แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ฎีกาของจำเลยที่ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดฐานรับของโจรซึ่งขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยและไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15
การที่ศาลล่างใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยโดยไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 75 ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้องนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 357
จำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 17 ปี โดยจำเลยยืมรถจักรยานยนต์ของกลางจากเพื่อนบ้านขับไปซื้อของในตลาดและถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในความผิดฐานอื่น โดยจำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักมา และจำเลยให้การรับสารภาพเพราะเจ้าพนักงานตำรวจแนะนำว่าจะถูกลงโทษปรับเท่านั้น ซึ่งเท่ากับปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา ซึ่งขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยและไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า ปรากฏตามสำเนาสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารแนบท้ายฎีกาของจำเลย ซึ่งโจทก์รับสำเนาแล้วมิได้กล่าวแก้เป็นอย่างอื่นระบุว่า จำเลยเกิดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2525 ขณะกระทำความผิด จำเลยจึงมีอายุเพียง 16 ปีเศษ ยังเป็นเยาวชนอ่อนด้อยประสบการณ์และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี จึงขาดความยั้งคิดหลงกระทำความผิดได้โดยง่าย ประกอบกับผู้เสียหายได้รับรถจักรยานยนต์ของกลางคืนแล้ว อันเป็นการบรรเทาผลร้ายบางส่วน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงเห็นควรปรานีให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีสักครั้ง โดยรอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้เพื่อจำเลยจะได้ประกอบสัมมาชีพหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ต่อไปซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่จำเลยและสังคมโดยส่วนรวมมากกว่า ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เพื่อให้จำเลยเข็ดหลาบและป้องปรามมิให้จำเลยหวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก เห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง และคุมความประพฤติจำเลยด้วย นอกจากนี้ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยโดยไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 นั้นเป็นการไม่ถูกต้อง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ให้เหมาะสม ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 9 เดือน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้งตามเงื่อนไข และกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำผิดทำนองนี้อีก กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7