คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12208/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 264 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นเรื่องที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีต้องด้วยมาตรา 6 คือ ขัดต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่ศาลจะส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่คดีนี้จำเลยอ้างว่าศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดคำพิพากษาศาลฎีกาตลอดจนกระบวนพิจารณาของศาลฎีกาจึงขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ซึ่งการรับฟังพยานเป็นดุลพินิจของศาลหาใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 264 แต่อย่างใด นอกจากดุลพินิจในการฟังพยานของศาลจะไม่ใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายแล้ว การที่ศาลจะส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง นั้น จะกระทำได้ต่อเมื่อศาลจะใช้บทกฎหมายนั้นบังคับแก่คดีที่อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลนั้น หากคดีดังกล่าวได้เสร็จสิ้นถึงที่สุดไปแล้ว ศาลหรือบุคคลใดจะกล่าวอ้างว่ากฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจะส่งเรื่องหรือขอให้ศาลส่งเรื่องนั้นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหาได้ไม่ ดังถ้อยคำในมาตรา 264 วรรคหนึ่งที่ว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด… ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นไว้ชั่วคราว และในมาตรา 264 วรรคสาม ที่ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว” ดังนี้ เมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีนี้ และได้อ่านให้คู่ความฟังแล้วเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 จึงต้องถือว่าคดีระหว่างโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นถึงที่สุดไปแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับในคดีนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้อีกต่อไป กรณีของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 264

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษายืนให้จำเลยและบริวารออกจากที่ราชพัสดุของโจทก์ แปลงหมายเลยทะเบียน ศก. 907 พร้อมกับรื้อถอนอาคาร บ้านเรือนสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ พืชผลต่าง ๆ ออกไปจากที่ราชพัสดุของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่พิพาทดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้โจทก์จำเลยฟังโดยชอบแล้วเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542
จำเลยยื่นคำร้องว่า การพิจารณาคดีและคำพิพากษาของศาลฎีกาเป็นการฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 233 ต้องด้วยมาตรา 6 ขอให้ส่งความเห็นของจำเลยเพื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยและรอการบังคับคดีไว้ชั่วคราวตามมาตรา 264
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยโต้แย้งการฟังข้อเท็จจริงของศาลฎีกาว่า ไม่ถูกต้องและอ้างว่าศาลฎีกาดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ถูกต้อง ไม่ได้กล่าวอ้างว่ากฎหมายที่ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่จำเลยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาเท่านั้น ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264 ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า คำพิพากษาศาลฎีกาตลอดจนการดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาในคดีนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ขอให้ส่งความเห็นของผู้ร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามมาตรา 264 นั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย” ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องเป็นเรื่องที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีต้องด้วยมาตรา 6 กล่าวคือ ขัดต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น ที่ศาลจะส่งความเห็นดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ในคดีนี้จำเลยอ้างว่า ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด คำพิพากษาศาลฎีกาตลอดจนกระบวนพิจารณาของศาลฎีกาจึงขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ซึ่งการรับฟังพยานเป็นดุลพินิจของศาล หาใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 264 แต่อย่างใด นอกจากดุลพินิจในการฟังพยานของศาลจะไม่ใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายแล้ว การที่ศาลจะส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง นั้น ก็จะกระทำได้ต่อเมื่อศาลดังกล่าวจะใช้บทกฎหมายนั้นบังคับแก่คดีที่อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลนั้น หากคดีดังกล่าวได้เสร็จสิ้นถึงที่สุดไปแล้วศาลหรือบุคคลใดจะกล่าวอ้างว่ากฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจะส่งเรื่องหรือขอให้ศาลส่งเรื่องนั้นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหาได้ไม่ดังจะเห็นได้จากถ้อยคำในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ที่ว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด… ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นไว้ชั่วคราว…” และในมาตรา 264 วรรคสาม ที่ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว” ดังนี้ เมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีนี้เป็นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2429/2542 แล้วและได้อ่านให้คู่ความฟังแล้วเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 จึงต้องถือว่าคดีระหว่างโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นถึงที่สุดไปแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับในคดีนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้อีกต่อไป กรณีของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 264 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share