แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายโดยการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานได้วินิจฉัยมาตามมาตรา 56 วรรคสอง เป็นการบัญญัติเกี่ยวกับการอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ผู้พิพากษาผู้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้มาใช้บังคับ แม้ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ จะบัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับด้วย ก็ต้องเป็นกรณีที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ ด้วย เมื่อคดีแรงงานให้อุทธรณ์ได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายจึงไม่อาจมีการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ทั้งการที่ผู้พิพากษาผู้นั่งพิจารณาคดีจะรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว และอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(คำสั่งคำร้อง)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 3,264 บาท และค่าชดเชย 57,600 บาท แก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในศาลแรงงานกลางรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์และมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในศาลแรงงานกลางรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในอุทธรณ์ว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 จึงไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ และมีคำสั่งในคำร้องว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสอง ระบุว่าในการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาให้ถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมา จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ระบุให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้มาใช้บังคับหาได้ไม่ ไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
โจทก์เห็นว่า การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในศาลแรงงานกลางรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ที่ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ คำร้องของโจทก์จึงไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์แม้จะเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งควรได้รับการพิจารณาจากศาลฎีกาขอให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย โดยการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานได้วินิจฉัยมาตามมาตรา 56 วรรคสอง เป็นการบัญญัติเกี่ยวกับการอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะแล้ว กรณีจึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ผู้พิพากษาผู้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้มาใช้บังคับ แม้ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 จะบัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับด้วย ก็ต้องเป็นกรณีที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ด้วย เมื่อคดีแรงงานให้อุทธรณ์ได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายเช่นนี้แล้ว ย่อมไม่อาจมีการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังที่โจทก์ร้องขอได้ ทั้งการที่ผู้พิพากษาผู้นั่งพิจารณาคดีจะรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว และอุทธรณ์ของโจทก์ก็ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่ศาลแรงงานกลางยกคำร้องขอให้รับรองอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์นั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”