาจแห่งบุริมสิทธิก็ดี บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้เอาเงินที่ได้มานั้นชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้อื่นๆ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในกรณีที่อาจบังคับเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองหลุด ผู้รับจำนองจะมีคำขอดังกล่าวข้างต้นให้เอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุดก็ได้…” เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีข้อจำกัดสิทธิของผู้รับจำนองว่าจะต้องฟ้องร้องบังคับจำนองก่อนหรือจะต้องเป็นเจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษาจึงจะขอรับชำรหนี้ได้ เมื่อผู้ร้องได้ยืนยันมาในคำร้องขอว่า จำเลยที่ 1 ได้ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่อผู้ร้องแล้วผู้ร้องย่อมอาศัยสิทธิแห่งอำนาจจำนองที่อาจบังคับได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลขอรับชำระหนี้จำนองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ได้ ทั้งผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอก่อนที่จะนำทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดอันเป็นการยื่นถูกต้องภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงชอบที่จะได้รับชำระหนี้ตามที่ร้องขอ แม้คำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ถือได้ว่าเป็นคำฟ้องบังคับจำนองแต่ก็มิใช่การฟ้องบังคับจำนองโดยตรงที่ผู้รับจำนองจะต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น เงื่อนไขที่จะต้องบอกกล่าวก่อนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 ใช้สำหรับกรณีที่ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่ในกรณีการยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 เป็นกรณีที่ทรัพย์สินที่จำนองได้ถูกยึดไว้แล้วโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้นำยึด ผู้รับจำนองอาศัยอำนาจแห่งการอำนาจมาขอรับชำระหนี้ในทรัพย์สินที่มีเจ้าหนี้อื่นนำยึดไว้แล้วจึงไม่ใช่การฟ้องคดีบังคับจำนองที่จะต้องยึดทรัพย์นั้นอีก ผู้ร้องจึงสามารถยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองโดยไม่จำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ก่อน ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอของผู้ร้องไว้พิจารณาและมีคำสั่งตามรูปคดีต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share