คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4091/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบองค์การค้าของคุรุสภาว่าด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2518 ข้อที่ 33 กำหนดว่า “เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาผู้ใดที่ถูกลงโทษเห็นว่าคำสั่งลงโทษนั้นไม่ยุติธรรมก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งลงโทษนั้นได้” เป็นการกำหนดให้สิทธิลูกจ้างที่ถูกลงโทษที่จะอุทธรณ์คำสั่งลงโทษนั้นหรือไม่ก็ได้ ส่วนที่ระเบียบข้อเดียวกันนั้นกำหนดว่า “คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาถือเป็นที่สุด” มีความหมายเพียงว่าผู้ที่ถูกลงโทษจะอุทธรณ์ต่อไปยังผู้ใดหรือกรรมการชุดใดของจำเลยที่ 1 อีกไม่ได้เท่านั้น ไม่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิผู้ที่ถูกลงโทษมิให้นำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงาน จำเลยทั้งสองยกเอาระเบียบที่ใช้ภายในองค์กรของจำเลยที่ 1 มาจำกัดสิทธิในการฟ้องคดีของโจทก์ไม่ได้เพราะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์เป็นผู้ที่ถูกลงโทษจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งองค์การค้าของคุรุสภาที่ 5/2545 – 46 ที่แต่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 96/2545 – 46 ที่เลิกจ้างโจทก์ อันเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคนละคำสั่งคนละขั้นตอนกัน ต่อมาศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีก่อน จึงไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นที่ฟ้องสำหรับคดีก่อน ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์เสียโอกาสไม่ได้รับค่าจ้างตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันครบเกษียณอายุเป็นเงิน 9,606,642 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 317,440 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 24,334 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 406,272 บาท ค่าเสียโอกาสที่จะได้รับเงินโบนัสเป็นเงิน 1,619,130 บาท และค่าเสียหายต่อชื่อเสียงเป็นเงิน 5,000,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 16,973,778 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนเงินค่าเสียโอกาสไม่ได้รับค่าจ้าง ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี นับแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนค่าเสียหายอื่นนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์แถลงไม่ติดใจเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและเงินโบนัส
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และค่าจ้าง รวมทั้งสวัสดิการต่างๆ ไม่น้อยกว่าเดิม โดยให้นับอายุงานต่อเนื่องจากอายุงานก่อนการเลิกจ้างและให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 31,740 บาท นับจากวันที่ 23 พฤศจิกายน 2545 จนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน สำหรับค่าเสียหายนับถึงวันฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดเสียดอกเบี้ยให้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 18 พฤศจิกายน 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อว่าคุรุสภาเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 จำเลยที่ 1 มีระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการบริหารองค์การค้าของคุรุสภา คุรุสภาเคยมอบอำนาจให้นายวิชัยผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา จำเลยที่ 1 มีระเบียบว่าด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา มีคำสั่งเรื่องระเบียบหลักเกณฑ์การสอบสวนทางวินัย โจทก์เข้าทำงานกับองค์การค้าของคุรุสภาตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2526 ครั้งสุดท้ายมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาระดับ 9 ได้รับเงินเดือนเดือนละ 31,740 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน นายวิชัยเคยมีบันทึกขอเชิญหารือกับผู้แทนของผู้จำหน่ายสินค้ายี่ห้อไนกี้ และมีบันทึกรายงานการประชุมไว้ โจทก์มอบให้ผู้ใต้บังคับบัญชายกร่างและโจทก์ตรวจแก้ตามร่างสัญญาซื้อขายสินค้ายี่ห้อไนกี้ สหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาได้ทำหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตการซื้อขายสินค้ายี่ห้อไนกี้และกรณีอื่น นายผดุง ทำหนังสือถึงประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภาเพื่อขอให้ตั้งกรรมการสอบสวนผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา นายเกษม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภามีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้มีคำสั่งให้นายวิชัยพ้นจากตำแหน่งเป็นการชั่วคราว มีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการดำเนินงานขององค์การค้าของคุรุสภา หลังจากนั้นมีการยกเลิกคำสั่งและมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานรวบรวมเอกสาร องค์การค้าของคุรุสภามีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์กับพวก ตามคำสั่งที่ 5/2545 – 46 และมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ ตามคำสั่งที่ 96/2545 – 46 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย และสอบถามผลอุทธรณ์ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภามีหนังสือตอบโจทก์ว่าส่งเรื่องให้องค์การค้าของคุรุสภาดำเนินการ โจทก์มีหนังสือขอทราบผลการพิจารณาอุทธรณ์ถึงผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา องค์การค้าของคุรุสภามีหนังสือตอบว่ามีหนังสือขอให้บริษัทไนกี้ประเทศไทย จำกัด ยืนยันเอกสารที่ผู้อุทธรณ์คนหนึ่งอ้างอิง แต่ไม่ได้รับคำตอบ หากโจทก์จะขอให้ไม่ต้องพิจารณาเอกสารดังกล่าวองค์การค้าของคุรุสภาก็จะเร่งสรุปผลอุทธรณ์ให้โจทก์ องค์การค้าของคุรุสภาแจ้งว่าโจทก์ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา เอกสารเกี่ยวกับการสอบสวนลงโทษทางวินัยโจทก์ ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ และสวัสดิการขององค์การค้าของคุรุสภา โจทก์กับพวกรวม 7 คน เป็นโจทก์ฟ้องคุรุสภาและนายจรูญ เป็นจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 5442/2545 ของศาลแรงงานกลาง ในระหว่างพิจารณาโจทก์ถอนฟ้อง ศาลอนุญาต …
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการแรกมีว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 96/2545 – 46 ที่ลงโทษเลิกจ้างโจทก์ต่อศาลแรงงานกลางหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ระเบียบองค์การค้าของคุรุสภาว่าด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2518 ข้อที่ 33 กำหนดไว้ว่า “เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาผู้ใดที่ถูกลงโทษเห็นว่าคำสั่งลงโทษนั้นไม่ยุติธรรมก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งลงโทษนั้นได้” และ “คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาถือเป็นที่สุด” เมื่อพิจารณาประกอบกับคำสั่งองค์การค้าของคุรุสภาที่ 88/2530 – 31 เรื่องระเบียบหลักเกณฑ์การสอบสวนทางวินัยขององค์การค้าของคุรุสภา แล้วจะเห็นได้ว่า เมื่อโจทก์เห็นว่าคำสั่งลงโทษโจทก์ไม่เป็นธรรม โจทก์ก็ต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาถือเป็นที่สุด โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษดังกล่าว เว้นแต่จำเลยทั้งสองลงโทษโดยไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ระเบียบองค์การค้าของคุรุสภาดังกล่าวเป็นการกำหนดให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่ถูกลงโทษที่จะอุทธรณ์คำสั่งลงโทษนั้นหรือไม่ก็ได้ โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้ หาได้ขัดกับระเบียบองค์การค้าของคุรุสภาว่าด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2518 ข้อที่ 33 ดังที่จำเลยทั้งสองอ้าง ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ด้วยว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาถือเป็นที่สุดโจทก์จึงต้องรอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ และหากโจทก์ยังถูกลงโทษทางวินัยโจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ได้นั้น เห็นว่า ระเบียบที่ว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาถือเป็นที่สุด เป็นระเบียบที่ใช้ภายในองค์กรของจำเลยที่ 1 จึงหมายความเพียงว่าผู้ที่ถูกลงโทษจะอุทธรณ์ต่อไปยังผู้ใดหรือกรรมการชุดใดของจำเลยที่ 1 อีกไม่ได้เท่านั้น ไม่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ที่ถูกลงโทษมิให้นำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงาน เพราะลูกจ้างที่ถูกลงโทษเป็นผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานได้เสมอ จำเลยทั้งสองยกเอาระเบียบที่ใช้ภายในองค์กรของจำเลยที่ 1 มาจำกัดสิทธิในการฟ้องคดีของโจทก์ไม่ได้เพราะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการต่อไปมีว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องของโจทก์ตามคดีหมายเลขดำที่ 5442/2545 หมายเลขแดงที่ 3025/2546 ของศาลแรงงานกลาง ซึ่งต้องห้ามรื้อร้องฟ้องกันอีกหรือไม่ และการที่โจทก์ถอนฟ้องคดีก่อนถือได้หรือไม่ว่าโจทก์ยอมรับว่าคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ถูกต้องและความจริงมิได้เป็นไปตามฟ้องในคดีก่อนนั้น เห็นว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งองค์การค้าของคุรุสภาที่ 5/2545 – 46 ซึ่งเป็นคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 96/2545 – 46 ซึ่งเป็นคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองรับโจทก์กลับเข้าทำงานและชำระค่าเสียหายให้โจทก์ เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคนละคำสั่งและคนละขั้นตอนกัน ทั้งโจทก์ถอนฟ้องไปแล้วจึงไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นที่ฟ้อง ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ซึ่งมิใช่ฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ไม่จำต้องวินิจฉัยไปถึงว่าการถอนฟ้องในคดีก่อนเป็นการยอมรับคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ในคดีก่อนว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะเป็นคนละขั้นตอนกับคดีนี้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษายืน.

Share